ริดสีดวง มีลักษณะเส้นเลือดบวมเป็นก้อนเกิดขึ้นบริเวณทวารหนัก เนื่องจากแรงกดดันและแรงเสียดสีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น ท้องผูก ท้องเสีย การตั้งครรภ์ หรือการยกของหนัก อาจทำให้มีอาการเจ็บปวด คัน และมีเลือดออกเมื่อขับถ่าย การรักษาและการป้องกันที่เหมาะสมอาจช่วยเยี่ยวยาอาการให้ดีขึ้นและลดโอกาสเกิดซ้ำ
[embed-health-tool-bmi]
คำจำกัดความ
ริดสีดวง คืออะไร
ริดสีดวงทวาร เป็นเส้นเลือดบวมที่เกิดขึ้นบริเวณทวารหนัก อาจขยายใหญ่ขึ้นทั้งภายในและภายนอกทวารหนักเมื่อได้รับการเสียดสีหรือระคายเคืองบ่อยครั้ง เช่น ท้องผูก ท้องเสีย ใช้แรงเบ่งอุจจาระมากเกินไปหรือนั่งถ่ายเป็นเวลานาน ซึ่งริดสีดวงทวารอาจทำให้มีอาการคัน เจ็บปวด หรือมีเลือดออกเมื่อขับถ่าย
ริดสีดวงพบบ่อยแค่ไหน
ริดสีดวงทวารอาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย พบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือในผู้ที่มีการขับถ่ายไม่ดีเรื้อรัง เช่น ท้องผูก จนอาจทำให้อุจจาระแข็ง เสียดสีกับทวารหนัก และเกิดเป็นริดสีดวงทวารได้
ประเภทของริดสีดวง
ริดสีดวงทวารอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
- ริดสีดวงทวารภายนอก เป็นลักษณะเส้นเลือดก่อตัวขึ้นใต้ผิวหนังบริเวณทวารหนัก ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อาจทำให้เกิดอาการปวดและบวม ในบางครั้งเมื่ออุจจาระอาจมีเลือดออกทางทวารหนักได้เช่นกัน
- ริดสีดวงทวารภายใน เป็นลักษณะเส้นเลือดบวมก่อตัวขึ้นภายในไส้ตรง เป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อกับลำไส้ใหญ่กับทวารหนัก อาจทำให้มีเลือดออกเมื่ออุจจาระแต่ไม่มีอาการเจ็บปวด
- ริดสีดวงทวารอุดตัน เป็นลักษณะของริดสีดวงภายนอกที่ลิ่มเลือดก่อตัวกันเป็นก้อน อาจห้อยย้อยออกมานอกทวารหนัก อาจทำให้มีอาการปวดและมีเลือดออกง่าย
อาการ
อาการริดสีดวง
อาการอาจขึ้นอยู่กับประเภทของริดสีดวงทวาร ดังนี้
ริดสีดวงทวารภายนอก
ริดสีดวงทวารภายนอกเกิดขึ้นใต้ผิวหนังบริเวณทวารหนัก อาจแสดงอาการดังนี้
- เจ็บปวดและรู้สึกไม่สบายที่ทวารหนัก
- ทวารหนักบวม
- ระคายเคืองหรือคันบริเวณทวารหนัก
- เลือดออกจากทวารหนักเมื่อขับถ่าย
ริดสีดวงทวารภายใน
ริดสีดวงทวารภายในเกิดขึ้นบริเวณไส้ตรงไม่สามารถสัมผัสหรือมองเห็นได้ อาจทำให้มีอาการดังนี้
- รู้สึกไม่สบาย ตึงหรือระคายเคืองเมื่อขับถ่าย
- มีเลือดออกขณะขับถ่ายแต่ไม่เจ็บปวด
- ริดสีดวงทวารภายในอาจยื่นออกมาทางรูทวาร ทำให้เกิดอาการปวดและคัน
ริดสีดวงทวารอุดตัน
ริดสีดวงทวารอุดตันเกิดจากเลือดสะสมในริดสีดวงทวารภายนอกจนทำให้เกิดลิ่มเลือด อาจทำให้มีอาการดังนี้
- การอักเสบ
- ปวดและบวมมาก
- มีก้อนเนื้อแข็งบริเวณทวารหนัก
สำหรับริดสีดวงทวารหากมีเลือดไหลขณะขับถ่ายบ่อยครั้ง ควรรีบพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการ เพราะอาจเป็นสัญญาณของลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคโครห์น (Crohn’s disease) โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis) และมะเร็งลำไส้ใหญ่
สาเหตุ
สาเหตุริดสีดวง
ริดสีดวงทวาร อาจมีสาเหตุมาจากแรงกดดันในเส้นเลือดของไส้ตรงหรือทวารหนักที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนทำให้เส้นเลือดเกิดเป็นก้อนบวม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความดันของอุ้งเชิงกรานและการเพิ่มของน้ำหนักในสตรีมีครรภ์ ผู้มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน แรงดันจากการขับถ่ายอุจจาระหรือแรงเสียดสีของอุจจาระที่แข็งและแห้ง หรือแรงดันอาจเพิ่มขึ้นเมื่อของหนัก เหล่านี้อาจทำให้เกิดแรงกดดัน เสียดสี และระคายเคืองจนเกิดเป็นริดสีดวงทวาร
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงริดสีดวง
