โรคหัวใจเกิดจากอะไร อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย โรคหัวใจ หมายถึง โรคและภาวะต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยอาจมีปัจจัยบางประการที่ทำให้เสี่ยงเกิดโรคหัวใจง่ายขึ้น เช่น อายุ พันธุกรรม เพศ รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม โรคนี้อาจป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันให้ดีต่อสุขภาพ ลดการรับประทานอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม
โรคหัวใจเกิดจากอะไร
โรคหัวใจ หมายถึง โรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สามารถแบ่งย่อยได้หลายกลุ่มโรค โดยมีสาเหตุของโรคที่แตกต่างออกไปตามชนิดของโรค อาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ที่พบได้บ่อย ดังนี้
โรคที่เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis Cardiovascular Disease) แบ่งออกเป็น 3 โรค ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดส่วนปลาย เป็นโรคที่เกิดจากการมีคราบไขมันสะสมอยู่ในหลอดเลือดแดง จนทำให้หลอดเลือดอุดตัน ส่งผลเลือดไหลเวียนไปยังงอวัยวะต่าง ๆ ลดลง ทำให้ได้รับออกซิเจนและสารอาหารน้อยกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ไม่ค่อยออกกำลังกาย มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน สูบบุหรี่เป็นประจำ
โรคลิ้นหัวใจ (Heart Valve Disease) เป็นโรคที่เกิดจากลิ้นหัวใจซึ่งทำหน้าที่กั้นหัวใจแต่ละห้องออกจากกันและควบคุมการไหลเวียนของหัวใจทั้ง 4 สี่ห้องทำงานผิดปกติ โรคในกลุ่มโรคลิ้นหัวใจ ได้แก่ โรคลิ้นหัวใจรั่ว (Heart Valve Regurgitation) ที่ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท ทำให้เลือดไหลย้อนกลับ หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือด และโรคลิ้นหัวใจตีบ (Stenosis) ที่ลิ้นหัวใจมีหินปูนสะสมจนหนาขึ้นและเปิดได้น้อยลง ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจอาจเกิดจากโรคไข้รูมาติก โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจวาย ภาวะความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพตามอายุ เป็นต้น
โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) เป็นโรคที่เกิดจากพัฒนาการของหัวใจผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทำให้อวัยวะไม่สมบูรณ์และทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อาจทำให้ผนังหัวใจรั่วหรือโครงสร้างหัวใจผิดปกติ สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิตของมารดา เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
โรคเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardial Disease) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติบริเวณเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มหัวใจ ที่พบบ่อยได้แก่ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคในกลุ่มโรคเยื่อหุ้มหัวใจมักเกิดจากการติดเชื้อหลังผ่าตัด การบาดเจ็บที่เยื่อหุ้มหัวใจ การติดเชื้อไวรัส อาการแทรกซ้อนจากโรค เช่น โรคลูปัส โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โรคกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiomyopathy) เป็นโรคที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากหลอดเลือดอุดตัน ส่งผลให้หลอดเลือดแดงตีบ จนทำให้หัวใจหนาขึ้น ยืดออก แข็งตัว หรืออ่อนแอจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ อาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม การดื่มแอลกอฮอล์ การติดเชื้อไวรัส เป็นต้น โรคในกลุ่มโรคกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่าภาวะหัวใจวาย
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Heart arrhythmia) เป็นภาวะที่จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ คือเต้นช้าหรือเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เองหรือพัฒนามาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคลิ้นหัวใจตีบ ภาวะเครียดจัดหรือเครียดสะสม โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงพฤติกรรมหรือภาวะสุขภาพบางประการ เช่น ใช้ยาเสพติด บริโภคคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์มากเกินไป
ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เป็นโรคหรือภาวะที่ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่เพียงพอต่อการทำงานของร่างกาย โดยสาเหตุเกิดจากโรคต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และส่วนมากมักเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ก็อาจเกิดจากโรคอื่นได้ เช่น โรคไทรอยด์ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ อาจมีดังนี้
- อายุ อายุเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพหัวใจเป็นอย่างมาก เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนต่าง ๆ ของหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ลิ้นหัวใจ จะอ่อนแอลง หลอดเลือดแดงเสียหายและตีบตันได้ง่ายขึ้น ผนังกล้ามเนื้ออาจหนาขึ้นจนขาดความยืดหยุ่น ส่งผลให้หัวใจบีบตัวได้น้อยลง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
- เพศ เพศชายมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากเพศหญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีอิทธิพลต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะทุกส่วน ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต จึงอาจช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของหัวใจและหลอดเลือดได้ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงอายุที่รังไข่หยุดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว ผู้ที่มีพ่อ พี่ชาย หรือน้องชายเป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 55 ปี และมีแม่ พี่สาว น้องสาว เป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 65 ปี จะเสี่ยงเกิดโรคหัวใจมากขึ้น
- การสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่อาจทำให้หลอดเลือดหดตัว และคาร์บอนมอนอกไซด์ก็สามารถทำลายเยื่อบุชั้นในของหลอดเลือดหัวใจได้ นอกจากนี้ ภาวะหัวใจวายยังพบในผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบด้วย
- การรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล ไขมัน คอเลสเตอรอล ในปริมาณสูงเป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้
- ความดันโลหิตสูง เมื่อระดับความดันโลหิตสูงอาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวและหนาขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดตีบตัน และไหลเวียนเลือดได้ช้าลง จนหัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือด และอาจนำไปสู่โรคหัวใจได้ในที่สุด
- โรคเบาหวาน เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจากโรคเบาหวานสามารถทำลายหลอดเลือดและเส้นประสาทที่ควบคุมหัวใจและหลอดเลือด จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้
- โรคอ้วน โรคอ้วนทำให้มีไขมันสะสมในหลอดเลือดแดงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน จนเกิดโรคหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจวาย
- ความเครียด เมื่อเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) มากขึ้น ฮอร์โมนนี้จะไปเพิ่มระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ น้ำตาลในเลือด และความดันโลหิตสูง ทั้งยังทำให้เกิดคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
การดูแลตัวเองเพื่อสุขภาพหัวใจที่ดี
การดูแลตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตดังวิธีต่อไปนี้ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมอีกด้วย
สิ่งที่ควรทำ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายและได้คุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน
- รับประทานวิตามินและแร่ธาตุจากผักและผลไม้ เช่น กระเทียม แตงกวา มะเขือเทศ อะโวคาโด ฝรั่ง แอปเปิ้ล รวมไปถึงธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ซึ่งจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต ทั้งยังปรับปรุงการทำงานของหลอดเลือดด้วย
- รับประทานอาหารที่มีโปรตีน เช่น ปลา อาหารทะเล ถั่ว ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมันและไม่ติดหนัง ซึ่งอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต และช่วยรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 7-10 แก้ว/วัน เนื่องจากระดับของเหลวที่เพียงพอต่อความต้องการ จะช่วยให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดความเครียดของกล้ามเนื้อได้
- รักษาระดับคอเลสเตอรอล ระดับคอเลสเตอรอลที่เหมาะสมอาจแตกต่างกันไปตามอายุและภาวะสุขภาพโดยรวม ดังนี้
- คอเลสเตอรอลโดยรวม ควรน้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- คอเลสเตอรอลดี (HDL) ควรมากกว่า 60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- คอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) ควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ไตรกลีเซอไรด์ ควรน้อยกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้มากขึ้น อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ ระดับและระยะเวลาในการออกกำลังกายที่เหมาะสมอาจมีดังนี้
- การออกกำลังกายแบบแอโรบิกในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น เดินเร็ว เล่นเทนนิส ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์
- การออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นสูง (Vigorous exercise) เช่น วิ่งเร็ว ปั่นจักรยานเร็ว เล่นบาสเกตบอล อย่างน้อย 75 นาที/สัปดาห์
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
- รับประทานอาหารไขมันสูง อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และคอเลสเตอรอลสูง เช่น หมูติดมัน เบคอน หมูกรอบ แหนม ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง กะทิ มาการีน อาจไปเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดและลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี จนทำให้เสี่ยงเกิดโรคหัวใจ
- สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่และการหายใจรับควันบุหรี่มือสองเข้าสู่ร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่สูบบุหรี่และไม่อยู่ในพื้นที่ที่มีควันบุหรี่
- มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ผู้ที่มักนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน เช่น นั่งทำงาน นั่งดูโทรทัศน์ อาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ง่ายกว่า อีกทั้งการไม่ขยับร่างกายหรือไม่ค่อยออกกำลังกายยังทำให้ภาวะทางสุขภาพที่เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง แย่ลงได้ด้วย
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำอาจทำให้ระดับความดันโลหิตและไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจ
[embed-health-tool-heart-rate]