backup og meta

การทำงานของหัวใจ และเรื่องที่คนมักเข้าใจผิด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์ · โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    การทำงานของหัวใจ และเรื่องที่คนมักเข้าใจผิด

    โรคหัวใจเป็นโรคที่พบได้บ่อย อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ความผิดปกติบางประการตั้งแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารไขมันสูง การสูบบุหรี่จัด อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับ การทำงานของหัวใจ เมื่อเป็นโรคหัวใจ เช่น คนอายุน้อยไม่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคหัวใจไม่สามารถป้องกันได้ ภาวะหัวใจล้มเหลวไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถวางแผนการรักษาและควบคุมโรคได้ดีขึ้น ส่วนผู้ที่ยังไม่ป่วยเป็นโรคหัวใจก็สามารถดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธีเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้

    การทำงานของหัวใจ เป็นอย่างไร

    หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญที่มีขนาดเท่ากับกำปั้นของผู้เป็นเจ้าของ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ เซลล์ และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย หัวใจแบ่งออกเป็น 4 ห้อง ได้แก่ หัวใจห้องบนขวา (Right atrium) หัวใจห้องล่างขวา (Right ventricle) หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrium) และหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) โดยหัวใจห้องซ้ายและห้องขวาจะมีผนังหัวใจกั้น ส่วนหัวใจห้องบนและห้องล่างจะมีลิ้นหัวใจกั้น ลิ้นหัวใจมีหน้าที่กั้นให้เลือดไหลไปทางทิศทางเดียวกัน และป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับไปทางเดิม

    การทำงานของหัวใจจะเริ่มจากหลอดเลือดดำลำเลียงเลือดดำที่มีออกซิเจนต่ำกลับมาที่หัวใจห้องบนขวา เลือดดำจะไหลจากหัวใจห้องบนขวาลงไปที่หัวใจห้องล่างขวาซึ่งจะสูบฉีดเลือดดำที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงไปฟอกที่ปอดผ่านการหายใจจนเลือดดำกลายเป็นเลือดแดงที่ได้รับออกซิเจนแล้ว จากนั้นเลือดแดงจะไหลขึ้นไปที่หัวใจห้องบนซ้าย แล้วไหลลงไปที่หัวใจห้องล่างซ้าย จากนั้นหัวใจห้องล่างซ้ายจะสูบฉีดเลือดแดงที่มีออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะของร่างกายผ่านหลอดเลือดแดง แล้วเลือดจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะกลายเป็นเลือดดำไหลเวียนกลับเข้าสู่หัวใจห้องบนขวา หมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่

    เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ การทำงานของหัวใจ

    เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ การทำงานของหัวใจ อาจมีดังนี้

    คนอายุน้อยไม่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ

    พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารไขมันสูง ล้วนส่งผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจในอนาคต เนื่องจากคราบพลัคในหลอดเลือดจะเริ่มสะสมตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่น เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจทำให้หลอดเลือดอุดตันและเกิดเป็นโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคบางโรค เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ก็สามารถเป็นโรคหัวใจได้ตั้งแต่อายุยังน้อย จึงควรดูแลสุขภาพโดยรวมและสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจเมื่ออายุมากขึ้น

    โรคหัวใจเป็นโรคทางพันธุกรรมจึงไม่สามารถป้องกันได้

    แม้การถ่ายทอดทางพันธุกรรมจะเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ แต่หากผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงนี้ดูแลสุขภาพให้ดี ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ ไม่ใช่ว่ามีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจแล้วจะต้องป่วยเป็นโรคนี้ด้วยเสมอไป การดูแลสุขภาพหัวใจอย่างถูกวิธี อาจทำได้ดังนี้

    • ขยับร่างกายและออกกำลังกายอยู่เสมอ
    • ควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
    • รักษาระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีและชนิดไม่ดีให้เหมาะสมด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป พิซซ่า อาหารทอด เนื้อสัตว์ติดหนัง หมูกระทะ ชาบู
    • เลิกสูบบุหรี่

    คนสูงอายุมีระดับความดันโลหิตสูงเป็นเรื่องปกติ

    ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่เกิดจากผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัวขึ้น ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย จนส่งผลให้ความดันโลหิตสูงและทำให้แรงดันของเลือดที่กระทบผนังหลอดเลือดรุนแรงกว่าปกติ แม้ภาวะนี้จะพบได้บ่อยเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนสูงอายุจะต้องมีความดันโลหิตสูงทุกคน ส่วนใหญ่แล้วภาวะนี้มักเกิดกับคนที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ค่อยออกกำลังกาย เป็นโรคเบาหวานหรือเป็นโรคอ้วน จนทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงเมื่ออายุมากขึ้น

    ภาวะความดันโลหิตสูงอาจทำให้หลอดเลือดเสียหายและนำไขมันเข้าสู่หลอดเลือด จนเกิดเป็นปัญหาสุขภาพหัวใจได้ การดูแลตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น งดสูบบหุรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจช่วยในการควบคุมระดับความดันโลหิตให้ไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง รวมไปถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากภาวะนี้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจวาย ภาวะหัวใจล้มเหลว

    การเลิกบุหรี่ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

    การเลิกบุหรี่มีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะสูบบุหรี่มานานกี่ปี แต่หากเลิกสูบบุหรี่ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งเกิดจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อหัวใจและปอดที่มีอยู่ในควันบุหรี่ เช่น นิโคติน คาร์บอนมอนอกไซด์ ที่ทำให้เลือดข้นขึ้นและเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดและหลอดเลือดแดง  อีกทั้งการเลิกบุหรี่ยังช่วยให้ปอดฟื้นตัวและกลับมาสู่สภาพที่สมบูรณ์ได้ภายในไม่กี่ปีหลังหยุดสูบบุหรี่ และลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สุขภาพของหัวใจและปอดจะฟื้นฟูได้มากน้อยแค่ไหน อาจขึ้นอยู่กับระยะเวลาและระดับของการสูบบุหรี่ด้วย หากสูบบุหรี่จัดมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ร่างกายก็อาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานกว่าผู้ที่สูบบุหรี่มาไม่นานและสูบไม่จัด

    ภาวะหัวใจล้มเหลวไม่สามารถรักษาได้

    ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกายได้ตามปกติ เนื่องจากหัวใจอ่อนแอ หรือผนังเยื่อหุ้มหัวใจแข็งจนขาดความยืดหยุ่นและไม่สามารถบีบรัดตัวเพื่อสูบฉีดเลือดได้ ภาวะนี้สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาที่ช่วยทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมน้อย เพื่อลดการสะสมของเหลวในร่างกาย นอกจากนี้ ในกรณีภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดจากหลอดเลือดอุดตันหรือปัญหาของลิ้นหัวใจ ยังอาจรักษาได้ด้วยการผ่าตัดหรือสวนหัวใจเพื่อลดการอุดตันของหลอดเลือด ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น และการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การรักษาด้วยวิธีที่กล่าวมาอาจช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ตามปกติและแข็งแรงมากขึ้น และอาจช่วยให้หายจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้

    ภาวะหัวใจล้มเหลวไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า

    ความจริงแล้วภาวะหัวใจล้มเหลวมีอาการที่ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนหลายประการ หากพบว่าผู้ป่วยโรคหัวใจมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าหัวใจล้มเหลวและควรรีบพาตัวไปโรงพยาบาลและพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

    • หายใจถี่รัวเป็นช่วงสั้น ๆ
    • หัวใจเต้นถี่และเร็วกว่าปกติ
    • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
    • ไอหรือหายใจมีเสียงหวีดต่อเนื่อง
    • ขา ข้อต่อ หรือเท้าบวม
    • ไม่ค่อยอยากอาหาร
    • เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
    • นอนราบไม่ได้ และมีลุกมาเหนื่อยหอบตอนกลางคืน

    ภาวะหัวใจล้มเหลวเหมือนกับอาการหัวใจวาย

    ภาวะหัวใจล้มเหลวและอาการหัวใจวายนั้นแตกต่างกัน อาการหัวใจวายเกิดขึ้นเมื่อมีคราบจุลินทรีย์สะสมในหลอดเลือด หรือมีลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดจนทำให้เลือดไหลเวียนไปยังหัวใจไม่ได้แบบฉับพลัน ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน อาการนี้อาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ที่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

    ส่วนภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เพียงพอ และมีเลือดตกค้างอยู่บริเวณด้านหลังของหัวใจ ทำให้ของเหลวไปสะสมที่ปอด หน้าท้อง และขา จนส่งผลให้การทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกายหยุดชะงัก เกิดอาการเบื่ออาหาร ใจสั่น ท้องบวม หายใจถี่เป็นช่วงสั้น ๆ ภาวะนี้ยังอาจส่งผลให้อวัยวะทั้งหมดล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

    แม้ภาวะหัวใจวายและภาวะหัวใจล้มเหลวจะต่างกัน แต่ก็เกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ การเกิดภาวะหัวใจวาย รวมถึงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งเป็นภาวะรุนแรงและอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่หัวใจวายหรือเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจจะต้องเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวทุกคน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์

    โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา