backup og meta

โบท็อก คืออะไร ประโยชน์ ความเสี่ยง และผลข้างเคียงที่ควรรู้

โบท็อก คืออะไร ประโยชน์ ความเสี่ยง และผลข้างเคียงที่ควรรู้

โบท็อก (Botox) คือโปรตีนที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทที่สกัดมาจากแบคทีเรีย มีคุณสมบัติยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อ จึงนิยมนำมาฉีดเพื่อคลายกล้ามเนื้อและลบเลือนริ้วรอยจากการแสดงอารมณ์บนใบหน้า และยังสามารถนำมาบรรเทาอาการของโรคบางอย่างได้ด้วย เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคตาขี้เกียจ ปัญหากระเพาะปัสสาวะ อาการไมเกรน ภาวะสมองพิการที่ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง การฉีดโบท็อกอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ จึงควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับการฉีดโบท็อก

[embed-health-tool-ovulation]

โบท็อก คืออะไร

โบท็อก หรือ โบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นพิษต่อระบบประสาท สกัดจากแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินั่ม (Clostridium botulinum) ที่ออกฤทธิ์จับตัวกับปลายเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อและทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นคลายตัว ซึ่งจะส่งผลให้ใบหน้าดูเต่งตึงและมีริ้วรอยน้อยลง และอาจช่วยลดขนาดกรามได้ จึงเป็นที่นิยมของผู้ที่สนใจลบเลือนริ้วรอยบนใบหน้าและต้องการให้หน้าดูเรียวมากขึ้น โดยโบท็อกจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-3 วันหลังฉีด แต่ก็อาจใช้เวลา 2-3 สัปดาห์จึงจะรู้สึกผลลัพธ์ที่ได้อย่างชัดเจน

ข้อแนะนำสำหรับผู้ฉีดโบท็อก

ผู้ที่ตัดสินใจทำโบท็อกควรศึกษาถึงข้อดี ข้อเสีย ผลข้างเคียง ความน่าเชื่อของสถานบริการอย่างละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเดินทางไปฉีด นอกจากนี้ควรปรึกษาคุณหมอก่อนฉีดและรับการรักษาจากคุณหมอผิวหนังที่เชี่ยวชาญเท่านั้น รวมไปถึงตรวจสอบเลข Lot. ของโบท็อกที่ใช้ฉีดกับทางสถานบริการว่าเป็นของแท้หรือไม่ก่อนฉีด และอาจถ่ายรูปกล่อง/ขวดหรือนำกลับด้วย 

การรักษาภาวะสุขภาพด้วยโบท็อก

นอกจากการนำมาใช้ในวงการเสริมความงามแล้ว โบท็อกยังนำมาใช้บรรเทาอาการของภาวะสุขภาพต่อไปนี้ได้ชั่วคราว

  • คอบิดเกร็ง เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อคอหดตัวอย่างควบคุมไม่ได้ ทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้ตามปกติ ทั้งยังทำให้ศีรษะบิดเอียงไปด้านข้าง ข้างหน้า หรือแหงนไปด้านหลัง บางครั้งอาจมีอาการสั่นกระตุกร่วมด้วย โบท็อกจะช่วยให้กล้ามเนื้อที่หดเกร็งคลายตัวลงและช่วยบรรเทาอาการปวดได้
  • การหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ภาวะสมองพิการและภาวะผิดปกติของระบบประสาทอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหวและท่าทางในเด็ก ทำให้กล้ามเนื้อกระตุกเกร็ง แขนบิดเข้าหาลำตัว และอาจทำให้ตากระตุุกด้วย คุณหมออาจใช้โบท็อกเพื่อคลายกล้ามเนื้อควบคู่ไปกับการทำออกกำลังกายในท่าที่เหมาะสมกับอาการของเด็ก
  • โรคสายตาขี้เกียจ (Lazy eye) เกิดจากความสมดุลของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่กลอกตา ทำให้ตาทั้งสองข้างทำงานไม่ประสานกัน ตาเหล่ มองเห็นไม่ชัดเจน โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับดวงตาเพียงข้างเดียว และมักรักษาให้หายได้สนิทได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ในเด็กที่อายุไม่เกิน 7 ปี โดยโบท็อกจะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาหยุดทำงานชั่วขณะเพื่อให้สายตาทำงานประสานกันมากขึ้น
  • ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ เป็นภาวะที่มีเหงื่อออกมากกว่าปกติ แม้ว่าจะไม่ได้ทำกิจกรรมทางกายหรืออยู่ในพื้นที่อากาศร้อน เนื่องจากความผิดปกติของระบบประสาท โดยโบท็อกจะยับยั้งการส่งสัญญาณประสาทที่สั่งให้ต่อมเหงื่อทำงาน
  • ปวดศีรษะไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ทำให้ปวดขมับตุบ ๆ ด้านใดด้านหนึ่งหรืออาจปวดข้างหนึ่งแล้วลามไปอีกข้าง ซึ่งอาการจะมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง โบท็อกเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาไมเกรนเรื้อรังและอาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการได้หลายสัปดาห์
  • ปัญหากระเพาะปัสสาวะ การฉีดโบท็อกอาจช่วยบรรเทาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่เกิดจากภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (OAB) โดยจะใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นใช้ไม่ได้ โดยทั่วไปผลลัพธ์จะคงอยู่ประมาณ 6-8 เดือน ผลข้างเคียงคืออาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

ความเสี่ยงของการฉีดโบท็อก

โดยทั่วไปการฉีดโบท็อกมีความเสี่ยงน้อยเมื่อฉีดด้วยโบท็อกที่ได้มาตรฐานโดยคุณหมอผิวหนังที่เชี่ยวชาญ โดยผลข้างเคียงที่อาจพบได้หลังฉีด อาจมีดังนี้

  • ปวดศีรษะและมีอาการคล้ายไข้หวัดภายใน 24 ชั่วโมงหลังฉีด
  • อาการบวมแดง หรือปวดบริเวณที่ฉีดโบท็อก
  • หนังตาตก คิ้วโก่งเกินไป
  • ตาแห้ง มีน้ำตาไหล ระคายเคืองตา
  • ติดเชื้อบริเวณที่ฉีดโบท็อก
  • ไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อได้มากเท่าปกติ

ในกรณีที่พบได้ไม่บ่อย การฉีดโบท็อกอาจทำให้เกิดอาการต่อไปนี้

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปัญหาด้านการมองเห็น
  • พูดไม่ชัด มีปัญหาด้านการกลืน
  • ปัญหาด้านการหายใจ
  • อาการแพ้ เช่น คันหรือบวมที่ใบหน้า ลิ้น ลำคอ ผื่นขึ้น วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง หายใจลำบาก
  • ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะไม่ได้

ใครควรหลีกเลี่ยงการฉีดโบท็อก

คนในกลุ่มต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยงการฉีดโบท็อก

  • มีการติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร เพราะยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอว่าสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อเด็กและทารกในครรภ์
  • มีความผิดปกติทางกล้ามเนื้อและระบบประสาท เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside) ยาที่ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์อย่างกาแลนตามีน (Galantamine) ไรวาสติกมีน (Rivastigmine) ยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างแอมบีโนเนียม (Ambenonium) ไพริโดสติกมีน (Pyridostigmine) ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างวาร์ฟาริน (Warfarin) ควินิดีน (Quinidine)

ข้อปฏิบัติหลังการฉีดโบท็อก

วิธีดูแลตัวเองหลังฉีดโบท็อก อาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการบีบนวดหรือถูใบหน้าอย่างน้อย 3 วัน
  • หลีกเลี่ยงการนอนราบเป็นเวลา 2-4 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เลือดไหลเวียนไปสะสมที่ใบหน้า
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าหรือทำให้หน้าระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากหรือทำให้หน้าร้อนหรือแดง เช่น เข้าซาวน่า เข้ายิม ออกไปข้างนอกในช่วงแดดจัด การดื่มแอลกอฮอล์ การทำเลเซอร์ที่หน้า อย่างน้อย 2 วัน
  • หากมีอาการบวมช้ำให้ประคบด้วยผ้าชุบน้ำแข็ง หลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำแข็งสัมผัสผิวหนังโดยตรง ภายใน 24 ชั่วโมงหลังฉีด
  • โบท็อกจะอยู่ได้นานประมาณ 3-4 เดือน หากต้องการฉีดซ้ำควรรออย่างน้อย 3 เดือนเพื่อให้โบท็อกทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

แหล่งที่มา

Botox Vial – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-153465/botox-injection/details. Accessed June 30, 2023

Botox Injections. https://www.emedicinehealth.com/botox_injections/article_em.htm. Accessed June 30, 2023

Botox (Botulinum Toxin). https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/8312-botulinum-toxin-injections. Accessed June 30, 2023

Botox. https://medlineplus.gov/botox.html. Accessed June 30, 2023

Botox injections. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/botox/about/pac-20384658. Accessed June 30, 2023

เพิ่มเติม

https://tabl.club/botox/are-there-any-side-effects-from-getting-botox-treatments/#:~:text=Drug%20Interactions,drugs%20used%20to%20treat%20Alzheimer’s

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/07/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เมโสหน้าใส คืออะไร ทำกี่ครั้งถึงเห็นผล มีผลข้างเคียงอย่างไร

ครีมกันแดดทาหน้า ประโยชน์และปริมาณที่ควรใช้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา