backup og meta

กลากเกลื้อน อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    กลากเกลื้อน อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน

    กลากเกลื้อน เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าโรคกลากเกลื้อนคือโรคเดียวกัน แต่แท้จริงแล้ว กลากและเกลื้อนคือโรคผิวหนังต่างชนิดกัน อย่างไรก็ตาม โรคผิวหนังทั้ง 2 ชนิดนี้เกิดจากเชื้อรา ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่อบอุ่นและอับชื้น เช่น บริเวณที่มีเหงื่อสะสม จึงควรรักษาความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ โดยทั่วไปอาการของกลากเกลื้อนจะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์หลังใช้ยารักษา แต่หากรักษานานแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือการติดเชื้อกระจายเป็นวงกว้าง ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอาการโดยเร็วที่สุด

    กลากเกลื้อน เกิดจากอะไร

    โรคกลาก (Ringworm) เป็นโรคผิวหนังจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย รวมไปถึงบริเวณหนังศีรษะ ซอกเล็บมือและเล็บเท้า โดยปกติแล้วเชื้อราชนิดนี้จะอาศัยอยู่บนเนื้อเยื่อเส้นผม เล็บ และผิวหนังชั้นนอกที่ตายแล้ว แต่หากเจริญเติบโตมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการคันได้ โรคกลากสามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกวัย แต่พบได้บ่อยในเด็ก

    โรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor หรือ Tinea versicolor) เป็นโรคผิวหนังจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซียเฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur) มักพบในบริเวณที่มีต่อมไขมัน เช่น คอ ลำตัว ต้นแขน และหลัง โดยทั่วไปโรคเกลื้อนจะไม่ก่อให้เกิดอาการคัน ยกเว้นในช่วงที่มีเหงื่อมาก และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากยังมีเชื้อบนผิวหนัง โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่พบได้บ่อยในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว

    ความแตกต่างของ กลากเกลื้อน

    กลากเกลื้อน เป็นโรคผิวหนัง 2 ชนิดที่เกิดจากการติดเชื้อรา และมีสาเหตุการเกิดโรคที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคเดียวกัน แท้จริงแล้ว กลากและเกลื้อนเป็นโรคผิวหนังคนละชนิดกัน โดยทั้ง 2 โรค แตกต่างกัน ดังนี้

    โรคกลาก

    • โรคกลากสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสเชื้อหรือสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง
    • โรคกลากจะมีลักษณะเป็นผื่นสีแดง รูปวงแหวนหรือวงกลมที่มีขอบเขตชัดเจน และบริเวณขอบจะมีสีเข้มกว่าผิวหนังด้านใน ขอบจะชัดขึ้นตามขนาด และบางครั้งอาจเกิดเป็นขุยหรือสะเก็ดโดยรอบ

    โรคเกลื้อน

    • โรคเกลื้อนเป็นโรคที่ไม่ติดต่อไปยังบุคคลอื่น
    • โรคเกลื้อนจะมีลักษณะเป็นรอยด่างรูปวงกลมเล็ก ๆ กระจายรอบบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อ อาจมีสีเข้มหรือซีดกว่าผิวปกติ บางครั้งอาจมีขุยหรือสะเก็ดของผิวหลุดลอก

    สาเหตุที่ทำให้เกิดกลากเกลื้อน

    กลากเกลื้อนเกิดจากมีปัจจัยมากระตุ้นให้เชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนังอยู่แล้วเจริญเติบโตผิดปกติจนส่งผลให้ผิวหนังติดเชื้อ ปัจจัยกระตุ้นที่พบบ่อย อาจมีดังนี้

    • ผิวมัน โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงบ่อย
    • เหงื่อออกมาก เนื่องจากอากาศร้อน ออกกำลังกาย เป็นต้น
    • ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง
    • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ

    วิธีรักษา กลากเกลื้อน

    การรักษาโรคกลากเกลื้อน จะแตกต่างไปตามระดับความรุนแรงของอาการ รวมถึงขนาด ตำแหน่ง และความหนาของบริเวณที่ติดเชื้อด้วย สำหรับการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านเชื้อรารูปแบบของ ครีม โลชั่น หรือยาสระผม ที่มีขายตามร้านทั่วไป วิธีใช้โดยทั่วไป คือ ทายาบาง ๆ บริเวณที่ติดเชื้อ วันละ 1-2 ครั้ง อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือใช้ยาตามคำแนะนำบนผลิตภัณฑ์หรือคำแนะนำของเภสัชกร

    ยาที่นิยมใช้รักษากลากเกลื้อน มีดังนี้

    ยาชนิดใช้ภายนอก

    • ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เป็นยารักษาโรคผิวหนัง มีส่วนช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา หลีกเลี่ยงการใช้ยาบริเวณดวงตา จมูก ปาก และช่องคลอด และควรใช้ยาคำแนะนำของคุณหมอหรือเภสัชกร เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อราซ้ำ
    • ยาไมโคนาโซล (Miconazole) เป็นยารักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนังและช่องคลอด ช่วยหยุดการเจริญเติบโตของยีสต์ (เชื้อรา) ที่ทำให้เป็นกลาก เกลื้อน การติดเชื้อราในร่มผ้า เป็นต้น

    ยาชนิดรับประทาน

    คุณหมอหรือเภสัชกรอาจแนะนำให้รับประทานยาหากผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อรุนแรง และรักษาด้วยการทายาตามปกติแล้วไม่ได้ผล ยารักษากลากเกลื้อนชนิดรับประทาน อาจมีดังนี้

    • ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เป็นยาที่นิยมใช้ต้านเชื้อราบนผิวหนัง สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง ให้รับประทานยาในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หากอาการไม่รุนแรงมาก อาจให้รับประทานยาในปริมาณ 400 มิลลิกรัม เพียงวันเดียว จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์
    • ยาอิทราโคนาโซล (itraconazole) ให้รับประทานในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์

    วิธีป้องกันไม่ให้เกิดกลากเกลื้อน

    วิธีป้องกันไม่ให้เกิดกลากเกลื้อน อาจทำได้ดังนี้

  • สวมเสื้อผ้าที่แห้งและสะอาดอยู่เสมอ
  • เลือกเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น หรือรัดแน่นจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในที่สาธารณะ หรือที่ที่มีน้ำขัง เช่น ห้องน้ำสาธารณะ สวนสาธารณะ
  • ไม่สวมใส่ชุดชั้นในชุดเดิมซ้ำเกิน 1 วัน
  • อาบน้ำทันทีหลังเล่นกีฬาที่ต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหลังว่ายน้ำในสระสาธารณะ
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าหรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลาก หรือเป็นโรคผิวหนังอื่น ๆ
  • ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดมือให้แห้งหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง หรือสัมผัสพื้นผิวที่คนสัมผัสเยอะ ๆ
  • ดูแลเล็บมือและเล็บเท้าให้สั้นและสะอาดอยู่เสมอ
  •  

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา