backup og meta

เซ็บเดิร์ม คือ โรคต่อมไขมันอักเสบ สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง การรักษา

เซ็บเดิร์ม คือ โรคต่อมไขมันอักเสบ สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง การรักษา
เซ็บเดิร์ม คือ โรคต่อมไขมันอักเสบ สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง การรักษา

เซ็บเดิร์ม คือ โรคต่อมไขมันอักเสบ เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่ง เกิดจากต่อมไขมันอักเสบเรื้อรัง จนส่งผลให้ผิวหนังตกสะเก็ด เป็นขุย มีผื่นคัน หรือเป็นรอยแดง พบได้บ่อยบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า รวมถึงผิวหนังส่วนที่มีไขมันเยอะทั่วร่างกาย โดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการใช้แชมพูขจัดรังแคและยาต้านเชื้อรา แต่หากรักษาเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือเกิดการติดเชื้อ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

เซ็บเดิร์ม คือ อะไร

เซ็บเดิร์ม คือ โรคต่อมไขมันอักเสบ หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน (Seborrheic Dermatitis) อาจเกิดจากการติดเชื้อยีสต์มาลาสซีเซีย พาไคเดอมาติส (Malassezia pachydermatis) หรือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ส่งผลให้ต่อมไขมันอักเสบเรื้อรัง ทำให้มีผิวหนังหลุดลอกเป็นแผ่น ผิวบวมแดง และเกิดรังแคหรือสะเก็ดที่หายได้ยาก พบมากในบริเวณหนังศีรษะ แต่ก็อาจส่งผลต่อผิวหนังบริเวณข้างจมูก คิ้ว หน้าผาก เปลือกตา หู หน้าอก หรือส่วนอื่น ๆ ที่มีต่อมไขมันมากได้เช่นกัน หากพบในทารกจะเรียกว่า ภาวะต่อมไขมันอักเสบในทารก ที่ทำให้เกิดแผ่นไขสีเหลืองบนหนังศีรษะ หรือไขที่ศีรษะ (Cradle Cap) ของทารก โรคเซ็บเดิร์มส่วนใหญ่มักเป็น ๆ หาย ๆ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยการรักษาและดูแลที่เหมาะสม

ปัจจัยเสี่ยงของโรค เซ็บเดิร์ม คือ อะไร

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเซ็บเดิร์ม อาจมีดังนี้

  • เป็นเด็กทารกและเด็กเล็ก
  • มีสภาพผิวมัน
  • มีโรคผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea)
  • มีภาวะสุขภาพที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma) หรือชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma)
  • เป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล
  • เป็นโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคในกลุ่มอาการยึกยือ (Tardive Dyskinesia) ซึ่งทำให้ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อไม่ได้ โรคลมบ้าหมู ภาวะอัมพาตใบหน้า ภาวะไขสันหลังบาดเจ็บ
  • มีภาวะผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคดาวน์ซินโดรม
  • ใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชบางชนิด เช่น ลิเทียม (Lithium) บิวสไปโรน (Buspirone) ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol) คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine)

อาการของโรคเซ็บเดิร์ม

อาการของโรคเซ็บเดิร์ม อาจมีดังนี้

  • มีสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะ เมื่อสะเก็ดหลุดลอกจะติดอยู่ตามเส้นผม คอ และไหล่ ลักษณะเหมือนรังแค
  • ผิวหนังเป็นผื่นแดง คัน บริเวณร่องจมูก หัวคิ้ว และใบหู
  • มีรอยแดงเป็นขุยที่เปลือกตา
  • มีแผ่นผิวหนังรูปวงแหวนหรือกลีบดอกไม้ขึ้นเป็นหย่อม ๆ บริเวณแนวไรผมและหน้าอก
  • ผิวหนังบริเวณใต้รักแร้ ใต้ราวนม และซอกขาหนีบเป็นรอยแดง
  • ในทารก จะมีแผ่นไขมันสีเหลืองหรือสีขาวบนหนังศีรษะ ไม่ทำให้รู้สึกคัน แต่หากแกะเกาอาจทำให้เลือดออกหรืออักเสบได้

วิธีรักษาโรคเซ็บเดิร์ม

วิธีรักษาโรคเซ็บเดิร์ม อาจมีดังนี้

การรักษาโรคเซ็บเดิร์มบริเวณหนังศีรษะ

  • การรักษาโรคเซ็บเดิร์มบริเวณหนังศีรษะในเด็กเล็ก

อาการผิวหนังอักเสบในเด็กเล็กอายุ 1-3 เดือน อาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา หรืออาจรักษาด้วยการสระผมให้เด็กด้วยแชมพูเด็กอ่อน ๆ ตามปกติ หลังสระผมควรนวดหรือแปรงหนังศีรษะของเด็กด้วยแปรงขนนุ่มวันละหลายๆ ครั้ง ระวังอย่าให้เกิดแผลเพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ หากเป็นโรคเซ็บเดิร์มที่ผิวหนังส่วนอื่น ให้รักษาด้วยการทาโลชันสเตียรอยด์สูตรอ่อนโยนต่อผิวเด็ก หากดูแลเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น เด็กยังเกาศีรษะและมีอาการไม่สบายตัว ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

  • การรักษาโรคเซ็บเดิร์มบริเวณหนังศีรษะในวัยรุ่นและผู้ใหญ่
    • อาการระดับเบา อาจใช้แชมพูขจัดรังแคที่มีส่วนผสมของซีลีเนียม ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc pyrithione) โคลทาร์ (Coal tar) สัปดาห์ละประมาณ 2 ครั้ง สำหรับการรักษาระยะยาว คุณหมออาจสั่งให้แชมพูป้องกันเชื้อรา เช่น ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซึ่งสามารถได้ทุกวัน หรือ 2-3 วัน/สัปดาห์ ควรใช้ติดต่อกันหลายสัปดาห์จนกว่ารังแคจะหาย เมื่ออาการดีขึ้นให้ใช้ 1 ครั้ง/1-2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก
    • อาการระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง คุณหมออาจสั่งแชมพูที่มีส่วนผสมของเบตาเมทาโซนวาเลเรต (Betamethasone valerate) โคลเบตาโซล (Clobetasol) ฟลูออซิโนโลน (Fluocinolone) แชมพูบางยี่ห้ออาจสามารถใช้ได้ทุกวัน บางยี่ห้ออาจใช้ 2 ครั้ง/สัปดาห์ จึงควรศึกษาเอกสารกำกับยาอย่างละเอียดก่อนใช้ทุกครั้ง

การรักษาโรคเซ็บเดิร์มบริเวณใบหน้าและลำตัว

  • การใช้ยาต้านเชื้อราเฉพาะที่ เช่น ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) คีโตโคนาโซล เซอร์ตาโคนาโซล (Sertaconazole) ซึ่งมีจำหน่ายในรูปแบบครีม โฟม เจล ใช้ทาบริเวณผิวหนังอักเสบ 2 ครั้ง/วัน โดยอาจต้องใช้ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล
  • การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น เบตาเมทาโซนวาเลเรต เดโซไนด์ (Desonide) ฟลูออซิโนโลน ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ซึ่งมีจำหน่ายในรูปแบบครีม โลชัน โฟม เจล ขี้ผึ้ง น้ำมัน สารละลาย ใช้ทาบริเวณที่ผิวหนังอักเสบ 1-2 ครั้ง/วัน
  • การใช้ยาในกลุ่มยาต้านแคลซินูริน (Calcineurin inhibitors) เช่น พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) ทาโครลิมัส (Tacrolimus) โดยทาผิวหนังที่อักเสบ 2 ครั้ง/วัน

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาโรคเซ็บเดิร์มอย่างเหมาะสม

  • อาการของโรคเซ็บเดิร์มกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ
  • สงสัยว่าผิวหนังติดเชื้อ
  • รักษาด้วยตัวเองเบื้องต้นมาระยะหนึ่งแล้วไม่ได้ผลหรืออาการไม่ดีขึ้น

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Seborrheic dermatitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/seborrheic-dermatitis/symptoms-causes/syc-20352710#. Accessed September 13, 2022

Seborrheic Dermatitis. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/14403-seborrheic-dermatitis. Accessed September 13, 2022

Seborrheic Dermatitis. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/eczema/seborrheic-dermatitis-medref. Accessed September 13, 2022

Seborrhoeic dermatitis. https://dermnetnz.org/topics/seborrhoeic-dermatitis. Accessed September 13, 2022

Treatment of Seborrheic Dermatitis. https://www.aafp.org/pubs/afp/issues/2000/0501/p2703.html. Accessed September 13, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/10/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เซ็บเดิร์ม อาการ สาเหตุ การรักษา

รักษาเซ็บเดิร์ม โดยวิธีธรรมชาติง่าย ๆ ด้วยตนเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา