backup og meta

เซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ เกิดจากสาเหตุใด รักษาได้อย่างไร

โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังที่ได้พบบ่อย โดยเฉพาะในวัยเด็กและวัยกลางคน ผู้ที่เป็น เซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ อาจมีขุยสีขาวหรือเหลืองหลุดลอก หนังศีรษะแดง และมีอาการคัน ระคายเคือง โดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ แชมพูน้ำมันดิน ยาทาเสตียรอย เป็นต้น ส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลงภายในไม่สัปดาห์หลังรักษา แต่หากรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นเลย ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-bmi]

เซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ คืออะไร

เซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อย ทำให้หนังศีรษะตกสะเก็ด หลุดลอกเป็นแผ่น หรือเป็นขุยเล็ก ๆ สีขาวหรือสีเหลือง มีรอยแดงและอาจจะมีอาการคัน และอาจมีลักษณะอาการคล้ายคลึงกับโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) อาการทางผิวหนังที่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้

อาการของโรคเซ็บเดิร์มพบได้บ่อยบริเวณหนังศีรษะ จึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นรังแคได้ แต่โรคเซ็บเดิร์มต่างจากรังแคตรงที่สามารถพบที่ผิวหนังบริเวณอื่นที่มีไขมันมากได้เช่นกัน เช่น ใบหน้า หน้าอก รักแร้ หลัง รอบสะโพก ขาหนีบ และเซ็บเดิร์มจะทำให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบอย่างอาการบวมแดงร่วมด้วย ในขณะที่รังแคเป็นเพียงสะเก็ดหนังศีรษะที่หลุดลอก บางครั้งอาการเซ็บเดิร์มที่หนังศีรษะและรังแคจะรักษาด้วยวิธีเดียวกัน แต่คุณหมอผิวหนังอาจเพิ่มการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเซ็บเดิร์มที่ผิวหนังส่วนอื่น ๆ ด้วย

เซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ เกิดจากสาเหตุใด

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของโรคเซ็บเดิร์มได้ แต่ทารกแรกเกิดจะเสี่ยงในการเกิดเซ็บเดิร์มที่หนังศีรษะ ที่เรียกว่า ไขบนหนังศีรษะทารกหรือเครเดิลแคป (Cradle Cap) ได้ง่าย และมักพบได้ในผู้ใหญ่อายุ 30-60 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีสภาพผิวมัน และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเซ็บเดิร์ม

  • ความเครียด
  • การพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ
  • พันธุกรรม
  • เชื้อยีสต์ที่อาศัยอยู่บนหนังศีรษะและผิวหนัง
  • สภาพอากาศหนาวและแห้ง
  • ปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน
  • ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น สิว การติดเชื้อเอชไอวี โรคพิษสุราเรื้อรัง ภาวะซึมเศร้า โรคการกินผิดปกติ โรคลมชัก ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย

อาการเซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ

อาการเซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ อาจมีดังนี้

  • หนังศีรษะหลุดลอกเป็นแผ่น
  • มีขุยขนาดเล็กสีขาวหรือสีเหลืองกระจายบริเวณหนังศีรษะ
  • หนังศีรษะบวม แดง คัน หรือระคายเคือง

ยารักษาเซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ มีอะไรบ้าง

ยารักษาเซ็บเดิร์ม หนังศีรษะ อาจมีดังนี้

  • ยาลอกขุย (Keratolytic agents) เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) กรดแลกติกหรือกรดน้ำนม (Lactic acid) ยูเรีย (Urea) ที่ออกฤทธิ์กำจัดขุยและสะเก็ดบนหนังศีรษะเพื่อให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วนุ่มลงและหลุดลอกออกโดยง่าย
  • ยาต้านเชื้อราชนิดใช้ภายนอก (Topical antifungal drugs) เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc pyrithione) ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium sulfide) ในรูปแบบครีมหรือแชมพู ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา เพื่อรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) โดยควรใช้แชมพูสระผมต้านเชื้อราวันละครั้ง หรือ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วให้ใช้เพียงสัปดาห์ละครั้ง หรือทุก ๆ 2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ทั้งนี้การใช้คีโตโคนาโซลอาจทำให้ผมที่ผ่านสารเคมีหรือผ่านการทำสีแห้งขึ้นได้ จึงควรใช้เพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งร่วมกับการใช้ครีมนวดผมเพื่อให้ผมชุ่มชื้น
  • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone) โคลเบทาซอล (Clobetasol) เพื่อรักษาอาการผิวหนังอักเสบที่มีอาการคันร่วมด้วย โดยใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลา 1-3 สัปดาห์
  • ยาทากลุ่มยับยั้งแคลซินิวริน (Topical calcineurin inhibitors) เช่น พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) ทาโครลิมัส (Tacrolimus) เพื่อกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย และบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และลดอาการบวมแดงของหนังศีรษะ สามารถใช้แทนยาทาเสตียรอยเพื่อควบคุมอาการผื่นที่ดีขึ้นแล้วได้
  • แชมพูน้ำมันดิน (Tar Shampoo) ใช้สำหรับรักษาโรคผิวหนังอักเสบที่หนังศีรษะ ให้สระผมด้วยแชมพูน้ำมันดินแล้วหมักทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีค่อยล้างออก ใช้ประมาณ 2 ครั้ง/สัปดาห์ น้ำมันดินอาจทำให้ผมแห้งได้ จึงควรใช้ครีมนวดผมหรือทรีตเมนต์หลังสระผมด้วย

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากมีอาการต่อไปนี้ ควรปรึกษาเภสัชกรหรือบุคลากรทางแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

  • อาการของเซ็บเดิร์มที่หนังศีรษะรุนแรงจนรบกวนการนอนหลับหรือการใช้ชีวิตประจำวัน
  • เมื่อสงสัยว่ามีการติดเชื้อที่ผิวหนังด้วย
  • เมื่อรักษาด้วยตัวเองในเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Seborrheic Dermatitis. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK551707/. Accessed February 23, 2023

Seborrheic Dermatitis. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/seborrheic-dermatitis-medref. Accessed February 23, 2023

Seborrhoeic dermatitis. https://dermnetnz.org/topics/seborrhoeic-dermatitis. Accessed February 23, 2023

SEBORRHEIC DERMATITIS: OVERVIEW. https://www.aad.org/public/diseases/a-z/seborrheic-dermatitis-overview. Accessed February 23, 2023

Seborrheic dermatitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/seborrheic-dermatitis/symptoms-causes/syc-20352710#:~:text=Seborrheic%20dermatitis%20causes%20a%20rash,that%20mainly%20affects%20your%20scalp. Accessed February 23, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

13/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

รักษาเซ็บเดิร์ม โดยวิธีธรรมชาติง่าย ๆ ด้วยตนเอง

เซ็บเดิร์ม คือ โรคต่อมไขมันอักเสบ สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง การรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์ โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท · เขียน โดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไข 13/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา