อาหารเป็นพิษ เป็นภาวะที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อปรสิต โดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนแบบดิบ ๆ หรือไม่ได้ปรุงสุก จนอาจส่งผลให้ติดเชื้อ และมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น ภาวะอาหารเป็นพิษโดยทั่วไปมักมีอาการไม่รุนแรงมาก และหายได้ภายใน 2-3 วัน ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ตาม การบริโภคอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ ๆ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้
อาการของอาหารเป็นพิษ
ภาวะอาหารเป็นพิษ อาจมีอาการดังนี้
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดเมื่อยร่างกาย
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปัสสาวะน้อย
- มีภาวะขาดน้ำ สังเกตได้จากอาการกระหายน้ำ ริมฝีปากแห้ง อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ เป็นต้น
ส่วนใหญ่ อาการมักจะหายภายใน 2-3 วัน แต่หากมีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป อาเจียนบ่อย ท้องเสียเกิน 3 วัน ถ่ายเป็นเลือด ตาพร่ามัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือมีอาการรุนแรง ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที
อาหารเป็นพิษ เกิดจากอะไร
ภาวะอาหารเป็นพิษมักเกิดจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เช่น ซาลโมเนลลา (Salmonella) ครอสทริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium Perfringens) แคมไพโลแบคเตอร์ อีไคไล (E.coli) ลิสทีเรีย (Listeria) หรือเชื้อไวรัส เช่น โนโรไวรัส (Norovirus) การปนเปื้อนอาจเกิดขึ้นในกระบวนการเพาะปลูก การแปรรูป การผลิตอาหาร หรือแม้แต่การประกอบอาหาร ส่วนใหญ่มักพบสิ่งปนเปื้อนในเนื้อสัตว์สด หรือเนื้อที่ปรุงไม่สุก รวมถึงผักผลไม้และเครื่องดื่มที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เนื่องจากเชื้อโรคเหล่านี้อาจทนต่อความร้อนได้ดี ดังนั้น หากรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด หรือไม่ผ่านการปรุงสุก ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะอาหารเป็นพิษ
กลุ่มเสี่ยงที่อาจพบภาวะอาหารเป็นพิษได้บ่อย อาจมีดังนี้
- เด็ก โดยเฉพาะเด็กทารก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอาจยังพัฒนาไม่เต็มที่ หากรับประทานอาหารที่ไม่สด หรือไม่สะอาด อาจเสี่ยงเกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้ง่ายกว่าปกติ
- ผู้สูงอายุ เป็นช่วงวัยที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเริ่มเสื่อมหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อาจส่งผลให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ง่าย
- หญิงตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ ระบบภูมิคุ้มกันอาจอ่อนแอและยต่อสู้กับเชื้อโรคได้น้อยลง จึงอาจเสี่ยงเกิดอาหารเป็นพิษได้ง่าย หากหญิงตั้งครรภ์เกิดภาวะอาหารเป็นพิษ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ทารกอาจมีพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติ
- ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ การติดเชื้อเอชไอวีโดยเฉพาะในระยะเอดส์ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอาจบกพร่อง จนต่อสู้กับเชื้อโรคได้ไม่ดีนัก
วิธีรักษาภาวะอาหารเป็นพิษ
การรักษาภาวะอาหารเป็นพิษมักขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค และความรุนแรงของอาการ โดยอาจมีวิธีรักษาดังนี้
- การใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- การรับประทานยาแก้คลื่นไส้อาเจียน หากมีอาการอาเจียนรุนแรง
- การทดแทนของเหลวที่ร่างกายสูญเสียไป ด้วยเกลือแร่ อิเล็กโทรไลต์ เป็นต้น เพื่อป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำ
วิธีป้องกันการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษ
วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้
- ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด จากนั้นซับให้แห้ง ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
- ล้างอุปกรณ์ทำครัวด้วยน้ำยาล้างจานหรือน้ำร้อนก่อนปรุงอาหารทุกครั้ง และไม่ควรใช้เขียงและมืดหั่นเนื้อสัตว์สดร่วมกับผักและผลไม้ หรือวัตถุดิบอื่น ๆ เพราะเนื้อสัตว์ที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุกอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ทำเสร็จใหม่ ๆ หรือเก็บรักษาอย่างถูกวิธีเท่านั้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารค้างคืน หากเลี่ยงไม่ได้ ควรอุ่นอาหารให้ร้อนก่อนรับประทาน ทั้งนี้ หากอาหารมีรสชาติหรือกลิ่นผิดปกติ ควรเททิ้งทันที
- หลีกเลี่ยงการดื่มนมและน้ำผลไม้ที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เพราะยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อาจปนเปื้อนอยู่ในเครื่องดื่ม
- ไม่ละลายอาหารสดแช่แข็งด้วยการแช่น้ำหรือตั้งทิ้งไว้ ควรนำมาละลายด้วยไมโครเวฟ เพราะการแช่น้ำอาจเพิ่มสิ่งปนเปื้อนในอาหารสดได้