backup og meta

เกลื้อน สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/10/2022

    เกลื้อน สาเหตุ อาการ และการรักษา

    เกลื้อน เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา โดยอาจมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เป็นตัวกระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไป เช่น อากาศร้อนชื้น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทำให้เกิดจุดบนผิวหนัง ซึ่งอาจมีสีเข้มหรือสีอ่อนกว่าสีผิวหนัง ผิวหนังเป็นสะเก็ด และมีอาการคัน ดังนั้น หากสังเกตว่ามีจุดหรือรอยด่างตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว

    คำจำกัดความ

    เกลื้อนคืออะไร

    เกลื้อน คือ โรคผิวหนังจากการติดเชื้อ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเชื้อราที่อาศัยบนผิวหนังตามธรรมชาติเจริญเติบโตมากเกินไป อย่างไรก็ตาม เกลื้อนไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อาจส่งผลให้มีอาการคันจนต้องเกาบ่อย ๆ ซึ่งอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้

    เกลื้อนพบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เพราะเป็นช่วงวัยที่ต่อมไขมันผลิตไขมันมาก ทำให้ผิวมัน และอาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อราได้

    อาการ

    อาการของเกลื้อน

    เกลื้อน มีอาการดังต่อไปนี้

    • จุดเล็ก ๆ สีขาว สีแดง สีชมพู หรือสีน้ำตาลบนผิวหนัง อาจมีขนาดตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรขึ้นไปหรืออาจขยายเป็นปื้นใหญ่
    • จุดของเกลื้อนอาจมีสีเข้มหรือสีอ่อนกว่าสีผิวหนังโดยรอบ มักเกิดขึ้นบ่อยบริเวณคอ หลัง หน้าอก และแขน
    • ผิวหนังที่เป็นเกลื้อนอาจมีลักษณะเป็นขุยบาง ๆ

    ควรพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา หากสังเกตว่าอาการไม่ดีขึ้น จุดเกลื้อนมีขนาดใหญ่ หรือมีการติดเชื้อราซ้ำ ๆ บ่อยครั้ง

    สาเหตุ

    สาเหตุของเกลื้อน

    เกลื้อนเกิดจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ซึ่งเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนังและมักบริโภคไขมันในรูขุมขนเป็นอาหาร หากต่อมไขมันผลิตไขมันมากก็อาจส่งผลให้เชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไปจนเกิดการติดเชื้อ

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของเกลื้อน

    ปัจจัยเสี่ยงของเกลื้อน มีดังนี้

    • สภาพอากาศร้อนชื้น ที่ทำให้ร่างกายขับเหงื่อมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการอับชื้น และกระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโตจนควบคุมได้ยาก และนำไปสู่การเกิดเกลื้อน
    • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถต้านการติดเชื้อราหรือทำให้ควบคุมการติดเชื้อได้ยากขึ้น จนส่งผลให้เป็นเกลื้อน
    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตไขมันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อราและก่อให้เกิดเกลื้อน
    • โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่กินยาฆ่าเชื้อติดต่อกันเป็นเวลานาน

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยเกลื้อน

    การวินิจฉัยเกลื้อน อาจทำได้ดังนี้

    • เก็บตัวอย่างผิวหนังกำพร้าหรือผิวหนังชั้นนอกบริเวณที่เป็นเกลื้อนมาตรวจสอบโดยใช้กล้องจุลทรรศน์
    • ใช้โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (Potassium Hydroxide) ซึ่งเป็นสารที่มีค่าความเป็นด่างสูงมาช่วยขจัดเซลล์ผิวหนังบริเวณที่เป็นเกลื้อนออก และนำผิวที่ลอกออกนั้นไปตรวจผ่านทางกล้องจุลทรรศน์
    • ใช้แสงอัลตราไวโอเลตส่องไปบริเวณที่ได้รับผลกระทบ หากแสงเปลี่ยนเป็นสีส้มทองแดงหรือเรืองแสง ก็อาจแสดงว่าเป็นเกลื้อน

    การรักษาเกลื้อน

    การรักษาเกลื้อน อาจทำได้ดังนี้

    • โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) หรือคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เป็นยาต้านเชื้อราในรูปแบบครีมทาผิวหนัง ใช้เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา ก่อนทายานี้ควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบแล้วเช็ดให้แห้ง โดยทาวันละ 2 ครั้ง หรือตามดุลพินิจของคุณหมอ และควรสังเกตอาการแพ้รุนแรง เช่น แสบไหม้ผิว ระคายเคือง ตุ่มแดง ผิวหนังบวม วิงเวียนศีรษะรุนแรง
    • ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) เป็นยาที่มีในรูปแบบแชมพูและโลชั่น ใช้เพื่อรักษาเกลื้อนและกลาก โดยใช้ทาหรือฟอกบริเวณที่เป็นเกลื้อน ยกเว้นบริเวณใบหน้าและอวัยวะเพศ ทิ้งไว้ 10 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด หากพบว่ามีอาการระคายเคืองผิวหนังควรหยุดใช้และแจ้งให้คุณหมอทราบ
    • ไมโคนาโซล (Miconazole) เป็นยาที่มีในรูปแบบสเปรย์ ครีม แป้ง และยาทิงเจอร์ ใช้เพื่อช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อราและรักษาการติดเชื้อราที่ส่งผลให้เกิดเกลื้อน โดยควรทาลงบนผิวหนังที่ได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้าและกลางคืนหรือก่อนนอน บางคนอาจมีอาการดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ และควรสังเกตอาการแพ้รุนแรง เช่น มีผื่น รู้สึกระคายเคือง แสบร้อนผิวหนัง หากพบอาการเหล่านี้ควรแจ้งคุณหมอให้ทราบอย่างรวดเร็ว
    • เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) เป็นยาต้านเชื้อราที่มีในรูปแบบครีมและเจล โดยใช้ทาบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบวันละ 1-2 ครั้ง หรือตามดุลพินิจของคุณหมอ ก่อนใช้ยานี้ควรล้างมือและทำความสะอาดผิวบริเวณที่เป็นเกลื้อนให้สะอาด จากนั้นเช็ดให้แห้งสนิทและทาลงบนผิวและรอบ ๆ รอยเกลื้อน
    • ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc pyrithione) ที่มีในรูปแบบสบู่ใช้สำหรับการรักษาเกลื้อน โดยทำความสะอาดผิวแทนสบู่ปกติ เพื่อช่วยต้านเชื้อรา

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเกลื้อน

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเกลื้อน อาจทำได้ดังนี้

    • ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นและหนาเกินไป โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้น เพราะอาจทำให้ร่างกายขับเหงื่อมากและอับชื้น ซึ่งอาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา
    • ควรเลือกเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เหงื่อออกมากเกินไป
    • หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจกระตุ้นให้ผิวมัน เช่น การออกกำลังกายกลางแจ้ง การตากแดดเป็นเวลานาน
    • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โลชั่น และครีมกันแดดที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน หรือสูตรไม่เหนียวเหนอะหนะ เพื่อป้องกันผิวมันมากและป้องกันรูขุมขนอุดตัน
    • อาบน้ำเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก เช่น ฝึกซ้อมกีฬา ออกกำลังกาย เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกหรือเหงื่อที่อาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา