ฮอร์โมนเพศหญิง มีอะไรบ้าง มีความสำคัญอย่างไร
ฮอร์โมนเพศหญิง มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของผู้หญิงเป็นอย่างมาก เป็นส่วนหนึ่งในทุกช่วงชีวิตของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเมแทบอลิซึมหรือกระบวนการเผาผลาญพลังงาน สุขภาพหัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ อารมณ์ การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ การผลิตน้ำนม ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน รังไข่ก็จะหยุดทำงาน ทำให้การทำงานของฮอร์โมนเพศหญิงหยุดลงอย่างสมบูรณ์ [embed-health-tool-ovulation] ฮอร์โมนเพศหญิง สำคัญอย่างไร รังไข่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงตัวหลัก ๆ ที่สำคัญที่สุดต่อสุขภาพของผู้หญิงตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ จนถึงวัยหมดประจำเดือน มีบทบาทในการกระตุ้นพัฒนาการทางเพศและเตรียมผนังมดลูกให้พร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิแล้วในระหว่างตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเพศหญิง มีอะไรบ้าง ฮอร์โมนเพศหญิง อาจแบ่งได้ดังนี้ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นกลุ่มฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องเพศและระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนส่วนใหญ่จะผลิตมาจากรังไข่ ในขณะที่ฮอร์โมนบางส่วนในปริมาณน้อยจะผลิตมาจากต่อมหมวกไตและเซลล์ไขมัน เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน รังไข่จะหยุดทำงานและหยุดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้ไม่มีประจำเดือนอีกต่อไป หน้าที่ของฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจมีดังนี้ ควบคุมการมีประจำเดือน พัฒนาลักษณะทางเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยแรกรุ่น กระตุ้นพัฒนาการของเต้านม รักษาความชุ่มชื้นของผิวและเนื้อเยื่อ ช่วยให้เนื้อเยื่อหัวใจ สมอง หลอดเลือด แข็งแรง เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก รักษาระดับคอเลสเตอรอลให้เป็นปกติ ควบคุมภาวะเจริญพันธุ์และการตั้งครรภ์ ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะถูกหลั่งออกมาจากรังไข่หลังจากที่การตกไข่ หน้าที่หลักของฮอร์โมนนี้คือการกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว เพื่อเป็นที่รองรับการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้วให้เติบโตกลายเป็นตัวอ่อนไปเป็นทารกที่แข็งแรงสมบูรณ์ได้ในที่สุด ซึ่งหากไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกไปเป็นประจำเดือนในทุก ๆ เดือน แต่หากมีการตั้งครรภ์ รังไข่จะหลั่งโปรเจสเตอโรนในปริมาณมากเพื่อบำรุงมดลูกระหว่างตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน […]