backup og meta

หลอดเลือดแดง และโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เชื่อมโยงกันอย่างไร

หลอดเลือดแดง และโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เชื่อมโยงกันอย่างไร

หลอดเลือดแดง เป็นหลอดเลือดที่อยู่ทั่วร่างกาย ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ หากหลอดเลือดแดงมีการสะสมของคราบพลัคจากไขมัน คอเลสเตอรอล แคลเซียม และไฟบริน (Fibrin) ที่เป็นเส้นใยในเลือดมากจนเกินไป ก็อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแข็งได้

หลอดเลือดแดง คืออะไร

หลอดเลือดแดง คือ ท่อนำส่งเลือดที่อุดมไปด้วยออกซิเจนจากการทำงานของระบบสูบฉีดเลือดของหัวใจ ไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยหลอดเลือดแดงที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายคือ หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (Aorta) ที่เชื่อมกับหัวใจด้านซ้าย ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่สามารถแตกแขนงเป็นกิ่งก้านออกไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า เส้นเลือดฝอย

หลอดเลือดแดงประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ดังนี้

  1. ทูนิกา อินทิมา (Tunica intima) เป็นผนังหลอดเลือดชั้นในสุดที่ประกอบด้วย เอนโดธีเลียม (Endothelium) หรือเนื้อเยื่อบุโพรงของหลอดเลือด
  2. มีเดีย (Media) เป็นกล้ามเนื้อชั้นกลางในหลอดเลือด ที่ยืดหยุ่นรับความกดดันสูงจากหัวใจ
  3. แอดเวนทีเชีย (Adventitia) เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชั้นนอกที่คอยปกคลุมหลอดเลือด

โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ส่งผลเสียต่อหลอดเลือดแดงอย่างไร

เนื่องจากหลอดเลือดแดงทำหน้าที่เป็นท่อนำส่งเลือดที่ประกอบด้วยออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่คอเลสเตอรอลและไขมันจากอาหารที่รับประทาน ก็อาจก่อตัวสะสมและกลายเป็นคราบพลัคเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดง และผนังหลอดเลือดเสียหาย ทางเดินของเลือดแคบลง จนเลือดไหลผ่านไปหล่อเลี้ยงอวัยวะหรือเนื้อเยื่อในร่างกายไม่เพียงพอ อีกทั้งคราบพลัคเหล่านี้ยังอาจแตกตัว ทำให้สารต่าง ๆ แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด จนเกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตัน ขวางทางเดินเลือด และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้

อาการของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง

โรคหลอดเลือดแดงแข็งอาจไม่แสดงอาการใด ๆ จนกว่าหลอดเลือดจะตีบตัว หรือถูกปิดกั้นจากคราบพลัค โดยอาการของโรคหลอดเลือดแดงแข็งอาจมีสัญญาณเตือนที่แตกต่างกันออกไปตามบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้

  • หลอดเลือดหัวใจแข็ง อาจทำให้มีอาการหายใจถี่ รู้สึกเหมือนถูกกดทับบริเวณหน้าอก คอ แขน และกราม รวมถึงหัวใจเต้นผิดปกติ
  • หลอดเลือดบริเวณสมองแข็งตัว ได้แก่ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง การมองเห็นของดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างเปลี่ยนแปลง พูดสื่อสารลำบาก กล้ามเนื้อใบหน้า แขน และขาอ่อนแรง
  • หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ หลอดเลือดตีบบริเวณที่นำส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงแขน ขา และบริเวณกระดูกเชิงกราน อาจส่งผลให้รู้สึกขาชา ปวดขาขณะเคลื่อนไหว
  • หลอดเลือดที่เชื่อมโยงกับไตแข็ง อาจทำให้ความดันโลหิตสูง นำไปสู่ภาวะไตล้มเหลว

การรักษาโรคหลอดเลือดแดงแข็ง

การรักษาโรคหลอดเลือดแดงแข็งขึ้นอยู่กับสาเหตุ และบริเวณที่ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ โดยคุณหมออาจกำหนดยารักษาที่เหมาะสม ดังต่อไปนี้

  • ยากลุ่มสแตติน และยารักษาคอเลสเตอรอล เช่น ยาเอเซ็ตทิไมบ์ (Ezetimibe) อะทอร์วาสแททิน (Atorvastatin) โลวาสแตติน (Lovastatin) พราวาสแตติน (Pravastatin) ฟลูวาสแตติน (Fluvastatin) โรซูวาสแตติน (Rosuvastatin) พิทาวาสแตติน (Pitavastatin)
  • ยาแอสไพริน คือยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดไข้ และชะลอการแข็งตัวของเลือด
  • ยาลดความดันโลหิต เป็นยาที่คุณหมออาจนำมาใช้บรรเทาอาการของภาวะแทรกซ้อนที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดแข็ง

หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง คุณหมออาจแนะนำการรักษาโรคหลอดเลือดแข็งด้วยการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ หรือการใส่ขดลวดเพื่อขยายหลอดเลือด เพื่อแก้ไขปัญหาการอุดกั้นของคราบพลัค และอาจช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดให้ไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Picture of the Arteries. https://www.webmd.com/heart/picture-of-the-arteries. Accessed September 30, 2021

Atherosclerosis. https://www.heart.org/en/health-topics/cholesterol/about-cholesterol/atherosclerosis. Accessed September 30, 2021

Atherosclerosis. https://www.nhs.uk/conditions/atherosclerosis/. Accessed September 30, 2021

Arteriosclerosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/arteriosclerosis-atherosclerosis/symptoms-causes/syc-20350569. Accessed September 30, 2021

Atherosclerosis. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/atherosclerosis. Accessed September 30, 2021

Atherosclerosis. https://www.webmd.com/heart-disease/what-is-atherosclerosis. Accessed September 30, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/05/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์สุรพงษ์ หล่อสมฤดี

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะหลอดเลือดแข็ง หนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยของโรคหลอดเลือดสมอง

ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์สุรพงษ์ หล่อสมฤดี

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป · คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 08/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา