backup og meta

โรคฝีดาษลิง คืออะไร เป็นอันตรายหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    โรคฝีดาษลิง คืออะไร เป็นอันตรายหรือไม่

    โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) ที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ (Variolar) และโรคฝีดาษวัว (Cowpox) ผู้ติดเชื้อจะมีตุ่มขึ้นทั่วร่างกาย ลักษณะของตุ่มที่เกิดจากฝีดาษลิงจะเปลี่ยนไปตามระยะ เริ่มจากเป็นรอยแดงเป็นจุด ๆ เป็นตุ่มแดงนูน ไปจนถึงเป็นตุ่มน้ำใส จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นตุ่มหนองที่จะตกสะเก็ดและหลุดออกไปเอง ตุ่มจากฝีดาษลิงมักขึ้นที่ใบหน้า เยื่อบุภายในตาและปาก ลำตัว แขน ขา ฝ่ามือ และฝ่าเท้า คนส่วนใหญ่มักฟื้นตัวจากโรคนี้ได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ โรคฝีดาษลิงพบได้บ่อยในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก แต่ในเดือนพฤษภาคม 2565 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเริ่มรายงานว่าโรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดในหลายภูมิภาคนอกทวีปแอฟริกาและอาจกระจายไปหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงในเบื้องต้นอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้

    โรคฝีดาษลิง เกิดจากอะไร

    โรคฝีดาษลิงเกิดจากติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในสกุลออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) วงศ์พอกซ์วิริเด ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับเชื้อไวรัสฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ และไวรัสฝีดาษวัว เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น ลิง สัตว์ตระกูลฟันแทะอย่างหนูป่า กระรอก เมื่อสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ เชื้อจะเข้าผ่านรอยแตกหรือแผลที่ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ทางเยื่อบุปาก หรือทางเยื่อบุตา ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ จนเกิดผื่นหรือตุ่มซึ่งมักเริ่มปรากฏที่ใบหน้าและลามไปยังบริเวณอื่นของร่างกาย เช่น ลำตัว แขน ขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจขึ้นที่อวัยวะเพศด้วย

    รูปแบบการแพร่เชื้อฝีดาษลิง

    โรคฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนผื่นจะปรากฏขึ้นบนผิวหนัง และหมดระยะที่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นเมื่อแผลตกสะเก็ดและไม่มีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติมแล้ว

    ทั้งนี้ สามารถระบุความแตกต่างของโรคฝีดาษลิงกับโรคฝีดาษคนได้ด้วยการสังเกตอาการในระยะเริ่มต้น โดยโรคฝีดาษลิงจะทำให้เกิดภาวะต่อมน้ำเหลืองโต ในขณะที่โรคฝีดาษคนจะไม่พบอาการดังกล่าว รูปแบบการแพร่เชื้อของโรคฝีดาษลิงอาจแบ่งได้ดังนี้

    • การแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน อาจเกิดขึ้นได้ผ่านการกัดหรือการข่วนของสัตว์ เช่น ลิง หนู กระรอก การสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง ของสัตว์ที่ติดเชื้อ รวมไปถึงการรับประทานสัตว์ที่มีเชื้อ
    • การแพร่เชื้อจากคนสู่คน อาจเกิดขึ้นได้ผ่านการสัมผัสแผลติดเชื้อ การสัมผัสสารคัดหลั่ง การเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อและรับเชื้อผ่านทางละอองไอหรือจาม การส่งผ่านจากแม่ไปสู่ทารกในครรภ์ผ่านทางรก การสัมผัสวัตถุที่มีเชื้อของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน การมีเพศสัมพันธ์

    อาการของผู้ติดเชื้อ โรคฝีดาษลิง

    เมื่อเชื้อโรคฝีดาษลิงเข้าสู่ร่างกายแล้ว อาจใช้เวลาฟักตัวประมาณ 5-21 วัน หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจเริ่มแสดงอาการของการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงดังนี้

    ระยะก่อนผื่นขึ้น

  • ปวดศีรษะ
  • มีไข้สูง
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ปวดหลัง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • หนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย
  • ท้องเสีย
  • ระยะผื่นขึ้น

    หลังจากมีอาการไข้ขึ้นเป็นเวลา 1-3 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นขึ้นตามร่างกาย โดยอาการของโรคฝีดาษลิงจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  ตามลำดับ ดังนี้

    • มีรอยแดงเป็นจุด ๆ ขึ้นบนผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ
    • ตุ่มเปลี่ยนเป็นตุ่มนูนแดง
    • ตุ่มเปลี่ยนเป็นตุ่มที่มีของเหลวใสด้านใน
    • ตุ่มใสเปลี่ยนเป็นตุ่มหนองที่แห้งหรือแตกแล้วหลุดออกเป็นสะเก็ด

    โรคฝีดาษลิง เป็นอันตรายมากแค่ไหน

    โรคฝีดาษลิงมักไม่รุนแรง และคนส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวและหายได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงอาจเป็นอันตรายสำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และเด็กที่สัมผัสกับเชื้อ โดยภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นจากโรคฝีดาษ ได้แก่ โรคไข้สมองอักเสบ โรคปอดบวม การติดเชื้อในกระแสเลือด และการติดเชื้อที่กระจกตาที่อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

    แม้โรคฝีดาษลิงจะไม่รุนแรง แต่เนื่องจากการติดเชื้อสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงและการใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อแล้วและผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงจะต้องกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคฝีดาษลิง นอกจากนี้ รอยโรคนี้อาจทิ้งรอยแผลเป็นกระจายทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ป่วยได้

    การรักษาโรคฝีดาษลิงทำได้หรือไม่

    ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาหรือวัคซีนเฉพาะสำหรับโรคฝีดาษลิง แต่ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษหรือโรคไข้ทรพิษที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเขื้อโรคฝีดาษลิงประมาณ 85% นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนหลังการรับเชื้อฝีดาษลิงแล้ว อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อหรือลดความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งการฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อควรให้เร็วที่สุด โดยควรฉีดวัคซีนภายใน 4 วันหลังได้รับเชื้อ หากฉีดในช่วง 4-14 วันหลังรับสัมผัสกับเชื้อ อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ แต่อาจไม่สามารถป้องกันโรคได้

    วิธีการป้องกันการติดเชื้อ

    วิธีการป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษลิง อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ที่อาจมีไวรัส เช่น ลิง สัตว์ฟันแทะอย่าง หนู กระรอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ตายในบริเวณที่มีโรคฝีดาษลิงระบาด
    • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกแล้ว หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสที่นอนหรือวัตถุที่สัมผัสกับสัตว์ที่ป่วย
    • หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน โดยเฉพาะกับผู้ที่เข้าข่ายว่าอาจติดเชื้อหรือติดเชื้อแล้ว
    • แยกตัวผู้ติดเชื้อหรือสัตว์ที่ป่วยออกจากผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
    • ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำเปล่า แล้วเช็ดหรือซับมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาด หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
    • ใส่ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงจากคู่นอน
    • ใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น แว่นตากันลม หน้ากาก หากหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ขิดกับเชื้อไวรัสไม่ได้

    หากสัมผัสกับเชื้อโรคฝีดาษลิง ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

    หากเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง สัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือสงสัยว่าตัวเองติดเชื้อ ควรเฝ้าดูอาการของตัวเองอย่างน้อย 21 วันหลังการสัมผัสเชื้อ และปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

    • ตรวจอุณหภูมิร่างกายวันละ 2 ครั้ง
    • หากมีอาการหนาวสั่นและต่อมน้ำเหลืองบวม แต่ไม่มีไข้หรือผื่นขึ้น ให้แยกตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
    • หากมีไข้หรือผื่นขึ้นหลังการสัมผัสเชื้อและอาการไม่ดีขึ้น ควรติดต่อคุณหมอเพื่อรับคำปรึกษาและเข้ารับการรักษา
    • หากไม่มีอาการหลังการสัมผัสเชื้อ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ไม่ควรไปบริจาคเลือด เนื้อเยื่อ อสุจิ น้ำนม หรืออวัยวะในช่วงที่เฝ้าดูอาการ

    สำหรับผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ สามารถฉีดวัคซีนไข้ทรพิษภายหลังรับเชื้อไม่เกิน 14 วัน วิธีนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหรืออาจช่วยลดความรุนแรงของอาการ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา