backup og meta

วิธี ป้องกัน โรคหัวใจ สำหรับผู้สูงอายุ ควรทำอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์ · โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    วิธี ป้องกัน โรคหัวใจ สำหรับผู้สูงอายุ ควรทำอย่างไร

    วิธี ป้องกัน โรคหัวใจ สำหรับผู้สูงอายุ อาจเป็นวิธีที่คล้ายคลึงกับวิธีป้องกันโรคหัวใจทั่วไป แต่ผู้สูงอายุเป็นวัยที่อาจต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเมื่ออายุเพิ่มขึ้น สุขภาพร่างกายอาจอ่อนแอลง หรือบางคนอาจมีภาวะสุขภาพอื่น ๆ รุมเร้าก็อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การทำงานและความแข็งแรงของหัวใจและหลอดเลือดก็อาจเสื่อมสภาพตามอายุ ดังนั้น การสังเกตสัญญาณเตือนของโรค และการดูแลตัวเอง จึงอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจในผู้สูงอายุได้

    แนวโน้มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจของผู้สูงอายุ

    ผู้ที่มีอายุประมาณ 65 ปีขึ้นไป อาจมีแนวโน้มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจล้มเหลว และหัวใจเต้นผิดปกติ เนื่องจากระบบการทำงานและความแข็งแรงของหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อ ไต ปอด อาจเสื่อมสภาพตามอายุ จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายลดลง และอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจในผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

    วิธี ป้องกัน โรคหัวใจ สำหรับผู้สูงอายุ

    ผู้สูงอายุเป็นวัยที่อาจต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอลงตามอายุ วิธีป้องกันโรคหัวใจสำหรับผู้สูงอายุจึงอาจทำได้ ดังนี้

    1. รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ

    อาหารเป็นปัจจัยหลักที่อาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้หากเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจทำให้ความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลสูงขึ้น และอาจทำให้เส้นเลือดแดงตีบเนื่องจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด

    ผู้สูงอายุจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย มีสารอาหารครบถ้วน เส้นใยสูง เคี้ยวง่าย ย่อยง่ายและดูดซึมง่าย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม เช่น

    • ผักทุกชนิดที่ผ่านการปรุงสุกจนนิ่มและเคี้ยวง่ายขึ้น
    • ผลไม้น้ำตาลน้อย เช่น แอปเปิ้ล องุ่น มะละกอ กล้วยสุก ส้ม
    • ธัญพืชไม่ขัดสีที่ผ่านการปรุงสุกจนนิ่ม เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ถั่วต่าง ๆ ข้าวโอ๊ต
    • โปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาดีน ปลาแมคเคอเรล ไข่ ตับ นมและผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ
    1. ออกกำลังกายและขยับร่างกายมากขึ้น

    ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ โดยสามารถแบ่งเป็นประมาณ 20 นาที/วัน เพื่อให้สามารถออกกำลังกายได้ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ หรืออาจแบ่งเวลาออกกำลังกายตามความสะดวกเพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุเครียดและเหนื่อยล้าจนเกินไป

    ผู้สูงอายุสามารถเริ่มต้นการออกกำลังกายหรือขยับร่างกายด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น เต้น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน รำไทเก็ก ทำสวน ทำงานบ้าน เพื่อให้ร่างกายได้ขยับ และทำให้ร่างกายแข็งแรง รวมถึงช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และช่วยเพิ่มการสูบฉีดเลือดที่อาจช่วยให้หัวใจแข็งแรง

    อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุควรเข้าพบคุณหมอเพื่อขอคำปรึกษาในการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพที่อาจต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและป้องกันไม่ให้อาการของโรครุนแรงขึ้น

    1. จัดการกับความเครียด

    ความเครียดเรื้อรังในผู้สูงอายุอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและสุขภาพหัวใจ อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดตีบตัน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ นอกจากนี้ ความเครียดยังอาจเชื่อมโยงกับคุณภาพการนอนหลับที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของปัญหาสุขภาพหัวใจ

    ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงควรจัดการความเครียดด้วยกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น เดินเล่น นั่งสมาธิ ดูหนัง พูดคุยกับคนในครอบครัว เล่นกับสัตว์เลี้ยง

    1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

    ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ควรนอน 7-8 ชั่วโมง/วัน เพื่อให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เนื่องจากในระหว่างการนอนหลับร่างกายจะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและปรับปรุงระบบต่าง ๆ ในร่างกาย นอกจากนี้ การนอนหลับที่สั้นหรือนานเกินไปอาจเชื่อมโยงกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหัวใจ เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย น้ำหนักตัว ความดันโลหิต การอักเสบของร่างกาย ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจในผู้สูงอายุ

    1. งดการสูบบุหรี่และลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    ผู้สูงอายุควรงดการสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สามารถป้องกันได้ โดยสารเคมีในควันบุหรี่อาจทำให้ผนังหลอดเลือดแดงอ่อนแอ หัวใจทำงานหนักขึ้น และอาจทำให้เกิดปัญหาหัวใจตีบตันได้ ดังนั้น หากหัวใจและหลอดเลือดที่อ่อนแอลงตามอายุได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย

    นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ควรดื่มเกิน 10 แก้ว/สัปดาห์ หรือ 100 กรัม/สัปดาห์ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้การทำงานของหัวใจแย่ลง ความดันโลหิตสูงขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวาย

  • ตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ

  • การตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่สำคัญม เนื่องจากผู้สูงอายุมีร่างกายที่อ่อนแอ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ง่าย ดังนั้น การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีจึงอาจเป็นวิธีที่ช่วยตรวจสอบความผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกายที่อาจเกิดขึ้น เพื่อจะได้ป้องกันหรือเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

    นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรสังเกตอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ เจ็บที่หน้าอกด้านซ้าย วิงเวียนศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของภาวะผิดปกติของหัวใจ ดังนั้น หากพบอาการเหล่านี้ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจร่างกายทันที

    1. จัดการกับปัญหาสุขภาพ

    ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ควรรับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด  รวมถึงรักษาสุขภาพและเข้าพบคุณหมอตามนัดหมายอยู่เสมอ เพื่อควบคุมอาการของโรคไม่ให้ลุกลามหนักขึ้น เนื่องจากปัญหาสุขภาพเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์

    โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา