backup og meta

โรคฝีดาษ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

    โรคฝีดาษ สาเหตุ อาการ และการรักษา

    โรคฝีดาษ (Smallpox) หรือไข้ทรพิษ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่สามารถติดต่อจากคนสู่คน ผ่านละอองสารคัดหลั่งจากการไอ การจาม และน้ำมูก หรือจากการใช้สิ่งของร่วมกัน โดยอาจสังเกตจากอาการผิวหนังเป็นตุ่มเล็ก ๆ ร่วมกับอาการเจ็บที่ตุ่ม ผื่นมักขึ้นบริเวณที่สัมผัสสารคัดหลัง หรือ ผื่นของผู้ป่วย มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และอ่อนเพลีย มีวิธีรักษาตามอาการที่เป็น เพื่อช่วยบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

    คำจำกัดความ

    โรคฝีดาษ คืออะไร

    โรคฝีดาษ คือ โรคที่ส่งผลให้เกิดตุ่มขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยระยะการฟักตัวของเชื้อจะอยู่ที่ 7-21 วัน ซึ่งมักจะไม่ปรากฏอาการใด ๆ แต่หลังจากนั้นอาจมีตุ่มขึ้นบนผิวหนังซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ผ่านละอองสารคัดหลั่งจากการไอ การจาม หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน หรือการสัมผัสกับตุ่มของโรคฝีดาษโดยตรง โรคฝีดาษสามารถเกิดได้กับทุกคน แต่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

    อาการ

    อาการของโรคฝีดาษ

    อาการของโรคฝีดาษ มีดังนี้

    • มีตุ่มแดงเล็ก ต่อมาตุ่มพัฒนาเป็น ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และตกสะเก็ด ตามลำดับ โดยอาจเริ่มจากใบหน้า มือ แขน และลำตัว บางคนอาจมีตุ่มขึ้นในช่องปากและลำคอ
    • มีไข้สูง
    • ปวดศีรษะ
    • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า คล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่
    • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
    • อาเจียน

    หลังจากผ่านไป 5 วัน ตุ่มหนองอาจตกสะเก็ด และเริ่มหลุดลอกหมดภายใน 3-4 สัปดาห์ ส่งผลให้เกิดรอยแผลเป็นอีกทั้งยังควรระวังตุ่มโรคฝีดาษที่ปรากฏขึ้นใกล้ดวงตา เพราะอาจเสี่ยงทำให้ตาบอดได้ หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย และตุ่มขึ้นบนผิวหนังโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    สาเหตุ

    สาเหตุของโรคฝีดาษ

    สาเหตุของโรคฝีดาษ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริโอลา (Variola) ที่สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง ดังนี้

    • การไอหรือการจาม เป็นการได้รับเชื้อจากบุคคลที่ติดเชื้อที่มีอาการไอ จาม การพูดคุยระยะใกล้ เพราะละอองสารคัดหลั่งหรือน้ำลายที่ลอยอยู่ในอากาศ อาจเข้าสู่ร่างกายของผู้อื่น เมื่อสูดลมหายใจเข้า
    • การสัมผัสกับรอยโรคโดยตรง 
    • สถานที่ สำหรับผู้ที่อยู่ในสถานที่แออัด มีการระบายอากาศไม่ดี อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
    • สิ่งรอบตัว การไอและการจาม อาจทำให้สารคัดหลั่งที่มีเชื้อกระจายตกลงอยู่บนวัตถุรอบตัว เช่น ลูกบิดประตู รีโมททีวี โทรศัพท์ เมื่อมีการสัมผัสและเผลอนำมือเข้าปากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ การสวมเสื้อผ้า การใช้ผ้าขนหนู และการใช้ผ้าห่มร่วมกับผู้ที่มีเชื้อฝีดาษ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคฝีดาษได้

    ภาวะแทรกซ้อน

    ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีดาษ

    โรคฝีดาษอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น มีรอยแผลพุพองจากตุ่มที่ขึ้นบนผิวหนัง มีรอยแผลเป็น บางคนอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นตาบอดหากมีตุ่มขึ้นใกล้บริเวณดวงตา หากไม่เข้ารับการรักษาทันทีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยโรคฝีดาษ

    คุณหมออาจสอบถามประวัติสุขภาพ และสถานที่ที่เคยเดินทางไปก่อนติดเชื้อ เพื่อนำมาประเมินร่วมกับการขอเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อผิวหนัง ของเหลวในตุ่มฝีและตัวอย่างเลือด เพื่อทดสอบในห้องปฏิบัติการว่ากำลังติดเชื้อไวรัสชนิดใดและเป็นโรคฝีดาษอยู่หรือไม่

    การรักษาโรคฝีดาษ

    ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคฝีดาษให้หายขาด แต่จะมุ่งเน้นการรักษาตามอาการที่ผู้ป่วยเป็นและให้ยาต้านไวรัส ดังนี้

    • ทิโคเวอริแมท (Tecovirimat) ใช้เพื่อช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษ
    • บรินไซโดโฟเวียร์ (Brincidofovir) ใช้เพื่อช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม ยานี้อาจจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากยังไม่เคยถูกนำไปใช้ทดสอบกับผู้ป่วยที่เป็นโรคฝีดาษ แต่ได้มีการทดสอบกับผู้ที่มีสุขภาพดีและผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ ผลข้างเคียงของยานี้ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคฝีดาษ

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคฝีดาษ มีดังนี้

    • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด ควรอยู่ในสถานที่ที่มีการระบายอากาศได้ดี คนไม่พลุกพล่าน
    • ไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าขนหนู ผ้าห่ม ช้อน ส้อม แก้วน้ำ
    • สวมใส่หน้ากากอนามัยและควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ
    • หลีกเลี่ยงการนำมือไปสัมผัสกับใบหน้าบริเวณตา จมูก และปาก หากยังไม่ได้ล้างมือ
    • ทำความสะอาดบ้านบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อยครั้ง เช่น ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได โต๊ะกินข้าว สวิตช์ไฟ
    • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ช่วยต่อต้านเชื้อฝีดาษ และช่วยบรรเทาอาการรุนแรงจากโรคฝีดาษ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา