backup og meta

ตกขาวปนเลือด ท้องไหม ? ตกขาวแบบไหนที่ควรพบคุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

    ตกขาวปนเลือด ท้องไหม ? ตกขาวแบบไหนที่ควรพบคุณหมอ

    ตกขาวปนเลือด ท้องไหม ? เป็นคำถามที่สาว ๆ หลายคนอาจสงสัย โดยเฉพาะผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เนื่องจากอาการดังกล่าว อาจเป็นหนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนฝังตัวในผนังมดลูกและเกิดเป็นการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม เลือดปนออกมากับตกขาวอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรง ดังนั้น หากสังเกตว่ามีตกขาวปนเลือดควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัดและรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

    ตกขาว คืออะไร

    ตกขาว คือ สารคัดหลั่งที่ไหลออกจากช่องคลอด ตกขาวปกติจะมีลักษณะเป็นเมือกหรือของเหลวใส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำความสะอาดช่องคลอดที่ช่วยดักจับสิ่งสกปรก แบคทีเรีย และเซลล์ที่ตายแล้ว ก่อนจะถูกขับออกมาในรูปแบบของตกขาว นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ช่องคลอด ป้องกันช่องคลอดแห้ง และลดอาการเจ็บแสบขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยลักษณะตกขาวหรือมูกปากช่องคลอดจะเปลี่ยนแปลงลักษณะไปตามระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายด้วย

    ตกขาวปนเลือด ท้องไหม ?

    ตกขาวปนเลือด ท้องไหม ? หากตกขาวปนเลือดอาจมีความเป็นไปได้ว่าตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นสัญญาณเตือนแรกที่เกิดจากตัวอ่อนฝังตัวในผนังมดลูก จะเกิดขึ้นได้ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 4-5 สัปดาห์ ทำให้มีเลือดออกผสมกับตกขาวหรือมูกเลือดและอาจมีอาการปวดท้องเกร็ง และปวดท้องน้อยคล้ายกับปวดประจำเดือน หากสังเกตว่าประจำเดือนไม่มานานกว่า 1 เดือน ควรตรวจสอบการตั้งครรภ์โดยใช้ชุดตรวจครรภ์ด้วยตัวเองหรือเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล

    อย่างไรก็ตาม ตกขาวปนเลือดยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้

    • วัยหมดประจำเดือน อาจทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลง ส่งผลให้การผลิตสารหล่อลื่นในช่องคลอดลดลง นำไปสู่อาการช่องคลอดแห้ง ระคายเคือง และอาจส่งผลให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอย ทำให้มีตกขาวปนเลือดออกจากช่องคลอด
    • การใส่หรือถอดอุปกรณ์คุมกำเนิด เช่น ห่วงคุมกำเนิด วงแหวนคุมกำเนิด ก็อาจทำให้เกิดแผลในช่องคลอด ทำให้มีเลือดออก และส่งผลให้มีตกขาวปนเลือดได้
    • การติดเชื้อในช่องคลอด จากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา อาจส่งผลให้ช่องคลอดอักเสบ ที่สังเกตได้จากอาการระคายเคือง รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น และตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวสีเหลือง ตกขาวสีเขียว ตกขาวสีเทาและอาจมีตกขาวปนเลือด
    • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในเทียม หูดหงอนไก่ เริม หูด อาจทำให้ช่องคลอดและปากมดลูกอักเสบ จนมีเลือดออกและทำให้มีตกขาวปนเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนและลดการแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น
    • การมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดแผลในช่องคลอด ที่ส่งผลให้มีตกขาวปนกับเลือดและอาจมีอาการเจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
    • ติ่งเนื้อปากมดลูกหรือติ่งเนื้อโพรงมดลูก อาจจะทำให้มีเลือดออกกระปริบกระปรอยปนมากับตกขาวได้
    • มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งปากมดลูก อาจส่งผลให้มีเลือดออกทางช่องคลอดมาปนกับตกขาวได้

    ตกขาวผิดปกติ ที่ควรเข้าพบคุณหมอ

    ตกขาวผิดปกติ ที่ควรเข้าพบคุณหมอ คือตกขาวที่มีกลิ่นเหม็นและมีตกขาวออกมาปริมาณมาก อีกทั้งยังอาจมีสีตกขาวที่เปลี่ยนแปลง ดังนี้

    • ตกขาวสีน้ำตาลอาจเป็นสีของประจำเดือนตกค้างหรือใกล้หมดประจำเดือน และอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อราในช่องคลอด เป็นติ่งเนื้อบริเวณช่องคลอดปากมดลูก โรคมะเร็งปากมดลูก โดยอาจสังเกตได้จากอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดอุ้งเชิงกราน ปวดท้องน้อย เลือดออกจากช่องคลอด
    • ตกขาวสีเทา ขาว หรือเหลือง และมีกลิ่นคาวอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียและการติดเชื้อราในช่องคลอด ที่อาจส่งผลให้มีอาการคัน ช่องคลอดบวมแดง และเจ็บแสบขณะมีเพศสัมพันธ์
    • ตกขาวสีเหลืองขุ่นหรือเหลืองปนเขียวคล้ายหนอง ที่อาจเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส หูด โดยอาจสังเกตอาการได้จากเจ็บแสบขณะปัสสาวะและระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ปวดกระดูกเชิงกราน ปวดท้องน้อย มีตกขาวปนเลือด
    • ตกขาวสีเขียวหรือสีเหลืองและเป็นฟอง อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อปรสิต เช่น โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยและส่งผลให้รู้สึกคันช่องคลอด ช่องคลอดบวม

    นอกจากนี้ หากมีความกังวลเกี่ยวกับ ตกขาวปนเลือด ท้องไหม ก็อาจเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจครรภ์หรือตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดได้เช่นกัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา