แผลพุพอง เป็นโรคติดเชื้อบนผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียก่อโรค พบได้บ่อยในเด็กเล็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ป่วยจะมีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำที่ผิวหนัง ที่เมื่อผ่านไปประมาณ 3-5 วัน ตุ่มจะแตกออกกลายเป็นสะเก็ดแผลสีเหลือง มักเริ่มจากผิวหนังบริเวณรอบปากและจมูก แล้วจึงแพร่กระจายไปบริเวณอื่น ๆ เช่น คอ แขน ขา เอว แผลพุพองอาจทำให้คัน ระคายเคือง และอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมได้ โดยทั่วไปสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการที่เป็นสัญญาณของแผลพุพอง ควรไปพบคุณหมอผิวหนังเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
แผลพุพอง คืออะไร
แผลพุพอง หรือโรคแผลพุพอง (Impetigo/Ecthyma) เป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังที่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคนี้ทำให้ผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และเป็นรอยแดงบริเวณใบหน้า ลำคอ แขน ขา เป็นต้น ประเภทของแผลพุพองสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามลักษณะของอาการ ได้แก่แบบมีตุ่มน้ำ แบบไม่มีตุ่มน้ำ และแบบตุ่มหนอง ผู้ป่วยมักแสดงอาการภายในวันที่ 4-10 วันหลังสัมผัสเชื้อ โดยทั่วไป โรคแผลพุพองสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะหรือทายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และระหว่างรักษาแผลพุพองไม่ควรแกะเกาหรือสัมผัสแผลเพราะอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้
อาการเมื่อมี แผลพุพอง
อาการที่พบอาจแบ่งออกได้ดังนี้
- โรคแผลพุพองแบบมีตุ่มน้ำ (Bullous impetigo) อาการจะเริ่มจากเกิดรอยตุ่มน้ำพุพองขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตรที่บริเวณคอ เอว แขน และขา ตุ่มน้ำอาจลุกลามอย่างรวดเร็ว เมื่อผ่านไปประมาณ 3-5 วัน ตุ่มน้ำจะแตกออกกลายเป็นสะเก็ดสีเหลือง แผลพุพองชนิดนี้มักทำให้รู้สึกเจ็บและคันบริเวณแผล อาจมีไข้และมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย โดยทั่วไปไม่ทำให้เกิดแผลเป็น และอาจรักษาให้หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
- โรคแผลพุพองแบบไม่มีตุ่มน้ำ (Non-bullous impetigo) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด อาการของแผลพุพองแบบไม่มีตุ่มน้ำจะเริ่มจากมีตุ่มหรือผื่นแดงขนาดประมาณ 2 เซนติเมตรขึ้นที่ใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณรอบจมูกและปาก รวมถึงตามแขนและขาด้วย จากนั้นตุ่มจะแตกออกกลายเป็นสะเก็ดสีเหลือง มักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บแต่อาจทำให้รู้สึกคันได้ เมื่อสะเก็ดแผลแห้งจะกลายเป็นรอยแดงที่มักจางลงและอาจหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้
- โรคแผลพุพองแบบเป็นตุ่มหนอง (Ecthyma) เป็นการติดเชื้อในผิวหนังชั้นหนังแท้ ถือเป็นแผลพุพองที่รุนแรงกว่าชนิดอื่น มักเกิดจากไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้อจึงลุกลาม ผู้ป่วยจะมีตุ่มหนอง เป็นแผลลึกบนผิวหนังที่อักเสบ เช่น บริเวณแก้มก้น ต้นขา ขา ข้อเท้า เท้า เมื่อแผลแตกออกจะเป็นสะเก็ดหนาสีเหลืองขนาดประมาณ 0.5-3 เซนติเมตร แผลอาจหายช้าและทิ้งรอยแผลเป็นไว้บนผิวหนังได้
แผลพุพอง เกิดจากอะไร
แผลพุพองมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียก่อโรคที่อาศัยอยู่ทั่วไปบนบริเวณผิวหนังและในโพรงจมูก มักติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงและการสัมผัสกับสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน ของเล่น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคแผลพุพอง อาจมีดังนี้
- อายุ แผลพุพองพบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุ 2-5 ปี และผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย
- การสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคแผลพุพอง เช่น คนในครอบครัว เพื่อนที่โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็ก เพื่อนที่เล่นกีฬาซึ่งต้องสัมผัสผิวหนังกัน มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคแผลพุพองได้โดยตรง
- สุขอนามัย การรักษาสุขอนามัยได้ไม่ดีและการอาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดแผลพุพองได้
- สภาพอากาศ เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคแผลพุพองสามารถแพร่ได้ง่ายในสภาพอากาศอบอุ่นและชื้น
- การมีแผลอื่น ๆ หรือมีผิวแห้งแตก เชื้อแบคทีเรียมักเข้าสู่ชั้นผิวหนังผ่านผื่น รอยแตกบนผิวที่เกิดจากผิวแห้งเกินไป แผลต่าง ๆ เช่น แผลแมลงกัดต่อย แผลจากของมีคม แผลไฟไหม้ รอยถลอก
- ภาวะทางสุขภาพอื่น ๆ เด็กที่มีโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) โรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) โรคอีสุกอีใส โรคหิด อาจเป็นแผลพุพองได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน หรือมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ผู้ที่กำลังใช้คีโมรักษาโรคมะเร็ง ก็อาจเสี่ยงเกิดแผลพุพองได้เช่นกัน
วิธีรักษาแผลพุพอง
แผลพุพองส่วนใหญ่สามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องรักษา อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเด็กเป็นแผลพุพองควรพาไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะอาจช่วยลดระยะเวลาการติดเชื้อให้เหลือประมาณ 7-10 วัน และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ ทั้งนี้ หากการติดเชื้อแผลพุพองเกิดจากปัญหาสุขภาพผิวอื่น ๆ เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคอีสุกอีใส อาจต้องรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อให้หายด้วย เพื่อป้องกันการเกิดแผลพุพองซ้ำ
การรักษาโรคแผลพุพองโดยทั่วไป อาจทำได้ด้วยการใช้ยาดังต่อไปนี้
- ยาปฏิชีวนะชนิดครีม เช่น กรดฟิวซิดิกชนิดใช้กับผิวหนัง (Topical fusidic acid) ยามิวพิโรซิน (Mupirocin) เหมาะกับแผลพุพองที่ไม่รุนแรง ใช้ทาประมาณ 3-4 ครั้ง/วันติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนทาครีมควรทำความสะอาดบริเวณแผลและสะเก็ดแผลที่ติดเชื้อด้วยน้ำสบู่อุ่น ๆ จากนั้นซับเบา ๆ ให้แผลแห้ง และควรล้างมือให้สะอาดทันทีหลังสัมผัสแผล เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อไปยังบริเวณผิวหนังอื่น หากทายาแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาคุณหมอผิวหนังหรือเภสัชกรเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาอื่น ๆ
- ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) อย่างยาไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) ยาฟลูคลอกซาซิลลิน (Flucloxacillin) มักใช้เมื่อแผลพุพองรุนแรงและแพร่กระจายไปหลายที่ หรือเมื่อใช้ยาปฏิชีวนะชนิดครีมแล้วอาการไม่ดีขึ้น โดยทั่วไป ควรรับประทานยาประมาณ 2-4 ครั้ง/วันติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนหมด แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเชื้อดื้อยา หากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาคุณหมอผิวหนังหรือเภสัชกรเพิ่มเติม