โรคหนังแข็ง หรือโรคผิวหนังแข็ง (Scleroderma) เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ผิวหนังแข็งและหนาขึ้น เกิดขึ้นได้กับผิวหนังบริเวณต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เช่น มือ เท้า แขน ใบหน้า ทั้งยังส่งผลต่ออวัยวะภายใน เช่น ปอด ลำไส้ หลอดเลือด หัวใจ ไต ทำงานผิดปกติเกิดเป็นปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
โรค หนังแข็ง คืออะไร
โรคหนังแข็ง หรือโรคผิวหนังแข็ง (Scleroderma) เป็นโรคในกลุ่มโรคภูมิต้านตนเอง หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองชนิดหายากและเรื้อรัง ที่เกี่ยวข้องกับการหนาและแข็งตัวขึ้นของเนื้อเยื่อ ส่วนใหญ่แล้วโรคนี้จะส่งผลต่อผิวหนังและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน แต่ในบางกรณีก็อาจส่งผลต่ออวัยวะภายใน เช่น ทางเดินอาหาร ปอด ไต หัวใจ หลอดเลือด กล้ามเนื้อ ข้อต่อ ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติ หากเป็นในกรณีเหล่านี้ ส่วนใหญ่อาการมักจะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
โรคหนังแข็งทั่วตัว (Systemic scleroderma)
สามารถแยกออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
- โรคหนังแข็งทั่วตัวแบบลิมิเต็ด หรือแบบจำกัด (Limited scleroderma) อาการของโรคจะพัฒนาอย่างช้า ๆ มักส่งผลกระทบกับผิวหนังบริเวณใบหน้า มือ เท้า แขน และขา โดยลักษณะผิวหนังที่แข็งจะเป็นบริเวณส่วนปลายไม่เกินข้อศอก และเข่า แต่ในบางกรณีก็อาจเกิดรอยโรคที่ปอด ลำไส้ หรือหลอดอาหารได้ด้วย
- โรคหนังแข็งทั่วตัวแบบดิสฟิวซ์ หรือแบบแพร่กระจาย (Diffuse scleroderma) อาการของโรคจะพัฒนารวดเร็ว มักส่งผลกระทบกับผิวหนังที่บริเวณกลางลำตัว ต้นขา ต้นแขน มือ เท้า และในบางกรณีอาจสร่างความเสียหายต่อหัวใจ ปอด ไต และทางเดินอาหารได้ด้วย
โรคหนังแข็ง พบได้บ่อยได้แค่ไหน
โรคหนังแข็งพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และผู้ที่เป็นโรคนี้มักอยู่ในช่วงวัย 30-50 ปี โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของ โรคหนังแข็ง
อาการของโรคหนังแข็งขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ อาการที่พบทั่วไป ได้แก่
- โรคเรเนาด์ (Raynaud’s Disease) ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดฝอยที่นิ้วมือและนิ้วเท้าหดตัว จนนิ้วเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำและรู้สึกเจ็บหรือชา เมื่อเจอกับอากาศหนาวเย็นหรือความเครียดทางอารมณ์ (Emotional distress)
- ผิวหนังมีลักษณะบวมแดง ก่อนจะกลายเป็นผื่นผิวหนังที่หนาและแข็งกว่าผิวหนังบริเวณอื่น โดยรูปร่าง และขนาดของผื่นจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหนังแข็งที่เป็น ส่วนใหญ่ผิวหนังบริเวณที่มีรอยโรคหนังแข็งจะออกเงา ๆ และตึงกว่าบริเวณอื่น ทำให้เคลื่อนไหวได้ยากขึ้น และอาจมีอาการต่อไปนี้ด้วย
- ข้อต่อบวม จนทำให้ปวด และเกิดอาการข้อติด
- กล้ามเนื้ออ่อนแอ และเส้นเอ็นตึง จนทำให้มีอาการปวดและขยับข้อต่อได้ลำบาก
- อวัยวะในระบบทางเดินอาหารผิดปกติ โดยอาการจะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ เช่น
- หลอดอาหารมีปัญหา อาจทำให้เกิดกรดไหลย้อน และกลืนอาหารลำบาก
- ลำไส้ผิดปกติ อาจเกิดอาการปวดหน่วงในลำไส้ ท้องอืด ท้องเสีย หรือท้องผูก และหากลำไส้ทำงานผิดปกติ ก็อาจมีปัญหาในการดูดซึมสารอาหารด้วย
- ปอดทำงานผิดปกติ ทำให้หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจหอบ โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย รวมถึงทำให้มีอาการไอแห้งด้วย
- หัวใจผิดปกติ จนรู้สึกเจ็บที่ทรวงอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจล้มเหลว
- ไตถูกทำลาย จนส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ มีอาการชัก และปัสสาวะน้อยกว่าปกติ
- อาการอื่น ๆ เช่น ตาแห้ง ปากแห้ง โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia)
สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอเพื่อขอรับคำแนะนำและตรวจวินิจฉัย
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากร่างกายส่งสัญญาณเตือนหรือมีอาการตามที่ระบุข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ
ร่างกายของแต่ละคนแสดงอาการแตกต่างกัน จึงควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสาเหตุและอาการของแต่ละคน
สาเหตุ
สาเหตุของ โรคหนังแข็ง
โรคหนังแข็งเป็นผลจากภาวะที่ร่างกายผลิตและสะสมคอลลาเจน (Collagen) ไว้ในเนื้อเยื่อมากเกินไป แต่ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าเป็นเพราะเหตุใดกระบวนการผลิตคอลลาเจนของร่างกายถึงทำงานผิดปกติได้ แต่สันนิษฐานว่าภาวะนี้อาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และการเกิดโรคหนังแข็งส่วนใหญ่ มักเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน เช่น ปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางพันธุกรรม
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของ โรคหนังแข็ง
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหนังแข็งมีหลายประการ เช่น
- พันธุกรรม บางคนอาจมีความผันแปรทางพันธุกรรม (Genetic variation) บางอย่างที่ทำให้เป็นโรคหนังแข็งได้ง่ายขึ้น
- ปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน มีการสันนิษฐานว่า โรคหนังแข็ง เป็นผลจากปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และจากสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ที่เป็นโรคหนังแข็ง 15-20 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง หรือโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง (Autoimmune Disease) อื่น ๆ ด้วย เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลูปัส โรคโรคโจเกรนหรือโรคโซเกร็น (Sjögren’s Syndrome)
การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคหนังแข็ง
การวินิจฉัยโรคหนังแข็งทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากอาการของโรคสามารถเกิดได้กับอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย รวมถึงอวัยวะภายใน เช่น ข้อต่อ ลำไส้ และคุณหมออาจวินิจฉัยอาการเบื้องต้นผิดว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคลูปัสได้
หากคุณหมอสันนิษฐานว่าคนไข้อาจเป็นโรคหนังแข็ง จะทำการซักประวัติสุขภาพทั้งตัวคนไข้และสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว รวมถึงให้คนไข้เข้ารับการตรวจร่างกายและการตรวจวินิจฉัยโรค ดังต่อไปนี้
- ภาพวินิจฉัย เช่น การเอกซเรย์ การทำซีทีสแกน
- การตรวจเลือด
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจวินิจฉัย
- การตรวจระบบทางเดินอาหาร
- การตรวจสมรรถภาพปอด
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจ เช่น การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การรักษาโรคหนังแข็ง
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคหนังแข็งโดยเฉพาะ คุณหมอมักรักษาโรคตามอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละราย โดยวิธีรักษาโรคหนังแข็งที่นิยมใช้ ได้แก่
- การใช้ยา เช่น
- ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs หรือ NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แอสไพริน (Aspirin) ที่มีฤทธิ์ลดอาการปวด บวม
- ยาสเตียรอยด์ หรือยาอื่น ๆ ที่ช่วยชะลอการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และลำไส้
- ยาที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณนิ้วมือและนิ้วเท้าได้มากขึ้น
- ยาลดความดันโลหิต
- ยาขยายหลอดเลือด เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปสู่ปอดได้ดีขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อเป็นแผล
- ยารักษากรดไหลย้อน
- ยาปฏิชีวนะ
- ยาช่วยย่อย
- วิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น
- การรักษาโรคผิวหนังโดยการฉายแสง หรือการรักษาด้วยเลเซอร์
- กายภาพบำบัด
- กิจกรรมบำบัด
- การปลูกถ่ายอวัยวะ ในกรณีที่อวัยวะเสียหายร้ายแรง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อจัดการกับโรคหนังแข็ง
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ข้อต่อยืดหยุ่น และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกาย
- ดูแลข้อต่อไม่ให้บาดเจ็บ หากข้อต่อบาดเจ็บ ควรงดกิจกรรมที่ยิ่งส่งผลเสียต่อข้อต่อ เช่น การยกของหนัก
- ดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้น อย่าให้ผิวแห้ง เพราะอาการผิวแห้งจะยิ่งทำให้ผื่นผิวหนังที่เกิดจากโรคหนังแข็งแย่ลง
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น ดื่มน้ำให้มากขึ้น รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผักและผลไม้สดให้มากขึ้น
- จัดการความเครียดให้ดี เพราะความเครียดอาจส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก และส่งผลต่อสภาพจิตใจ จนทำให้อาการของโรคหนังแข็งแย่ลงได้ วิธีรับมือความเครียด เช่น นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำกิจกรรมโปรดเพื่อคลายเครียด