backup og meta

คัดเต้า ช่วงเป็น ประจําเดือน เกิดจากสาเหตุใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 22/02/2024

    คัดเต้า ช่วงเป็น ประจําเดือน เกิดจากสาเหตุใด

    คัดเต้า ประจําเดือน คืออาการเจ็บบริเวณหน้าอกในช่วงที่เป็นประจำเดือน อาจรู้สึกคัดตึงเต้านม เต้านมบวมแข็ง และรู้สึกปวดไล่ไปตามหน้าอก โดยอาจปวดแค่ข้างใดข้างหนึ่งหรือปวดทั้งสองข้างก็ได้ อาการคัดเต้าพบได้บ่อยในช่วงไข่ตกหรือช่วงมีประจำเดือนทุก ๆ เดือน มักเกิดก่อนเริ่มเป็นประจำเดือนประมาณ 2 สัปดาห์ ไปจนถึงในช่วงที่เป็นประจำเดือน และอาจหายไปเองหลังรอบเดือนหมด

    ทั้งนี้ การศึกษาวิธีการดูแลตัวเองที่เหมาะสมอาจช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากอาการรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

    สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัดเต้า ช่วงเป็นประจําเดือน

    คัดเต้า ประจําเดือน (Cyclic breast pain) เกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ท่อและต่อมบริเวณเต้านมขยาย และมีปริมาณน้ำในหน้าอกเพิ่มขึ้น ทำให้เต้านมหนักขึ้นและคัดตึงเต้านม อาการคัดเต้าเป็นอาการก่อนประจำเดือน (Premenstrual syndrome หรือ PMS) ที่พบได้บ่อยและสามารถหายไปได้เองหลังหมดรอบเดือน แต่อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ในแต่ละรอบเดือนจนกว่าจะถึงวัยที่หมดประจำเดือน

    นอกจากนี้ อาการคัดเต้ายังสามารถเกิดขึ้นในช่วงที่ไม่ได้เป็นประจำเดือนได้ด้วย เรียกว่า Noncyclic breast pain ซึ่งเกิดจากความผิดปกติหรือการติดเชื้อบริเวณเต้านมที่ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงที่เป็นประจำเดือน เช่น

    • เต้านมอักเสบ (Mastitis)
    • เต้านมเป็นฝี (Breast abscess)
    • มีก้อนในเต้านมชนิดไฟโบรซิสติค (Fibrocystic breast disease)

    ภาวะเหล่านี้ หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายได้ หากรู้สึกว่าอาการคัดเต้ารุนแรงและต่างจากการปวดเต้านมในช่วงเป็นประจำเดือนที่เคยประสบ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

    คัดเต้า ช่วงเป็น ประจําเดือน มีอาการอย่างไร

    อาการคัดเต้าที่เกิดในช่วงเป็นประจำเดือน อาจมีดังนี้

    • รู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอก
    • หน้าอกคัดตึง แข็งเป็นก้อน
    • หน้าอกบวมและขยายใหญ่ขึ้น
    • รู้สึกหนักหน้าอก
    • รู้สึกปวดแปลบไปถึงรักแร้ หรือบริเวณนอกเหนือไปจากเต้านม

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการคัดเต้านม

    คัดเต้า ประจำเดือน อาจบรรเทาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • สวมใส่เสื้อชั้นในที่มีขนาดพอดีตัว กระชับกับสรีระ ไม่คับแน่นจนเกินไป
  • รับประทานแมกนีเซียมเป็นประจำ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนเป็นประจำเดือน อาจช่วยบรรเทาอาการคัดเต้า หรืออาการไม่พึงประสงค์ช่วงเป็นประจำเดือนอื่น ๆ ได้
  • รับประทานวิตามินอีเป็นประจำประมาณ 5-7 วัน ก่อนเป็นประจำเดือน อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้
  • รับประทานยาบรรเทาปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แอสไพริน ยาอะเซตามิโนเฟน
  • ทาครีมโทรลามีน ซาลิไซเลต (Trolamine Salicylate) ที่เป็นยาใช้ภายนอกสำหรับรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ
  • งดหรือหลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม
  • รับประทานอาหารที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย เลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ มีแร่ธาตุ และอุดมไปด้วยโปรตีน เช่น ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ผักใบเขียว เพื่อช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ ลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ และบำรุงร่างกายให้แข็งแรงในช่วงที่ต้องสูญเสียธาตุเหล็ก
  • เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    อาการคัดเต้าหรือความรู้สึกเจ็บบริเวณเต้านมในช่วงเป็นประจำเดือนสามารถหายไปเองหลังรอบเดือนหมด จึงอาจไม่จำเป็นต้องรักษา อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม

    • สัมผัสได้ถึงก้อนเนื้อบริเวณเต้านม
    • ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป และไม่กลับสู่สภาพเดิมแม้จะหมดประจำเดือน
    • คันเต้านม เต้านมมีรอยแดงผิดปกติ เป็นสะเก็ด หรือเกิดรอยย่น
    • รู้สึกเจ็บรุนแรงบริเวณเต้านมจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้นอนหลับยาก ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอาหารและกิจวัตรการออกกำลังกายไปแล้วก็ตาม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 22/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา