ระบบไหลเวียนเลือด เป็นระบบที่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย เนื่องจากมีหน้าที่ในการลำเลียงเลือด ฮอร์โมน ออกซิเจน และสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์ในร่างกาย เพื่อใช้เป็นพลังงาน ใช้ในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมถึงทำหน้าที่ในการขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกทางปอด หากระบบไหลเวียนเลือดหยุดทำงานอาจทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานบกพร่องจนอาจทำให้มีอาการสับสน มึนงง ช็อก หมดสติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ระบบไหลเวียนเลือด คืออะไร
ระบบไหลเวียนเลือด คือ ระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดที่มีหน้าที่ลำเลียงเลือด ฮอร์โมน ออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงาน ใช้ในการเจริญเติบโตและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ นอกจากนี้ ระบบไหลเวียนเลือดยังมีหน้าที่ในการขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกทางปอด เพื่อแลกเปลี่ยนออกซิเจนกลับมาใช้ในร่างกาย และนำของเสียไปยังอวัยวะที่มีหน้าที่กำจัดทิ้ง เช่น ไต ลำไส้ใหญ่ รวมถึงช่วยรักษาสมดุลของน้ำภายในร่างกาย และควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้เป็นปกติ
ระบบไหลเวียนเลือด ทำงานอย่างไร
ระบบไหลเวียนเลือดอาจประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ ดังนี้
- เลือด ประกอบไปด้วยเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และพลาสมา (Plasma)
- หัวใจ เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยหัวใจห้องบนขวา (Right Atrium) หัวใจห้องล่างขวา (Right Ventricle) หัวใจห้องบนซ้าย (Left Atrium) และหัวใจห้องล่างซ้าย (Left Ventricle)
- หลอดเลือด ประกอบด้วยหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำและเส้นเลือดฝอย ซึ่งมีหน้าที่เป็นเส้นทางในการลำเลียงเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ส่วนประกอบของอวัยวะเหล่านี้จะทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้อย่างเป็นปกติ โดยเลือดดำหรือเลือดที่มีออกซิเจนต่ำจะถูกลำเลียงผ่านเส้นเลือดดำไปยังหัวใจห้องบนขวาและส่งต่อไปยังหัวใจห้องล่างขวาเพื่อส่งเลือดไปฟอกที่ปอด โดยเซลล์เม็ดเลือดแดงจะถูกกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกและได้รับออกซิเจนใหม่ ทำให้เลือดดำกลายเป็นเลือดแดงหรือเลือดที่มีออกซิเจนสูง ซึ่งเลือดที่ฟอกแล้วจะถูกส่งต่อไปยังหัวใจห้องบนซ้าย จากนั้นจะส่งต่อไปยังหัวใจห้องล่างซ้าย เพื่อสูบฉีดเลือดที่ฟอกแล้วไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ระบบไหลเวียนเลือดหยุดทำงาน ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย
ระบบไหลเวียนเลือดมีความสำคัญต่อเซลล์ในร่างกาย เนื่องจากช่วยในการลำเลียงฮอร์โมน ออกซิเจนและสารอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อใช้เป็นพลังงานในการดำรงชีวิต ใช้ในการเจริญเติบโตของร่างกายและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ซึ่งหากระบบไหลเวียนเลือดหยุดทำงานชั่วขณะ ก็อาจส่งผลให้เซลล์ขาดออกซิเจนที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเกิดอาการวูบหมดสติ และหากระบบไหลเวียนเลือดหยุดทำงานเป็นเวลานานก็อาจทำให้อวัยวะภายในร่างกายทำงานบกพร่อง เช่น ไตได้รับความเสียหายเนื่องจากไม่สามารถกรองเลือดเพื่อผลิตปัสสาวะได้ รวมถึงอาจทำให้เกิดอาการหมดสติ ผิวหนังเย็นและซีด ช็อก หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอและการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงผิวหนังไม่เพียงพอ
สาเหตุที่ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดหยุดทำงาน
ระบบไหลเวียนเลือดหยุดทำงานอาจเกิดจาก 3 สาเหตุ ดังนี้
- ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างเพียงพอ อาจมีสาเหตุจากภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่ทำลายกล้ามเนื้อหัวใจทำให้หัวใจอ่อนแอลง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจพิการแต่กำเนิด อาจทำให้มีอาการหายใจถี่ สับสน มึนงง เหนื่อยล้า หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เจ็บหน้าอก อาการบวมที่ท้อง เท้าและข้อเท้า
- เลือดในร่างกายไม่เพียงพอในการสูบฉีดไปทั่วร่างกาย อาจเกิดจากการบาดเจ็บที่ทำให้เลือดออกรุนแรง การอักเสบหรือการติดเชื้อหลังการบาดเจ็บ หรือภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน เช่น ท้องเสีย อาเจียน ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ปริมาณเลือดในร่างกายลดลงจนไม่สามารถรักษาความดันโลหิตได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดหยุดทำงาน
- ภาวะช็อกจากปริมาณเลือดลดลง (Distributive Shock) เป็นภาวะที่หลอดเลือดขยายตัวมากเกินไปจนสูญเสียการตึงตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในกระแสเลือด อาการแพ้รุนแรงและอาการช็อกจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การได้รับบาดเจ็บทางสมอง
การป้องกันระบบไหลเวียนเลือดหยุดทำงาน
การป้องกันระบบไหลเวียนเลือดหยุดทำงานที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงอาจทำได้ ดังนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของร่างกาย รวมถึงช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันส่วนเกินที่สะสมในหลอดเลือด ที่อาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ดังนั้น จึงควรออกกำลังกายวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ เช่น วิ่งเหยาะ ๆ เดินเร็ว เต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายโดยเน้นรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักผลไม้ ธัญพืช เมล็ดพืช พืชตระกูลถั่ว และควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนและมีไขมันต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมันและไม่ติดหนัง นมไขมันต่ำ เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างครบถ้วน
- ควบคุมน้ำหนัก ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ค่าดัชนีมวลกาย คือ 18.5-22.90 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่แสดงถึงความสมส่วนและสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย เพราะอาจช่วยควบคุมภาวะสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาหัวใจที่ส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดหยุดทำงานได้
- ควบคุมภาวะสุขภาพของตนเองไม่ให้รุนแรงขึ้น เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือด
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่อาจทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หัวใจตีบตัน ความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็วขึ้นได้
- จัดการกับความเครียด เนื่องจากความเครียดอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความดันโลหิตและการทำงานของหัวใจ จึงควรจัดการกับความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำงานอดิเรก ฟังเพลง เต้น ร้องเพลง พูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อน
[embed-health-tool-bmi]