backup og meta

ปากนกกระจอก เกิดจาก สาเหตุใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/05/2023

    ปากนกกระจอก เกิดจาก สาเหตุใด

    ปากนกกระจอก เกิดจาก ภาวะอักเสบบริเวณมุมริมฝีปากจากการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย ปัญหาผิวหนังที่มีอยู่เดิม การขาดสารอาหารบางชนิด เป็นต้น ทำให้มีแผลเปื่อย บวม อาจพบที่มุมปากทั้ง 2 มุม หรือมุมเดียวก็ได้  หากรักษาด้วยการใช้ยาหรือการดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ทุเลาลง หรือเป็นปากนกกระจอกบ่อยครั้ง ควรไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อลดความไม่ให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

    ปากนกกระจอก คืออะไร

    ปากนกกระจอก คือ ภาวะอักเสบบริเวณมุมปากที่เกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการสะสมของน้ำลายบริเวณมุมปาก เมื่อน้ำลายแห้งแล้วก็จะทำให้ผิวหนังแห้งแตก และเมื่อมุมปากแตกคนส่วนใหญ่มักเลียริมฝีปากเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น จนอาจทำให้ผิวหนังบริเวณมุมปากติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย และเกิดอาการเจ็บแสบ บวม หรือตึง กลายเป็นแผลเปื่อยบริเวณที่มุมปาก ซึ่งอาจเป็นแผลมุมปากทั้งสองข้าง หรือ แผลมุมปากข้างเดียว

    ปากนกกระจอก ติดต่อไหม

    ปากนกกระจอกไม่ใช่โรคติดต่อ แต่อาจสร้างความเจ็บปวด ทำให้รู้สึกรำคาญ เป็นกังวล กระทบต่อการรับประทานอาหารและการพูดคุยกับผู้อื่น จึงจำเป็นต้องรักษาอย่างถูกวิธีเพื่อลดปัญหาดังกล่าวและไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก

    ปากนกกระจอก เกิดจาก สาเหตุใด

    ปากนกกระจอก อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

    • ติดเชื้อราหรือแบคทีเรีย ที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้อราที่มีชื่อว่าเชื้อแคนดิดา (Candida) ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดผื่นผ้าอ้อม ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปากนกกระจอก
    • เลียปากบ่อยหรือนอนน้ำลายไหล น้ำลายที่แห้งหมักหมมบริเวณมุมปากจากการเลียปากเป็นประจำหรือนอนแล้วน้ำลายไหลโดนมุมปาก อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณมุมปากแห้งแตก อีกทั้งความชื้นและอุ่นของน้ำลายยังอาจทำให้เชื้อราและแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี
    • ขาดวิตามินบี 2 วิตามินบี 2 เป็นวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย มีส่วนช่วยในการทำงานของกระบวนการเมตาบอลิซึมต่าง ๆ และบำรุงรักษาเนื้อเยื่อผิวหนัง การขาดวิตามินบี 2 จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปากนกกระจอกได้
    • มีรูปปากผิดปกติ เช่น ผู้ที่ริมฝีปากบนยื่นออกมาทำให้เกิดร่องลึก ผู้สูงอายุที่ฟันหักหรือไม่มีฟัน ทำให้มีจุดอับชื้นที่มุมปาก เมื่อสัมผัสกับเหงื่อและน้ำลายอาจทำให้ติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียได้
    • ผิวหนังติดเชื้อ เช่น โรคพุพองหรือแผลพุพอง (Impetigo) โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคริมฝีปากอักเสบ (Cheilitis) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) อาจทำให้เกิดปากนกกระจอกได้

    ปากนกกระจอก อาการ เป็นอย่างไร

    ปากนกกระจอก อาจมีอาการดังนี้

    • ระคายเคืองบริเวณมุมปาก รู้สึกแสบร้อน อาจเกิดที่มุมปากข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้
    • ผิวหนังกำพร้าบริเวณมุมปากแห้งแตก เป็นขุยหลุดลอก
    • มีแผลช้ำเลือด บวมแดง และอาจรู้สึกตึงปาก
    • เป็นสะเก็ดแผลที่มุมปาก
    • มีอาการคัน

    ปากนกกระจอก รักษาอย่างไร

    ปากนกกระจอก อาจรักษาได้ด้วยการลดอาการติดเชื้อบริเวณมุมปาก และต้องดูแลให้มุมปากแห้งอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและแบคทีเรีย คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยารักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังต่อไปนี้

    การรักษาด้วยยาต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย

  • ปากนกกระจอกจากการติดเชื้อรา คุณหมออาจให้ใช้ยาต้านเชื้อราที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบนผิวหนัง เช่น ยาไนสแตติน (Nystatin) ยาคีโตโคนาโซล ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ยาไมโคนาโซล (Miconazole)
  • ปากนกกระจอกจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณหมออาจให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยามิวพิโรซิน (Mupirocin) กรดฟิวซิดิก (Fusidic Acid)
  • การรักษาด้วยวิธีอื่น

    • ในกรณีที่ปากนกกระจอกไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย คุณหมออาจแนะนำให้ทาปิโตรเลียมเจลลี่ วาสลีน หรือยาสเตียรอยด์ชนิดทา ในบริเวณที่อักเสบ เพื่อช่วยต้านการอักเสบและป้องกันไม่ให้มุมปากชื้นเกินไป ช่วยให้แผลหายและอาการบรรเทาลงได้
    • ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร อาจเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน ธาตุเหล็ก และวิตามินบี เพื่อลดปัญหาปากนกกระจอกที่มีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหาร

    วิธีป้องกันไม่ให้เกิดปากนกกระจอก

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้และสารที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง
  • ดูแลริมฝีปากให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ และไม่แห้งลอก
  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและดื่มน้ำมาก ๆ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้ริมฝีปากแห้งได้ง่าย
  • รักษาความสะอาดบริเวณช่องปากเป็นประจำ
  • แปรงฟัน บ้วนปาก และใช้ไหมขัดฟัน หลังรับประทานอาหาร
  • ซับมุมปากให้แห้งอยู่เสมอ เพื่อลดการหมักหมมของคราบสกปรกที่จุดอับชื้นบริเวณมุมปาก
  • ไม่ใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุการใช้งาน เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา