backup og meta

เท้าเป็นรู อันตรายหรือไม่ รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    เท้าเป็นรู อันตรายหรือไม่ รักษาได้อย่างไร

    เท้าเป็นรู เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเท้า รวมทั้งเท้าอาจมีกลิ่นและมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ส่วนวิธีป้องกันเท้าเป็นรู ควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าเป็นเวลานาน หรือเลือกสวมรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดีอย่างรองเท้าแตะ แทนการใส่รองเท้าบู๊ทหรือรองเท้าหนัง

    เท้าเป็นรู เกิดจากอะไร

    รูเล็ก ๆ บนฝ่าเท้าหรือส้นเท้า ขนาดประมาณ 1-3 มิลลิเมตร มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น แอคติโนมัยซีส (Actinomyces) โครีนีแบคทีเรีย (Corynebacteria) หรือไคโตคอคคัส ซีเด็นทาเรียส (Kytococcus Sedentarius) ซึ่งเติบโตได้ดีในบริเวณที่ร้อนหรือชื้น เมื่อติดเชื้อ แบคทีเรียจะทำลายชั้นผิวหนังจนทำให้เท้าเป็นรู ร่วมกับมีอาการเท้ามีกลิ่นและอาการคันหรือเจ็บขณะเดิน

    ใครบ้างที่เสี่ยงเท้าเป็นรู

    ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคเท้าเหม็นเป็นรูได้ แต่โดยมากมักพบในผู้ชาย โดยเฉพาะนักกีฬา ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร หรือทหาร

    สำหรับปัจจัยเสี่ยงของโรคเท้าเหม็นเป็นรูนั้น ได้แก่

    • การสวมถุงเท้าหรือรองเท้าที่แน่นเกินไป หรือมีอากาศผ่านได้น้อย
    • การมีเหงื่อออกมากบริเวณเท้า
    • การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่นหรือร้อนชื้น เช่น ประเทศไทย ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
    • การทำงานกลางแจ้งที่ต้องยืนตลอดทั้งวัน
    • โรคเบาหวาน
    • การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือเป็นโรคอ้วน
    • การไม่ดูแลรักษาความสะอาดเท้า หรือปล่อยให้เท้าเปียกหลังจากอาบน้ำ

    เท้าเป็นรู เป็นโรคติดต่อหรือไม่

    โรคเท้าเหม็นเป็นรูไม่ใช่โรคติดต่อ โดยโรคนี้ไม่แพร่กระจายจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกคน

    นอกจากนั้น แม้โรคนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต แต่โรคนี้ไม่สามารถหายเองหรือหายได้ด้วยการดูแลตัวเองเพียงอย่างเดียว   เมื่อมีอาการ ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการรักษา

    เท้าเป็นรู รักษาอย่างไร

    ปกติแล้ว คุณหมอจะรักษาโรคเท้าเหม็นเป็นรู ด้วยการจ่ายยาฆ่าเชื้อเพื่อกำจัดแบคทีเรียซึ่งเป็นต้นเหตุของโรค

    สำหรับยาฆ่าเชื้อที่คุณหมอมักจ่ายให้คนไข้ ได้แก่

    • คลินดามัยซิน (Clindamycin)
    • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
    • กรดฟูซิดิก (Fusidic Acid)
    • มูพิโรซิน (Mupirocin)
    • เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)

    โดยทั่วไป การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อจะเห็นผลภายใน 2-3 วัน และหลังจากใช้ยา อาจมีผลข้างเคียงอย่างท้องร่วงหรืออาการแพ้ได้

    นอกจากนี้ หากมีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ คุณหมอจะจ่ายยาระงับเหงื่อ อย่างดรายซอล (Drysol) หรือไอออนโตโฟรีซีส (Iontophoresis) ให้ใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อด้วย

    เท้าเป็นรู ป้องกันได้อย่างไร

    โรคเท้าเหม็นเป็นรูป้องกันได้ หากปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ไม่สวมรองเท้าเป็นเวลานาน
  • ไม่สวมรองเท้าคู่เดิมติดต่อกันเกินสองวัน
  • สวมรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี อย่างรองเท้าแตะมากกว่ารองเท้าที่ปิดมิดชิดและไม่สามารถระบายอากาศได้
  • สวมใส่ถุงเท้าที่ผลิตจากวัสดุที่มีคุณสมบัติช่วยดูดซับความชื้น อย่างโพลีเอสเตอร์ (Polyester) หรือไนลอน
  • เปลี่ยนถุงเท้าระหว่างวัน โดยเฉพาะเมื่อมีเหงื่อออกมาก
  • เช็ดเท้าให้แห้งสนิททุกครั้งหลังอาบน้ำ
  • ไม่ใช้ถุงเท้า รองเท้า หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา