ผื่นแพ้เสื้อผ้า เป็นกลุ่มอาการของโรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) ที่เกิดจากการสัมผัสเสื้อผ้า หรือเนื้อผ้าที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง หรือเกิดอาการแพ้ อย่างไรก็ตาม หากหลีกเลี่ยงการสัมผัสซ้ำ ๆ และบ่อยครั้ง ก็อาจทำให้ผื่นหายไปได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์
[embed-health-tool-bmr]
คำจำกัดความ
ผื่นแพ้เสื้อผ้า คืออะไร
ผื่นแพ้เสื้อผ้า คือโรคผื่นแพ้สัมผัสชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารระคายเคืองโดยตรง จนอาจนำไปสู่อาการผิวหนังอักเสบ แต่นอกจากเนื้อผ้าแล้ว สีย้อมผ้า และสารเคมีต่าง ๆ บนเสื้อผ้าที่สวมใส่ ก็อาจส่งผลให้เกิดผื่นได้เช่นกัน โดยผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้ารัดรูปอาจเสี่ยงเกิดผื่นแพ้เสื้อผ้าได้มากกว่าบุคคลอื่น เพราะผิวหนังสัมผัสกับเนื้อผ้าอย่างใกล้ชิด
อาการ
อาการผื่นแพ้เสื้อผ้า
อาการผื่นแพ้เสื้อผ้า อาจเกิดขึ้นได้กับผิวหนังทุกส่วนที่สัมผัสกับเสื้อผ้า เช่น ข้อพับ แขน หลังเข่า รักแร้ ขาหนีบ โดยสังเกตได้จากสัญญาณเตือน ดังนี้
- มีอาการคัน
- ผิวหนังเป็นผื่น หรือมีรอยแดง
- ผิวหนังตกสะเก็ด
- ตุ่มหน่อง ตุ่มน้ำ บางครั้งอาจทำให้ผิวลอกเป็นขุย
- ผิวหนังบวม รู้สึกแสบผิว
สาเหตุ
สาเหตุผื่นแพ้เสื้อผ้า
ผิวหนังสัมผัสเสื้อผ้าอยู่เกือบตลอดเวลา และเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยบางชนิดที่ไม่ถูกกับผิวหนังก็อาจทำให้เกิดผื่นแพ้เสื้อผ้าได้ โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์ เช่น ไนลอน (Nylon) โพลีเอสเตอร์ (Polyester) เรยอน (Rayon) สแปนเด็กซ์ (Spandex) ที่ระบายอากาศและเหงื่อได้ยากกว่าเส้นใยธรรมชาติ จึงก่อให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียและเหงื่อ ที่นำไปสู่การเกิดผื่น
นอกจากนี้ สารเคมีอื่น ๆ เช่น กาว สีย้อม สารเรซินฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde resins) ที่อยู่ในเสื้อผ้า ช่วยให้เนื้อผ้าคงรูป ป้องกันการเกิดรอยยับเสื้อผ้า ก็อาจสามารถทำให้เกิดผื่นและอาการคันบนผิวหนังได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงผื่นแพ้เสื้อผ้า
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดผื่นแพ้เสื้อผ้า มีดังนี้
- การสวมใส่เสื้อผ้ารัดรูป
- การสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์
- สารเคมีที่อยู่ในเนื้อผ้า
- โรคผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคผิวหนังภูมิแพ้
- โรคอ้วน เพราะอาจส่งผลให้รู้สึกร้อนง่าย และต่อมเหงื่อผลิตเหงื่อออกมามากขึ้น
- อาชีพที่อยู่กับสภาพอากาศร้อนชื้น
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยผื่นแพ้เสื้อผ้า
ในการวินิจฉัยผื่นแพ้เสื้อผ้า คุณหมออาจสอบถามถึงอาการ ผลิตภัณฑ์ และสิ่งของที่มีการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง หรืออาจทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ด้วยการนำสารก่อภูมิแพ้มาสะกิดหรือหยดลงบนผิวหนัง แล้วทิ้งไว้เป็นเวลา 2-3 วัน และทดสอบว่ามีปฏิกิริยาการแพ้ใด ๆ เกิดขึ้นหรือไม่
การรักษาผื่นแพ้เสื้อผ้า
หากผื่นแพ้เสื้อผ้ามีอาการรุนแรงขึ้น และไม่อาจหายไปได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ คุณหมออาจกำหนดให้รักษาด้วยยา ดังนี้
- ยาชนิดรับประทาน เช่น ยาคอร์ติโตสเตียรอยด์ ยาแก้แพ้ ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดการอักเสบ บรรเทาอาการคัน และต้านเชื้อแบคทีเรีย
- ยาสเตียรอยด์ชนิดทา เป็นยาทาบนผิวหนังเฉพาะที่ ช่วยลดอาการอักเสบ โดยอาจใช้วันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ ตามที่คุณหมอกำหนด
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันผื่นแพ้เสื้อผ้า
ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เสื้อผ้าหลวม ๆ เบาสบาย ไม่รัดรูป มีสีอ่อน อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสัญลักษณ์บ่งบอกว่าควรแยกซัก ระวังสีย้อมตก เพราะมีแนวโน้มว่าเสื้อผ้าชิ้นนั้นมีการย้อมสีเข้มข้นที่อาจส่งผลให้เกิดผื่นแพ้เสื้อผ้า