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดริดสีดวงทวาร ดังนี้
- กำลังตั้งครรภ์
- น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
- รับประทานอาหารกากใยต่ำ
- ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง
- นั่งบนโถส้วมเป็นเวลานาน และเครียดในขณะขับถ่าย
- ยกของหนักเป็นประจำ จนอาจทำให้เกิดแรงดันที่ทวารหนัก
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ได้โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยริดสีดวง
การวินิจฉัยริดสีดวงทวารสามารถทำได้ ดังนี้
- คุณหมออาจตรวจสอบด้วยการใส่นิ้วเข้าไปในรูทวาร หรือส่องกล้องดูไส้ตรงด้วยอุปกรณ์ Anoscope และ Proctoscope เพื่อความผิดปกติของริดสีดวงทวาร
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidoscopy) หรือการส่องกล้องเพื่อดูลักษณะของลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ทั้งหมด
- การตรวจพิเศษทางรังสีวินิจฉัย (Barium X-ray) คุณหมอจะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในเส้นเลือดดำ (Barium) ทางทวารหนัก จากนั้นคุณหมอจะเอ็กซ์เรย์ถ่ายภาพรังสีทางเดินอาหารส่วนล่างเพื่อดูความผิดปกติ
การรักษาริดสีดวง
การรักษาริดสีดวงทวารและริดสีดวงจมูกอาจสามารถทำได้ ดังนี้
- รักษาด้วยยาเหน็บ ที่มีส่วนผสมของวิชฮาเซล (Witch Hazel) เป็นยาทาสมานแผลริดสีดวงทวารหนัก มีฤทธิ์ต้านอักเสบและมีสารอนุมูลอิสระ ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) และลิโดเคน (Lidocaine) สามารถบรรเทาอาการปวดและอาการคันได้ชั่วคราว
- การผ่าตัดด้วยการใช้ยางรัด (Rubber Band Ligation) คุณหมอจะรัดยางบริเวณฐานของริดสีดวงทวารเพื่อตัดการไหลเวียนของเลือด จากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ริดสีดวงจะหลุดออกมาเอง
- การฉีดยารักษาเส้นเลือดขอด Sclerotherapy หมอจะฉีดยารักษาเข้าไปในเส้นเลือดดำเพื่อทำลายผนังเส้นเลือด จนเส้นเลือดหดเล็กลงจึงช่วยลดขนาดริดสีดวงได้ แต่อาจมีประสิทธิภาพน้อยการการรัดยาง
- รักษาด้วยการฉายแสง ฉายแสงเลเซอร์หรือให้ความร้อนด้วยอินฟาเรดเพื่อลดขนาดริดสีดวงทวาร
อาจบรรเทาอาการปวดของริดสีดวงทวารได้ที่บ้าน ดังนี้
- ยารักษาเฉพาะที่ สามารถหาซื้อยารักษาริดสีดวงทวารหรือยาเหน็บที่มีไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) เพื่อบรรเทาอาการ
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน แอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน ช่วยบรรเทาอาการปวด
- แช่บริเวณทวารหนักในอ่างน้ำอุ่นเป็นประจำเป็นเวลา 10-15 นาที ประมาณ 2-3 ครั้ง/วัน
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลาตัวเองเพื่อจัดการกับริดสีดวง
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันริดสีดวงทวารสามารถทำได้ ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและดื่มน้ำให้มากขึ้น การดื่มน้ำมากขึ้นวันละ 8-10 แก้ว ร่วมกับรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี จะทำให้อุจจาระนิ่มลงลดปัญหาอุจาระแข็งเสียดสีไส้ตรงและทวารหนัก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อให้อุจจาระนิ่ม หากอุจจาระแข็งจะทำให้เกิดการเบ่ง และการเกร็งและกลั้นลมหายใจในขณะขับถ่ายจะสร้างแรงกดดันในเส้นเลือดทวารหนักส่วนล่าง
- ไม่ควรอั้นอุจจาระ เพราะหากอั้นอุจจาระเป็นเวลานาน ร่างกายอาจดูดซึมน้ำในอุจจาระทำให้อุจจาระแห้งและขับถ่ายยากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในห้องน้ำ เพราะอาจเพิ่มแรงกดดันต่อเส้นเลือดในทวารหนัก
- ออกกำลังกาย ช่วยป้องกันอาการท้องผูกและลดแรงกดบนเส้นเลือดที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ยังช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดริดสีดวงทวาร