backup og meta

ฮ่องกงฟุต หรือโรคน้ำกัดเท้า เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    ฮ่องกงฟุต หรือโรคน้ำกัดเท้า เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไร

    ฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้า เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) ที่ผิวหนังบริเวณเท้าซึ่งมักอับชื้น ทำให้เชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดี ฮ่องกงฟุตมักพบในผู้ที่มีเหงื่อออกมากหรือเท้าเปียกชื้นเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดแผลคันตามง่ามเท้าและอาจลุกลามไปยังฝ่าเท้าและส้นเท้า ผิวหนังอาจบวมแดง แห้งลอก ระคายเคือง และมีตุ่มพุพองหรือตุ่มน้ำ โดยทั่วไป เชื้อราชนิดนี้สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสโดยตรงและการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่เป็นฮ่องกงฟุต ทั้งนี้ ควรรักษาสุขอนามัยของเท้าอยู่เสมอ เช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำหรือเท้าเปียกน้ำ และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการเกิดฮ่องกงฟุตและลดการแพร่กระจายของเชื้อ

    ฮ่องกงฟุต เกิดจากอะไร

    ฮ่องกงฟุตหรือน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot หรือ Tinea pedis) เป็นโรคผิวหนังติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง หรือเกิดเป็นตุ่มพุพองบริเวณเท้า เกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดกลากและเกลื้อน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ชื้นและอบอุ่น เช่น แอ่งน้ำขัง สระว่ายน้ำ ห้องซาวน่า เชื้อราเหล่านี้มักกินเคราตินที่เป็นโปรตีนในผิวหนัง เส้นผม และเล็บเป็นอาหาร ฮ่องกงฟุตสามารถเกิดจากการติดเชื้อยีสต์ได้เช่นกัน แต่เป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อย

    ปัจจัยเสี่ยงของฮ่องกงฟุต

    ปัจจัยเสี่ยงของฮ่องกงฟุต อาจมีดังนี้

    • สวมถุงเท้าและรองเท้าหุ้มส้นเป็นประจำ
    • เป็นคนเหงื่อออกมาก
    • ใช้สิ่งของ เช่น เสื่อ พรม ผู้ปูเตียง เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว รองเท้า ร่วมกับคนที่ติดเชื้อรา
    • เดินเท้าเปล่าในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเชื้อราอาจแพร่กระจายได้ง่าย เช่น ห้องล็อกเกอร์ ห้องซาวน่า สระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำรวม
    • เป็นโรคที่ทำให้เป็นแผลได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

    อาการของฮ่องกงฟุต

    อาการของฮ่องกงฟุตที่มักพบบริเวณเท้าหรือง่ามนิ้วเท้า อาจมีดังนี้

    • ผิวเป็นขุย ลอกหรือแตก
    • มีอาการคัน โดยเฉพาะหลังจากถอดถุงเท้าหรือรองเท้า
    • มีตุ่มพุพอง
    • ผิวหนังอักเสบ แสบ บวมแดง ระคายเคือง
    • ผิวแห้งเป็นสะเก็ด
    • เล็บเปลี่ยนสี มีขุยสีขาวหรือเหลืองใต้เล็บและเปราะบาง
    • ผิวลอกแตก มีเลือดออก
    • เท้ามีกลิ่นเหม็น

    ฮ่องกงฟุต รักษาได้อย่างไร

    ฮ่องกงฟุตเป็นโรคที่ไม่สามารถหายได้เอง แต่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไมโคนาโซล (Miconazole) ในรูปแบบครีม สเปรย์ หรือแป้งที่เภสัชกรหรือคุณหมอเป็นผู้สั่งจ่าย อาจต้องใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์จนกว่าอาการจะดีขึ้น

    การใช้ยาร่วมกับการดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้จะช่วยลดการลุกลามของเชื้อรา ป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดฮ่องกงฟุตได้ด้วย

    • ใช้ผ้าเช็ดตัวและผ้าขนหนูแยกจากผู้อื่น และซักทำความสะอาดเป็นประจำ
    • หลังล้างเท้าหรืออาบน้ำให้เช็ดเท้าจนแห้ง โดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วเท้า
    • หลีกเลี่ยงการแกะเกาผิวหนังที่ติดเชื้อรา เนื่องจากอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
    • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในที่สาธารณะหรือพื้นที่เปียกชื้น เช่น ห้องน้ำสาธารณะ แอ่งน้ำ หากเท้าเปียกควรล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็วที่สุด
    • สวมถุงเท้าและรองเท้าหัวเปิดที่ระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้นจนเกินไป หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าคู่เดิมติดต่อกันนานเกิน 2 วัน
    • ทำความสะอาดรองเท้า หรือนำไปตากแดดเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังฝนตกหรือรองเท้าเปียกน้ำ เพื่อป้องกันเชื้อราสะสม
    • สวมถุงเท้าสะอาด ระบายอากาศได้ดี และไม่สวมถุงเท้าที่ยังไม่ได้ซัก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา