backup og meta

ฮอร์โมนเพศหญิง มีอะไรบ้าง มีความสำคัญอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/07/2023

    ฮอร์โมนเพศหญิง มีอะไรบ้าง มีความสำคัญอย่างไร

    ฮอร์โมนเพศหญิง มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของผู้หญิงเป็นอย่างมาก เป็นส่วนหนึ่งในทุกช่วงชีวิตของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเมแทบอลิซึมหรือกระบวนการเผาผลาญพลังงาน สุขภาพหัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ อารมณ์ การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ การผลิตน้ำนม ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน รังไข่ก็จะหยุดทำงาน ทำให้การทำงานของฮอร์โมนเพศหญิงหยุดลงอย่างสมบูรณ์

    ฮอร์โมนเพศหญิง สำคัญอย่างไร

    รังไข่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงตัวหลัก ๆ ที่สำคัญที่สุดต่อสุขภาพของผู้หญิงตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ จนถึงวัยหมดประจำเดือน มีบทบาทในการกระตุ้นพัฒนาการทางเพศและเตรียมผนังมดลูกให้พร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิแล้วในระหว่างตั้งครรภ์

    ฮอร์โมนเพศหญิง มีอะไรบ้าง

    ฮอร์โมนเพศหญิง อาจแบ่งได้ดังนี้

    • ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)

    เป็นกลุ่มฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องเพศและระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนส่วนใหญ่จะผลิตมาจากรังไข่ ในขณะที่ฮอร์โมนบางส่วนในปริมาณน้อยจะผลิตมาจากต่อมหมวกไตและเซลล์ไขมัน เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน รังไข่จะหยุดทำงานและหยุดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้ไม่มีประจำเดือนอีกต่อไป

    หน้าที่ของฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจมีดังนี้

    • ควบคุมการมีประจำเดือน 
    • พัฒนาลักษณะทางเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยแรกรุ่น
    • กระตุ้นพัฒนาการของเต้านม
    • รักษาความชุ่มชื้นของผิวและเนื้อเยื่อ
    • ช่วยให้เนื้อเยื่อหัวใจ สมอง หลอดเลือด แข็งแรง
    • เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก
    • รักษาระดับคอเลสเตอรอลให้เป็นปกติ
    • ควบคุมภาวะเจริญพันธุ์และการตั้งครรภ์
    • ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ
    • ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)

    ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะถูกหลั่งออกมาจากรังไข่หลังจากที่การตกไข่ หน้าที่หลักของฮอร์โมนนี้คือการกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว เพื่อเป็นที่รองรับการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้วให้เติบโตกลายเป็นตัวอ่อนไปเป็นทารกที่แข็งแรงสมบูรณ์ได้ในที่สุด ซึ่งหากไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกไปเป็นประจำเดือนในทุก ๆ เดือน แต่หากมีการตั้งครรภ์ รังไข่จะหลั่งโปรเจสเตอโรนในปริมาณมากเพื่อบำรุงมดลูกระหว่างตั้งครรภ์

    • ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone)

    ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมนแอนโดรเจนประเภทหนึ่งที่ผลิตจากรังไข่และต่อมหมวกไตของผู้หญิง แม้ว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะจัดเป็นฮอร์โมนหลักของเพศชาย แต่ก็ยังเป็นฮอร์โมนที่พบในเพศหญิงในปริมาณเล็กน้อยเช่นกัน

    หน้าที่ของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอาจมีดังนี้

    • ควบคุมการทำงานของรังไข่ รอบประจำเดือน และภาวะเจริญพันธุ์
    • เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ
    • กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
    • ควบคุมอารมณ์และพลังงาน

    ความสัมพันธ์ของฮอร์โมนเพศหญิงและปัญหาสุขภาพ

    ปัญหาสุขภาพที่สัมพันธ์กับความไม่สมดุลของระดับ ฮอร์โมนเพศหญิง อาจมีดังนี้

    ฮอร์โมนเอสโตรเจน

    เมื่อมีฮอร์โมนมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะต่อไปนี้

  • โรคมดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เมื่อร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง อาจส่งผลให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้เกิดพังผิดหรือก้อนเนื้อในมดลูก และทำให้ประจำเดือนมามากและปวดท้อง โดยทั่วไปจะรักษาด้วยการใช้ยาและผ่าตัด ภาวะนี้จะหายไปหลังวัยหมดประจำเดือน
    • เนื้องอกมดลูก เป็นก้อนเนื้อในผนังมดลูกที่อาจก่อตัวขึ้นตั้งแต่หนึ่งก้อนขึ้นไป โดยมีฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นตัวกระตุ้นให้เนื้องอกเจริญเติบโต โดยส่วนใหญ่ไม่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนไปเป็นมะเร็ง แต่ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    เมื่อมีฮอร์โมนน้อยเกินไป เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนที่ทำให้รังไข่หยุดผลิตฮอร์โมนโดยสมบูรณ์ อาจทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากโดยเฉพาะตอนกลางคืน อารมณ์เเปรปรวน อ่อนเพลีย ผิวหนังเหี่ยวย่น เนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอดบางลงส่งผลให้ช่องคลอดแห้งและทำให้รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ เป็นต้น นอกจากนี้ การมีฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อย อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะสุขภาพต่อไปนี้

    • การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อฮอร์โมนลดลงจะทำให้หลอดเลือดภายในระบบทางเดินปัสสาวะบางลง จนติดเชื้อได้ง่าย อาจทำให้ต้องไปปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ นอกจากนี้ยังอาจทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
    • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) การขาดเอสโตรเจนอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน เนื่องจากเอสโตรเจนช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรงโดยป้องกันการสูญเสียแคลเซียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ช่วยลดความเสี่ยงการแตกหักของกระดูกสันหลัง สะโพก กระดูกแขนและขาได้
    • โรคหัวใจ เอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มระดับไขมันดี (HDL) และลดไขมันเลว (LDL) ส่งผลให้หลอดเลือดยืดหยุ่น ลดความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูงและการสะสมของไขมันตามผนังหลอดเลือด ทำให้เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนที่รังไข่ไม่ผลิตฮอร์โมนชนิดนี้อีกต่อไป จะทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้มากขึ้น

    ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

    เมื่อมีฮอร์โมนมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการคล้ายอาการก่อนเป็นประจำเดือน (PMS) เช่น

    • วิตกกังวล
    • กระสับกระส่าย
    • ท้องอืด
    • หน้าอกบวมและคัดตึง
    • ซึมเศร้า
    • อ่อนเพลีย
    • น้ำหนักขึ้น

    เมื่อมีฮอร์โมนน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะต่อไปนี้

    • ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ผู้ที่มีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนน้อยกว่าปกติ อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก การแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด
    • อาการผิดปกติจากการขาดฮอร์โมน ผู้ที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนน้อยในช่วงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ อาจมีอาการผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ภาวะมีบุตรยาก อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ซึมเศร้า ปัญหาการนอนหลับ ร้อนวูบวาบ

    ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน

    เมื่อมีฮอร์โมนมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะต่อไปนี้

    • กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมากกว่าปกติ ส่งผลให้มีถุงของเหลวขนาดเล็กจำนวนมากภายในรังไข่ และทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขนดก มีบุตรยาก
    • อาการผิดปกติจากการมีฮอร์โมนมากเกินไป ผู้หญิงที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูง เนื่องจากภาวะสุขภาพหรือการใช้ยาเกินขนาด อาจมีอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น หน้าอกเล็กลง เสียงทุ้มลง

    เมื่อมีฮอร์โมนน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะต่อไปนี้

    • ความต้องการทางเพศต่ำ
    • ไม่มีพลังงาน เหนื่อยล้า
    • สูญเสียความตึงตัวของกล้ามเนื้อและไม่มีแรง
    • ภาวะมีบุตรยาก 
    • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
    • ช่องคลอดแห้ง
    • ซึมเศร้า วิตกกังวล
    • ผมบาง
    • ผิวแห้งกร้าน
    • ปัญหาการนอนหลับ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา