backup og meta

โรคงูสวัด คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา

โรคงูสวัด คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา

โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัส วาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella-Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส หลังมีอาการปวดตามเนื้อตัวไม่นาน มักมีตุ่มแดงขึ้นที่ผิวหนังบางส่วนของร่างกาย แล้วค่อย ๆ ลุกลามเป็นลายพาดไปตามแนวของเส้นประสาทฝั่งใดฝั่งหนึ่งของร่างกาย อย่างไรก็ตาม อาจป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

[embed-health-tool-bmi]

โรคงูสวัด เกิดจากอะไร

งูสวัด หรือโรคงูสวัด (Shingles) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ซึ่งถือว่าเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ดังนั้น หากไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน แล้วสัมผัสบริเวณผื่นของผู้ป่วยที่เป็นงูสวัด ก็ทำให้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคอีสุกอีใส

อาการของโรคงูสวัด

อาการที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้

  • มีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง
  • มีไข้
  • ปวดศีรษะ
  • ดวงตาไวต่อแสง
  • ผิวหนังไวต่อการสัมผัส

หลังมีอาการปวดตามเนื้อตัวไม่นาน มักมีตุ่มแดงขึ้นที่ผิวหนังบางส่วนของร่างกาย บางครั้งอาจเกิดที่คอ ใบหน้า หรือดวงตา แล้วค่อย ๆ ลามเป็นลายพาดไปตามแนวของเส้นประสาท จนกระทั่งพันรอบทั้งลำตัว และอาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย

  • มีอาการคันและแสบในผิวหนังบริเวณที่มีผื่นแดงและตุ่มน้ำใส
  • ตุ่มแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสและแตกออก จนเริ่มตกสะเก็ด

วิธีรักษาโรคงูสวัด

โรคงูสวัดเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง อาจใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 2-6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคน คุณหมอจะรักษาโรคงูสวัดตามอาการ โดยอาจสั่งจ่ายยาเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) หรือวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) และอาจสั่งจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการปวด เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคงูสวัดมักจะมีอาการปวดรุนแรง 

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคงูสวัด ควรดูแลตนเองด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ดูแลทำความสะอาดแผลอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ขณะเป็นโรคงูสวัด ควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ สบาย ๆ ไม่รัดรูป
  • ประคบเย็นที่แผลงูสวัด โดยใช้ผ้าห่อแน้ำเข็ง ประคบวันละประมาณ 2-3 ครั้ง

มีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดหรือไม่

หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกันโรคงูสวัด คือ การฉีดวัคซีนงูสวัด โรคงูสวัด พบได้มากในผู้สูงอายุ อีกทั้งผู้สูงอายุยังมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคงูสวัดมากกว่าคนกลุ่มอื่น ดังนั้น ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเคยหรือไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมา และอาจมีหรือไม่มีอาการของโรคงูสวัด ก็ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

หากมีอาการของโรคงูสวัด โดยเฉพาะหากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

  • มีอาการปวด และมีผื่นตุ่มแดงขึ้นรอบ ๆ ดวงตา ควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพื่อป้องกันความเสี่ยงการติดเชื้อที่ดวงตา
  • มีอาการของโรคงูสวัด และเป็นผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ควรไปพบคุณหมอ เนื่องจากวัยผู้สูงอายุจะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
  • ไปพบคุณหมอทันทีหากเป็นโรคงูสวัด และเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคแพ้ภูมิตัวเอง
  • หากมีอาการผื่นตุ่มแดงลุกลามไปอย่างรวดเร็วและทั่วทั้งร่างกาย และมีอาการปวดอย่างรุนแรง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Shingles. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/shingles/symptoms-causes/syc-20353054#:~:text=Shingles%20is%20a%20viral%20infection,same%20virus%20that%20causes%20chickenpox. Accessed on 19 January, 2021

Shingles. https://www.nhs.uk/conditions/shingles/. Accessed on 19 January, 2021

Shingles. https://www.nia.nih.gov/health/shingles#whatcanyoudo. Accessed on 19 January, 2021

Shingles (Herpes Zoster). https://www.cdc.gov/shingles/about/symptoms.html. Accessed on 19 January, 2021

Shingles. https://www.nhs.uk/conditions/shingles/. Accessed on 19 January, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/03/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

รอยแผลเป็นจากอีสุกอีใส รักษาด้วยวิธีไหนได้ผลดีที่สุด

วัคซีนป้องกันงูสวัด เหมาะสำหรับใคร ฉีดแล้วเกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา