backup og meta

วิตามินอี ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/03/2022

    วิตามินอี ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    วิตามินอี มีประโยชน์มากมายไม่ว่าจะเป็นมีคุณสมบัติละลายในไขมัน ช่วยเพิ่มการทำงานของภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงหัวใจ ส่งเสริมสุขภาพตา ส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและอาจป้องกันมะเร็ง

    อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินอีมีหลายชนิด เช่น น้ำมันจมูกข้าวสาลี น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ เฮเซลนัท ถั่วลิสง เนยถั่ว ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี่  กีวี่มะม่วง มะเขือเทศ กะหล่ำปลี พริกหยวก หน่อไม้ฝรั่ง อะโวคาโด

    วิตามินอี ประโยชน์ มีอะไรบ้าง

    วิตามินอีมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของวิตามินอีในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    1. อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพดวงตา

    วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age related Macular Degeneration หรือ AMD) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเรตินาในดวงตาเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุตามัวและสูญเสียความคมชัดในการมองเห็น โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Interventions in Aging เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพดวงตาที่อาจเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้น พบว่า วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันซึ่งเป็นสารอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อภายในร่างกาย อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ

    1. อาจช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท

    วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ซึ่งอาจเหมาะสำหรับใช้ในการบำรุงระบบประสาทและสมอง รวมทั้งช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบประสาทอีกด้วย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of the New York Academy of Sciences เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของโทโคไตรอีนอล (Tocotrienol) ซึ่งเป็นวิตามินอีธรรมชาติที่อาจช่วยปกป้องระบบประสาท พบว่า โทโคไตรอีนอลในรูปของวิตามินอีธรรมชาติเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของระบบประสาท นอกจากนี้ โทโคไตรอีนอลยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายในไขมัน ซึ่งช่วยป้องกันการอักเสบในร่างกาย และมีประสิทธิภาพในการรักษาโครงสร้างและการทำงานของระบบประสาท

    นอกจากนี้ ยังมีงานงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Healthcare เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินอีในการชะลอความบกพร่องทางสติปัญญา พบว่า วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีศักยภาพและคุณสมบัติต้านการอักเสบ อาจมีประสิทธิภาพในการชะลอการลุกลามของภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มต้น

    1. อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

    วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการอักเสบในหลอดเลือด จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Therapeutics เมื่อเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับวิตามินอีกับโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า วิตามินอีช่วยป้องกันการเกิดออกซิเดชัน เนื่องจากไขมันชนิดไม่ดี (LDL) กระตุ้นเซลล์บุผนังหลอดเลือดทำให้เกิดการอักเสบในหลอดเลือด ยับยั้งการสลายของเซลล์ภูมิคุ้มกันในเนื้อเยื่อและยับยั้งการขยายหลอดเลือด ดังนั้น วิตามินอีจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ชายและผู้หญิงวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุ

    1. อาจช่วยป้องกันมะเร็ง

    วิตามินอีมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบในเซลล์และเนื้อเยื่อ อาจช่วยป้องกันมะเร็งได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Saudi Medicine เมื่อเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ. 2550 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินอีในการป้องกันมะเร็ง พบว่า วิตามินอีอาจมีฤทธิ์ป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ชายที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งบุคคลที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และผู้ป่วยที่มีแอนติเจนจำเพาะต่อมลูกหมาก (Prostate-Specific Antigen หรือ PSA) สูง  ซึ่ง PSA เป็นโปรตีนที่สร้างจากเซลล์ในต่อมลูกหมาก หากมีปริมาณมากอาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้

    1. อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพผิว

    วิตามินอีมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายจากรังสียูวีในแสงแดด โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร  Indian Dermatology Online Journal เมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินอีต่อโรคผิวหนัง พบว่า วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายในไขมัน ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายชนิด ปกป้องผิวจากการทำร้ายของรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ โดยทำหน้าที่เป็นตัวกำจัดอนุมูลอิสระ

    การขาดวิตามินอีส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

    การขาดวิตามินอีอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ ได้แก่

    • ความเสียหายของจอประสาทตา อาจทำให้การมองเห็นบกพร่อง
    • โรคระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทส่วนปลาย อาจทำให้มีอาการอ่อนแรงหรือเจ็บปวดที่มือหรือเท้า
    • อาการเดินเซ (Ataxia) ทำให้สูญเสียการควบคุมและการเคลื่อนไหวของร่างกาย
    • การทำงานของภูมิคุ้มกันลดลง

    ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขาดวิตามินอี จึงควรได้รับวิตามินอีในประมาณที่เหมาะสม ดังนี้

    • เด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรได้รับวิตามินอี 400 มิลลิกรัม/วัน
    • ทารกอายุ 7-12 เดือน ควรได้รับวิตามินอี 5 มิลลิกรัม/วัน
    • เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับวิตามินอี 6 มิลลิกรัม/วัน
    • เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับวิตามินอี 7 มิลลิกรัม/วัน
    • เด็กอายุ 9-13 ปี ควรได้รับวิตามินอี 11 มิลลิกรัม/วัน
    • ผู้หญิงและผู้ชายอายุ 14 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินอี 15 มิลลิกรัม/วัน
    • หญิงตั้งครรภ์อายุ 14 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินอี 15 มิลลิกรัม/วัน
    • หญิงให้นมบุตรอายุ 14 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินอี 19 มิลลิกรัม/วัน

    ข้อควรระวังในการบริโภควิตามินอี

    ควรพิจารณาการรับประทานวิตามินอีอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้

    • การบริโภควิตามินอีมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย เหนื่อยล้า ร่างกายอ่อนแอ ปวดศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน ผื่น อวัยวะสืบพันธุ์ผิดปกติ ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม
    • ผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น การขาดวิตามินเค ภาวะเรตินาดวงตาเสียหาย เลือดออกผิดปกติ โรคเบาหวาน เคยมีประวัติหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งศีรษะและลำคอ โรคตับ อาจต้องปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานอาหารเสริมวิตามินอี เนื่องจาก อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหรืออาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
    • การรับประทานวิตามินอีร่วมกับยา อาหารเสริมหรือสมุนไพรบางชนิด เช่น สารอัลคิเลต (Alkylating) ยาปฏิชีวนะต้านเนื้องอก ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด สมุนไพร อาหารเสริม ยาสแตติน (Statins) ยาไนอาซิน (Niacin) อาหารเสริมวิตามินเค อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือลดประสิทธิภาพของยาได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา