Palpitation คือ อาการใจสั่น ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อหัวใจเต้นเร็วหรือแรงกว่าปกติ อาจมีสาเหตุมาจากความเครียด ออกกำลังกายหนัก ใช้ยาบางชนิด หรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง โดยทั่วไปอาการใจสั่นไม่เป็นอันตราย แต่บางกรณีอาจเป็นอันตรายหากอาการใจสั่นเกิดจากภาวะทางสุขภาพร้ายแรง เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ จึงควรเข้าพบคุณหมอหากอาการใจสั่นเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมาก
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
Palpitation คืออะไร
อาการใจสั่น หรือ Palpitation คือ อาการที่เกิดจากจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ เนื่องจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าภายในหัวใจ ที่ทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะและมีอาการใจสั่นเกิดขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปอาการใจสั่นเพียงเล็กน้อยเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม อาการใจสั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะร้ายแรงของหัวใจจึงควรเข้าพบคุณหมอหากอาการรุนแรงขึ้น
อาการ
อาการ Palpitation
อาการใจสั่นอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย ดังนี้
- ใจสั่นบ่อย ๆ
- อาจรู้สึกคล้ายใจหาย
- หัวใจเต้นเร็วเกินไป
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ และไม่สม่ำเสมอ
บางคนอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติรุนแรงร่วมด้วย เช่น
- เหงื่อออกผิดปกติ
- หายใจถี่รุนแรง
- เจ็บหน้าอก
- วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
สาเหตุ
สาเหตุของ Palpitation
อาการใจสั่นโดยทั่วไปอาจไม่เป็นอันตราย และอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- อายุที่มากขึ้น
- การตอบสนองทางอารมณ์รุนแรง เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การตื่นตระหนก
- ภาวะทางสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล
- การทำกิจกรรม การเล่นกีฬา หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก
- การใช้สารกระตุ้น เช่น คาเฟอีน นิโคติน โคเคน แอมเฟตามีน ยาแก้หวัด
- อาการไข้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ วัยหมดประจำเดือน
- ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไปหรือน้อยเกินไป
- ความดันโลหิตต่ำ
บางกรณีอาการใจสั่นอาจเกิดจากภาวะร้ายแรง เช่น ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป เป็นภาวะที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วมากและเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นสาเหตุร้ายแรงที่จำเป็นต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา
ภาวะแทรกซ้อน
อาการใจสั่นที่เกิดจากโรคหัวใจอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
- เป็นลม หากอาการใจสั่นเกิดขึ้นร่วมกับอาการหัวใจเต้นเร็ว อาจส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงและสามารถทำให้เป็นลมได้
- หัวใจหยุดเต้น อาการใจสั่นอาจเกิดจากปัญหาการเต้นของหัวใจที่สามารถทำให้หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้
- โรคหลอดเลือดสมอง หากอาการใจสั่นเกิดจากภาวะที่หัวใจห้องบนสั่น เลือดจะรวมตัวกันเป็นลิ่มเลือด ซึ่งอาจอุดหลอดเลือดสมองจนทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจลดการสูบฉีดเลือดของหัวใจ จนทำให้หัวใจล้มเหลวได้
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัย Palpitation
หากอาการใจสั่นเกิดจากหัวใจเต้นผิดปกติหรือภาวะหัวใจอื่น ๆ คุณหมออาจพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจในขณะพักผ่อนและขณะออกกำลังกาย เพื่อดูกระแสไฟฟ้าในหัวใจและจังหวะการเต้นของหัวใจ
- การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว (Holter Monitoring) เป็นอุปกรณ์แบบพกพาเพื่อบันทึกอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจในระหว่างทำกิจกรรมประจำวันในช่วงระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง ซึ่งสามารถตรวจหาอาการใจสั่นได้
- เอกซเรย์ทรวงอก เพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของปอดที่อาจมาจากปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
การรักษา Palpitation
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการใจสั่น ส่วนใหญ่อาการใจสั่นอาจหายเองได้โดยไม่ต้องรักษาโดยคุณหมออาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการใจสั่น ดังนี้
- ลดความเครียดด้วยการผ่อนคลาย เช่น ทำสมาธิ โยคะ ไทเก็ก หายใจลึก ๆ ใช้น้ำมันหอมระเหย
- หลีกเลี่ยงสารกระตุ้น เช่น กาแฟ ชา คาเฟอีน เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงยาเสพติด และยาบางชนิด เช่น โคเคน นิโคติน แอมเฟตามีน ยาแก้หวัด
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับ Palpitation
การหลีกเลี่ยงปัจจัยและสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการเป็นวิธีที่อาจช่วยป้องกันอาการใจสั่นได้ นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังอย่างพอเหมาะประมาณ 30 นาที/วัน รวมถึงจัดการกับความเครียด และนอนหลับให้เพียงพอ อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจที่ช่วยป้องกันอาการใจสั่น และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้