งูสวัด เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับอีสุกอีใส พบได้บ่อยในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน งูสวัด อาการ อาจเกิดขึ้นบริเวณร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง ทำให้มีผื่นแดงขึ้นเรียงเป็นกลุ่มตามแนวเส้นประสาท ร่วมกับอาการปวดเนื้อตัว คัน ปวดแสบปวดร้อน หรือปวดเหมือนไฟฟ้าช็อต ทั้งนี้ สามารถป้องกันงูสวัดได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผื่นหรือแผลของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน
[embed-health-tool-bmi]
งูสวัด เกิดจากอะไร
งูสวัด (Shingles/herpes zoster) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดอีสุกอีใส งูสวัดพบได้บ่อยในผู้ใหญ่ ในขณะที่อีสุกอีใสพบได้มากในเด็ก โดยทั่วไปงูสวัดมักเกิดขึ้นในผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน เนื่องจากหลังอาการของอีสุกอีใสหายไปแล้ว เชื้อไวรัสจะยังคงซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทเป็นเวลาหลายปี เมื่อภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติอาจทำให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวเพิ่มจำนวน จนกลายเป็นอาการของงูสวัด
ทั้งนี้ งูสวัดไม่สามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ แต่หากผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนและยังไม่ได้ฉีดวัคซีนไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น สัมผัสผื่นงูสวัดโดยตรง ก็อาจทำให้เป็นอีสุกอีใส และเสี่ยงเกิดงูสวัดในภายหลังได้
งูสวัด อาการ มีอะไรบ้าง
ในระยะแรกก่อนที่ผื่นงูสวัดจะปรากฎขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหรือปวดตามตัว ร่วมกับมีอาการคัน เสียวแปลบ หรือปวดแสบปวดร้อน จากนั้นจะเข้าสู่ระยะออกผื่น โดยผู้ป่วยเกิดเป็นผื่นแดงบริเวณที่ปวด ผื่นที่เกิดขึ้นจะเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแถวยาวคล้ายกับงู มักปรากฏบริเวณรอบเอวหรือด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า คอ หรือลำตัว ทำให้มีอาการปวดเล็กน้อยถึงรุนแรง จากนั้นประมาณ 3-4 วัน แผลตามแนวเส้นประสาทจะแตกออกเป็นแผลพุพองที่มักจะตกสะเก็ดภายใน 7-10 วัน ส่วนใหญ่อาการจะหายไปภายใน 2-4 สัปดาห์
งูสวัด อาการ อื่น ๆ อาจมีดังนี้
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- หนาวสั่น
- ปวดตามตัว
- ปวดท้อง
หากผื่นงูสวัดขึ้นบนใบหน้าด้านใดด้านหนึ่ง ที่อยู่ใกล้ตา อาจทำให้การติดเชื้อเสี่ยงลุกลามไปที่บริเวณดวงตาและทำให้ตาบอด และในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผื่นงูสวัดมักกระจายไปทั่วร่างกายและมีลักษณะคล้ายกับผื่นอีสุกอีใส นอกจากนี้ บางคนยังอาจกลับมาเป็นงูสวัดซ้ำได้อีก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการงูสวัดบริเวณผิวหนังที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือเป็นใกล้เคียงบริเวณเดิมได้ แต่หากเป็นบ่อยๆ ควรรีบไปตรวจหาสาเหตุของภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ปัจจัยเสี่ยงเกิดงูสวัด
ปัจจัยเสี่ยงเกิดงูสวัด อาจมีดังนี้
- เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน
- มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ที่ทำคีโมบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ
- มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- มีอาการบาดเจ็บบนร่างกายหรือมีอาการเจ็บป่วย
- มีภาวะเครียด
- พักผ่อน นอนน้อย
การรักษางูสวัด ทำได้อย่างไร
คุณหมออาจสั่งยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) เพื่อช่วยให้งูสวัดหายเร็วขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยตัวยาจะมีประสิทธิภาพสูงสุดหากรับประทานภายใน 3 วันที่เริ่มออกผื่น
นอกจากนี้ ยังมีการรักษาอื่น ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการของงูสวัด เช่น
- ยากันชัก เช่น กาบาเพนติน (Gabapentin)
- ยาระงับปวด เช่น ลิโดเคน (Lidocaine) อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen)
- ยาแก้ปวดตามใบสั่งแพทย์ เช่น โคเดอีน (Codeine)
- ยากลุ่มคลายเครียด นอนหลับ เช่น Amitriptyline
- การประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดบวม
วิธีป้องกัน งูสวัด
วิธีป้องกันงูสวัดที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนโรคอีสุกอีใส (Varicella vaccine) ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฉีดด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนโรคอีสุกอีใสอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็สามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นโรคงูสวัดได้ ทั้งนี้ วัคซีนมีไว้สำหรับป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเท่านั้น ไม่สามารถใช้เพื่อรักษาผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วได้