backup og meta

สังคังเป็นยังไง ควรดูแลตัวเอง และรักษาอย่างไร

สังคังเป็นยังไง ควรดูแลตัวเอง และรักษาอย่างไร

สังคังเป็นยังไง อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย โดยเฉพาะผู้ที่เสี่ยงในการเป็นโรค เช่น ผู้ที่มีเหงื่อออกมาก และหมักหมมในบริเวณอับชื้น เช่น ขาหนีบ บั้นท้าย ต้นขาด้านใน และผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ เช่น น้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคเบาหวาน ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง สังคังเป็นการติดเชื้อทางผิวหนัง ส่งผลทำให้เกิดผื่นแดง เป็นตุ่ม ตกสะเก็ด และมีอาการคัน ซึ่งอาจพบได้บ่อยในผู้ชายที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่

[embed-health-tool-bmi]

สังคังเป็นยังไง

สังคัง เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดงเป็นรูปวงแหวน เป็นตุ่ม ตกสะเก็ด และมีอาการคันในบริเวณที่มีความอับชื้น โดยเฉพาะขาหนีบลามไปจนถึงต้นขาด้านใน บั้นท้าย อวัยวะเพศ มักพบในผู้ที่มีเหงื่อออกมากหรือผู้ที่มีน้ำหนักเกิน เนื่องจากเหงื่อและบริเวณรอยพับของผิวหนังจะมีความอับชื้นมากจนอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราที่สามารถทำให้เกิดสังคัง

สังคังแพร่กระจายได้อย่างไร

สังคังเป็นโรคติดต่อที่อาจแพร่กระจายได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  • การแพร่กระจายจากคนสู่คน เป็นการติดต่อของโรคที่พบมากที่สุด เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสทางผิวหนัง การสัมผัสกับอวัยวะเพศที่มีการติดเชื้อโดยตรง
  • การแพร่กระจายจากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปยังส่วนอื่น ๆ การเป็นสังคังบริเวณขาหนีบหรือต้นขาสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ เนื่องจากการถอดกางเกงชั้นในอาจทำให้เท้า มือ หรือผิวหนังบริเวณใกล้เคียงสัมผัสกับเชื้อราที่อยู่บริเวณกางเกงชั้นใน ทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจาย
  • การแพร่กระจายจากการสัมผัสกับวัตถุ เชื้อราสามารถแพร่กระจายในทุก ๆ ที่ เช่น ห้องน้ำ พื้น โต๊ะ ผ้าขนหนู ชุดชั้นใน อุปกรณ์กีฬา ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปสู่คนอื่นได้จากการสัมผัสทางผิวหนังกับวัตถุโดยตรง ดังนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น นักกีฬา ผู้ที่ติดเชื้อราในส่วนอื่นของร่างกาย ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิต้านตนเอง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากภาวะความผิดปกติของภูมิคุ้มกันอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

เชื้อที่ทำให้เกิดสังคังแพร่กระจายได้นานแค่ไหน

เชื้อราที่ทำให้เกิดสังคังสามารถมีชีวิตอยู่บนผิวหนังหรือสิ่งของได้นานกว่า 1 ปี หากไม่ได้ทำความสะอาดร่างกายหรือสิ่งของภายในบ้านเป็นประจำ นอกจากนี้ ผู้ป่วยสังคังที่ยังอยู่ในกระบวนการรักษาและยังมีอาการของโรคอยู่ เช่น แสบร้อน ผื่นแดง สะเก็ด ตุ่มพอง อาการคันบริเวณขาหนีบ ก้น หรือต้นขา เชื้อราที่ทำให้เกิดสังคังจะยังสามารถแพร่กระจายได้ ดังนั้น การทำความสะอาดร่างกายและสิ่งของภายในบ้านเป็นประจำ รวมถึงไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นอาจช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อได้

ภาวะแทรกซ้อนของสังคัง

ภาวะแทรกซ้อนของสังคังอาจเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อซ้ำ เนื่องจากการสัมผัสกับเชื้อในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย การติดเชื้อจากสัตว์สู่คน และการไม่ปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัดจนทำให้เชื้อดื้อยา อาจทำให้โรคกลับมาเป็นซ้ำ หรืออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

  • อาจเพิ่มโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นซ้ำซ้อน
  • ก้อนเนื้อเยื่ออักเสบ (Majocchi’s Granuloma) การติดเชื้อราที่ผิวหนังอาจแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง จนทำให้เนื้อเยื่อเกิดการอักเสบ
  • โรคกลาก การติดเชื้อราจากสังคังอาจทำให้เกิดโรคกลาก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ในบริเวณอื่น ๆ ของผิวหนัง

การป้องกันสังคัง

สังคังอาจป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรค ดังนี้

  • ทำความสะอาดและดูแลผิวให้แห้งเสมอ ควรอาบน้ำเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะหลังจากออกกำลังกาย เพื่อขจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่าง ๆ นอกจากนี้ หลังจากอาบน้ำหรือเข้าห้องน้ำควรทำให้บริเวณขาหนีบและต้นขาแห้งเสมอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อ
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด และระบายอากาศได้ดี โดยเฉพาะชุดกีฬา ควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้ารัดรูป เพราะอาจทำให้ผิวหนังเสียดสีกับเนื้อผ้าจนทำให้เกิดอาการคัน และควรซักเสื้อผ้าหลังใช้งานทุกครั้ง เพื่อขจัดเหงื่อและสิ่งสกปรก
  • เปลี่ยนชุดชั้นในอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือเปลี่ยนเมื่อมีเหงื่อออกมาก และควรเลือกชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย เพราะระบายอากาศได้ดี รวมถึงยังอาจช่วยให้ผิวหนังแห้งและลดการอับชื้น นอกจากนี้ ควรซักชุดชั้นในหลังใช้งานทุกครั้ง เพื่อขจัดเหงื่อและสิ่งสกปรก
  • ไม่ควรใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากเชื้อราสามารถแพร่กระจายจากการสัมผัสกับสิ่งของสู่ผิวหนังได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Jock itch. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/jock-itch/symptoms-causes/syc-20353807#:~:text=Jock%20itch%20(tinea%20cruris)%20is,lot%20or%20who%20are%20overweight. Accessed August 9, 2022

Tinea Cruris. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK554602/. Accessed August 9, 2022

Tinea cruris. https://dermnetnz.org/topics/tinea-cruris. Accessed August 9, 2022

Jock Itch. https://www.webmd.com/men/causes-and-prevent-jock-itch. Accessed August 9, 2022

Jock Itch. https://kidshealth.org/en/teens/jock-itch.html. Accessed August 9, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/04/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 โรคผิวหนัง คัน เป็นวงแดง ที่พบได้บ่อย และวิธีรักษา

เชื้อราที่ขาหนีบ สาเหตุของโรคสังคัง อาการ การรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา