ฉี่มีเลือดปน คือ การพบปัสสาวะเป็นสีแดง ชมพู หรือน้ำตาลแดง เนื่องจากมีเม็ดเลือดแดงปนอยู่ การฉี่มีเลือดปนอาจไม่เป็นอันตรายเสมอไป แต่ก็เป็นเรื่องไม่ควรมองข้าม เนื่องจากการฉี่มีเลือดปนอาจเป็นสัญญาณของโรคมากมาย เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต โรคไต มะเร็ง นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในไต
[embed-health-tool-bmr]
คำจำกัดความ
ฉี่มีเลือดปน คืออะไร
ฉี่มีเลือดปน เป็นอาการที่ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นชมพู แดง หรือน้ำตาลแดง เนื่องจากมีเม็ดเลือดแดงปนอยู่ บางครั้งเลือดในปัสสาวะอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่จำเป็นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ในการตรวจดู
การปัสสาวะมีเลือดปนมักไม่สร้างความเจ็บปวดหรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่ในบางกรณี การมีลิ่มเลือดปนออกมากับปัสสาวะอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณท้องน้อยหรือหลังได้
อาการ
อาการของการฉี่มีเลือดปน
การพบเลือดในปัสสาวะอาจไม่ใช่อาการของโรคเสมอไป แต่ก็เป็นความผิดปกติอันไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะเมื่อมีอาการอื่นร่วมด้วย ดังนี้
- ปัสสาวะแล้วแสบ
- ปวดปัสสาวะกะทันหันและอั้นไม่อยู่
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- มีไข้
- เจ็บปวดบริเวณหน้าท้อง
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอ
- ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีชมพู แดง หรือน้ำตาลแดง
- ยาบางประเภท เช่น ยาระบาย อาหารบางอย่าง เช่น โกฐน้ำเต้า หัวผักกาด เบอร์รี่ บีทรูท รวมถึงการออกกำลังอย่างหนัก อาจทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสีได้ แต่อาจหายภายใน 2-3 วัน
อย่างไรก็ตาม หากไม่ทราบสาเหตุของฉี่ที่เปลี่ยนสี หรือมีความกังวล ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุ
สาเหตุ
สาเหตุของการฉี่มีเลือดปน
สาเหตุของการฉี่มีเลือดปนมีหลายประการ ดังต่อไปนี้
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เพิ่มจำนวนในกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะของผู้สูงอายุ เลือดที่ปะปนในปัสสาวะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
- กรวยไตอักเสบ การฉี่มีเลือดปนเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคนี้ เกิดจากการมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปที่ไตโดย ผ่านกระแสเลือดหรือท่อไต
- นิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะ เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุที่ไตหรือกระเพาะปัสสาวะเลือดที่พบปนอยู่ในปัสสาวะจากโรคนี้ มีทั้งแบบที่มองเห็นด้วยตาเปล่าและที่ต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์
- ต่อมลูกหมากโต มักเกิดเมื่อผู้ชายเข้าสู่วัยกลางคน โดยเลือดที่ปนในปัสสาวะทั้งแบบที่มองเห็นด้วยตาเปล่าและจำเป็นต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เป็นสัญญาณหนึ่งของโรคนี้
- โรคไต เลือดที่ปนในปัสสาวะแบบที่ต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปของโรคไต
- มะเร็ง การฉี่มีเลือดปนเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคมะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก อย่างไรก็ตาม อาการนี้อาจไม่พบในช่วงแรก ๆ ของโรค
- การบาดเจ็บบริเวณไต เช่น อุบัติเหตุ การเล่นกีฬา
- ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน เพนิซิลลิน ยาระบาย
- การออกกำลังกายอย่างหนัก สามารถทำให้ปัสสาวะมีเลือดปนได้ แต่มีความเป็นไปได้น้อยมาก
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของการฉี่มีเลือดปน
ทุกเพศทุกวัยสามารถพบเลือดปนในปัสสาวะได้ ปัจจัยเสี่ยงการฉี่มีเลือดปน มีดังนี้
- วัย
- การบริโภคยาบางชนิด เช่น แอสไพริน เพนนิซิลิน ยาระบาย มากเกินไป
- การสูบบุหรี่
- การเล่นกีฬา
- การมีคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคไตหรือพบนิ่วในไตมาก่อน
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการฉี่มีเลือดปน
ในการวินิจฉัย คุณหมอจะตรวจคนไข้ด้วยวิธีการต่อไปนี้ เพื่อให้ทราบสาเหตุของการฉี่มีเลือดปน
- การตรวจปัสสาวะ ทำให้คุณหมอทราบว่าผู้ป่วยเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือเป็นนิ่วหรือไม่
- การตรวจเลือด ทำให้คุณหมอถึงระดับครีอะตินีน หรือของเสียที่เกิดจากการสลายกล้ามเนื้อได้ โดยระดับครีอะตินีนที่สูงเป็นสัญญาณของโรคไต
- การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ เพื่อมองหาสัญญาณของโรค อันเป็นสาเหตุของการฉี่มีเลือดปน
- การตรวจหาเซลล์มะเร็งในน้ำปัสสาวะ ในกรณีที่คุณหมอสงสัยว่าเลือดที่ปนในปัสสาวะเกี่ยวข้องกับมะเร็ง
- การดูภาพอวัยวะภายใน เช่น อัลตร้าซาวด์ การตรวจซีทีสแกน (CT Scan) เอ็มอาร์ไอ (MRI)
บางครั้ง คุณหมออาจตรวจไม่พบสาเหตุของการฉี่มีเลือดปนจากวิธีการข้างต้น และจะนัดตรวจซ้ำ กรณีแบบนี้มักเกิดกับผู้มีปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะอย่างคนที่สูบบุหรี่ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องสัมผัสกับสารพิษ หรือมีประวัติเคยผ่านการการฉายรังสีมาก่อน
การรักษาอาการฉี่มีเลือดปน
คุณหมอจะรักษาอาการฉี่มีเลือดปนตามสาเหตุ ตัวอย่างเช่น
- ใช้ยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือต่อมลูกหมากโต
- รักษาด้วยเครื่องช็อคเวฟ ในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือไต
- ผ่าตัดหรือใช้เคมีบำบัด ในกรณีที่พบเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะหรือไตของผู้ป่วย
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับอาการฉี่มีเลือดปน
เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดการพบอาการฉี่มีเลือดปน อาจสามารถดูแลตัวเองได้ดังนี้
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยให้ปัสสาวะสม่ำเสมอและน้ำปัสสาวะไม่ข้น ป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ จากการสะสมของแบคทีเรียในร่างกาย
- เช็ดก้นจากหน้าไปหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียจากทวารหนักเข้าไปในท่อปัสสาวะ
- หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม เพื่อลดความเสี่ยงเป็นนิ่ว ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการฉี่มีเลือดปน
- ปัสสาวะหลังจากมีเพศสัมพันธ์ เพื่อขับแบคทีเรียซึ่งอาจเข้ามาในกระเพาะปัสสาวะระหว่างมีเพศสัมพันธ์ออกจากร่างกาย