Bullous pemphigoid คือ โรคเพมฟิกอยด์ เป็นโรคตุ่มน้ำพองที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดตุ่มน้ำพองที่ผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ เมื่อตุ่มพองแตกออกจะทำให้เป็นแผลถลอกและอาจทำให้รู้สึกเจ็บ โรคนี้พบบ่อยในผู้สูงอายุ การรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปการรับประทานหรือทายาต้านอักเสบ ไม่แกะเกาผิวหนัง ดูแลผิวให้ดี อาจทำให้หายจากโรคนี้ได้ แต่ไม่หายขาด โรคนี้อาจเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่แข็งแรง หากพบว่ามีอาการที่เข้าข่ายโรคเพมฟิกอยด์ ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
Bullous pemphigoid คือ อะไร
โรคเพมฟิกอยด์ หรือ Bullous pemphigoid คือ โรคผิวหนังที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้ชั้นหนังกำพร้าหลุดลอกออกจากชั้นหนังแท้ ส่งผลให้ทำให้เกิดตุ่มพอง พบมากบริเวณข้อพับ รักแร้ หน้าท้อง รอบขาหนีบ และอาจพบที่เยื่อบุช่องปากปาก ลิ้น หลอดอาหาร โพรงจมูก และเยื่อบุตาได้เช่นกัน อาการของโรคจะเริ่มจากมีผื่นแดง คัน ลักษณะคล้ายลมพิษ ขึ้นกระจายเป็นหย่อม ๆ จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มพองหรือตุ่มน้ำใส เมื่อแตกออกจะทำให้รู้สึกเจ็บ และกลายเป็นแผลถลอก ส่วนใหญ่จะทิ้งรอยแผลเป็นไว้บนผิวหนัง ตุ่มน้ำพองอาจเกิดขึ้นในบริเวณไม่กว้างมากหรืออาจกระจายไปทั่วร่างกาย แขน และขา โรคนี้อาจหายได้เองภายในเวลาไม่กี่เดือน แต่บางครั้งอาจต้องใช้เวลารักษาหลายปี และอาจเป็นซ้ำได้อีก
สาเหตุของโรค Bullous pemphigoid
โรคเพมฟิกอยด์เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ และเข้าทำลายโปรตีนที่ทำหน้าที่ยึดผิวหนังชั้นกำพร้าและชั้นหนังแท้ไว้ด้วยกัน ส่งผลให้เกิดการอักเสบในชั้นผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ ผิวหนังแยกออกจากกันและเป็นตุ่มพอง ซึ่งอาจเกิดร่วมกับปัจจัยทางพันธุกรรม การสัมผัสเชื้อโรค สารเคมี จนกระตุ้นให้เกิดตุ่มน้ำพองบนผิวหนัง และปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
- อายุ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเสี่ยงเกิดโรคเพมฟิกอยด์มากกว่าปกติ
- โรคทางระบบประสาท เช่น ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลมบ้าหมู โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเพมฟิกอยด์ได้
- การรักษาโรคด้วยยาและรังสี ยาอะโลกลิปทิน (Alogliptin) ที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน รังสีรักษาโรคมะเร็งอย่างรังสีชนิดก่อไอออน (Ionizing radiation) การฉายแสงอัลตราไวโอเลต (UV) อาจทำปฏิกิริยากับผิวหนัง ส่งผลให้เกิดโรคเพมฟิกอยด์ได้
อาการของโรค Bullous pemphigoid เป็นอย่างไร
อาการของโรค Bullous pemphigoid อาจมีดังนี้
- มีอาการคันผิวหนังและผื่นแดง เป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนจะกลายเป็นตุ่มน้ำพอง
- ตุ่มพองขนาดใหญ่ที่ดูเต่งตึงแต่แตกตัวได้ยาก ภายในเป็นของเหลวใสหรือเลือด
- ผิวหนังบริเวณตุ่มพองอาจเป็นปกติ หรืออาจเกิดรอยแดง รอยดำคล้ำ
- ผื่นผิวหนังอักเสบที่มีลักษณะบวม แดง
- ตุ่มพองในเนื้อเยื่อช่องปากหรือเนื่อเยื่ออ่อนอื่น ๆ ของร่างกาย
- แผลถลอกที่เป็นผลจากตุ่มน้ำแตก
การวินิจฉัยโรค Bullous pemphigoid
คุณหมออาจใช้วิธีต่อไปนี้ ในการวินิจฉัยโรคเพมฟิกอยด์
- ตรวจเลือด คุณหมอจะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเก็บตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดดำที่แขนของผู้ป่วย แล้วส่งตัวอย่างเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- ตรวจชิ้นเนื้อ คุณหมออาจตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติของผิวหนัง
วิธีรักษาโรค Bullous pemphigoid
โรคเพมฟิกอยด์รักษาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาเฉพาะที่ นิยมใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบระดับไม่รุนแรงมาก ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ใช้ทาบริเวณที่เป็นผื่นแดง หรือตุ่มน้ำ
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดเม็ด เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ใช้ในกรณีที่อาการปานกลางและรุนแรง ช่วยต้านการอักเสบ และกดภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำพองบนผิวหนัง
- ยากดภูมิต้านทานเพื่อทดแทนสเตียรอยด์ (Steroid-sparing immunomodulatory agent) เช่น ยาแดพโซน (Dapsone) ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล (Mycophenolate mofetil) ยาเอซาไธโอพริน (Azathioprine) ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ซึ่งออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน อาจช่วยลดอาการผิวหนังอักเสบ และบรรเทาอาการของโรคได้
- ยาทาฆ่าเชื้อ ใช้เมื่อมีตุ่มน้ำแตกจนเป็นแผลถลอก
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
- ผื่นคันไม่หายไป
- เกิดตุ่มพองจำนวนมาก หรือตุ่มพองมีขนาดใหญ่และทำให้รู้สึกเจ็บ
- เกิดตุ่มพองขึ้นซ้ำ ๆ
- ผิวหนังร้อน บวมแดง และเกิดตุ่มพองที่มีเลือดหรือหนองอยู่ในภายใน
[embed-health-tool-heart-rate]