backup og meta

ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาการปวดกล้ามเนื้อ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาการปวดกล้ามเนื้อ

อาการปวดกล้ามเนื้อ ถือเป็นความอาการเจ็บปวดที่พบมากที่สุดในคนทุกเพศ ทุกวัย คุณเคยรู้หรือไม่ว่า ร่างกายคนเราประกอบด้วยกล้ามเนื้อถึง 650 มัดที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ช่วยในการทรงตัวและปรับเปลี่ยนท่าทาง รวมทั้งนำพาเลือดและสารอาหารไปเป็นพลังงานไหลเวียนหล่อเลีี้ยงทั่วร่างกาย

อาการปวดกล้ามเนื้ออาจมีตั้งแต่อาการปวดเล็กน้อยถึงขั้นรุนแรง สามารถหายเองได้ในระยะเวลาสั้นๆ หรือคงอยู่นานหลายเดือน และร่างกายทุกส่วนประกอบด้วยกล้ามเนื้อ อาการปวดกล้ามเนื้อจึงอาจเกิดขึ้นได้เกือบทุกที่ ทั่วทั้งร่างกาย วันนี่้เราจึงรวบรวม ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาการปวดกล้ามเนื้อ มาฝากกัน

ส่วนประกอบของกล้ามเนื้อมีอะไรบ้าง

ในการทำความเข้าใจกับอาการปวดกล้ามเนื้อ คุณควรทราบว่ากล้ามเนื้อของคุณประกอบด้วยอะไรบ้าง กล้ามเนื้อคนเราประกอบด้วย เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ที่รวมถึงเอ็นยึด เอ็นกล้ามเนื้อ และผังผืด โดยกล้ามเนื้อสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

  • กล้ามเนื้อลาย (Skeletal muscle) กล้ามเนื้อเหล่านี้เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ (Voluntary) หรืออยู่ภายใต้การควบคุมของคุณเอง กล้ามเนื้อประเภทนี้ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ตามปกติ กล้ามเนื้อประเภทนี้จะยึดกระดูกสองส่วนบริเวณข้อต่อเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้การเคลื่อนที่อย่างราบรื่นและง่ายดายขึ้น
  • กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจ (Involuntary) หรือนอกเหนือควบคุมของคุณ กล้ามเนื้อประเภทนี้คือ กล้ามเนื้อของอวัยวะภายในทั้งหมด ของคุณ กล้ามเนื้อเหล่านี้จะทำงานโดยการหดตัวเพื่อนำพาสารต่างๆ ให้เคลื่อนผ่านอวัยวะ กล้ามเนื้อเรียบจะแตกต่างจากกล้ามเนื้อลาย ตรงที่ว่าจะไม่มีลักษณะเป็นเส้นลาย
  • กล้ามเนื้อหัวใจ ถือเป็นกล้ามเนื้อที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ หรือเรียกอีกอย่างว่า กล้ามเนื้ออิสระ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่พบได้ในหัวใจเท่านั้น กล้ามเนื้อหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย เพื่อส่งสารอาหารและพลังงานไปหล่อเลี้ยงอวัยะต่างๆ เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจหดตัว คุณจะรู้สึกถึงการเต้นของหัวใจนั่นเอง

อาการปวดกล้ามเนื้อที่พบบ่อยที่สุดปกติเป็นการเจ็บปวดที่เกิดกับกล้ามเนื้อลายของคุณ

สาเหตุของอาการปวดกล้ามเนื้อ

อาการปวดกล้ามเนื้อเกิดขึ้นเมื่อเกิดความตึงเครียด แรงตึง หรือการฉีกขาดภายในกล้ามเนื้อ สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้งานหนักเกินไปหรือการได้รับบาดเจ็บจากกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือ ออกกำลังกาย อาจเกิดขึ้นเมื่อคุณไปที่ออกกำลังกายยิม เล่นกีฬา หรือแม้แต่เมื่อทำงานบ้านก็ตาม การได้รับบาดเจ็บจากกล้ามเนื้อฉีกเพียงเล็กน้อย หรือเกิดขึ้นซ้ำๆ อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดที่กล้ามเนื้อ แต่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น

ความเจ็บปวดกล้ามเนื้อในบางกรณี อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ อาการป่วย หรือผลข้างเคียงจากยา ในกรณีดังต่อไปนี้

  • การใช้ยาบางประเภท รวมทั้งสารยับยั้ง ACE (เช่น lisinopril, enalapril หรือ captopril) เพื่อการลดความดันโลหิต โคเคนและยาสแตติน (เช่น atorvastatin หรือ simvastatin) เพื่อการลดระดับคอเลสเตอรอล
  • โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis) โรคอักเสบที่ส่งผลกับผิวหนังและเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ
  • ความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลท์ เช่น โปแตสเซียมหรือแคลเซียมน้อยเกินไป
  • ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) หรือภาวะความผิดปกติที่ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่ทำให้ความเจ็บปวดแพร่กระจาย
  • การติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งไข้หวัด โรคไลม์ มาลาเรีย ฝีในกล้ามเนื้อ โปลิโอ โรคไข้พุพองเทือกเขาร็อกกี (Rocky Mountain spotted fever) และโรคพยาธิทริคิโนซิส (พยาธิตัวกลม)
  • โรคลูปัส (Lupus) โรคภูมิแพ้ตนเองที่ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังและข้อต่อ
  • โรคโพลีมัยแอลเกีย รูมาติก้า (Polymyalgia rheumatica) โรคอักเสบที่ทำให้กล้ามเนื้อปวดและติดแข็ง
  • โรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis) เป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ
  • ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) เป็นการสลายของเส้นใยกล้ามเนื้อ

จะต้องแจ้งให้แพทย์ของคุณทราบเมื่อคุณเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อที่ไม่หายไปเอง อาการปวดกล้ามเนื้ออาจเป็นสัญญาณแสดงของปัญหาที่ซ่อนอยู่

การวินิจฉัยและตรวจอาการปวดกล้ามเนื้อ

เมื่อความเจ็บปวดของคุณรุนแรงมากกว่าเดิม ควรที่จะพบคุณหมอเพื่อระบุหาต้นเหตุ โดยแพทย์จะขอให้คุณอธิบายลักษณะของอาการปวดนั้นๆ แล้วจึงจะสามารถแนะนำการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณได้ โดยคำถามทั่วไปที่แพทย์อาจซักถามคุณ ได้แก่

  • ความรู้สึกเจ็บนั้นมาจากไหน
  • รู้สึกปวดแปลบหรือปวดตื้อๆ
  • คุณรู้สึกเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน หรือปวดมากขึ้นในตอนกลางคืน หรือในระหว่างวัน
  • ระดับของความเจ็บปวดที่คุณรู้สึก (เล็กน้อย ปานกลางหรือรุนแรง)
  • คุณได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยใดๆ เมื่อไม่นานมานี้หรือไม่
  • คุณเล่นกีฬาอะไรหรือไม่
  • คุณมีกิจกรรมเคลื่อนไหวระหว่างวันมากน้อยแค่ไหน

การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ

อาการปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อยถึงปานกลางที่เกิดขึ้นในระหว่างทำกิจกรรมอาจสามารถรักษาได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพบหมอ ความเจ็บปวดกล้ามเนื้อที่เกิดจากการใช้งานมากไป หรือเกิดการฉีกขาดมักมีอาการดีขึ้นจากการรักษาเยีบวยาด้วยตนเอง โดยแนะนำให้คุณปฏิบัติตัวขั้นต้นตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • หยุดพัก
  • ประคบถุงน้ำแข็งบริเวณที่เจ็บปวดนาน 20 นาที โดยทำซ้ำหลายๆ ครั้งต่อวัน
  • ใช้ผ้าพันรัดเพื่อลดการบวม
  • ยกเท้าขึ้นสูงเพื่อลดอาการบวม

อย่างไรก็ตาม อาการปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงอาจต้องการการดูแลจากแพทย์โดยทันที ถ้าคุณมีอาการใดๆ ดังต่อไปนี้ คุณควรพบหมอ

  • เมื่ออาการเจ็บปวดไม่หายไปหลังจากใช้วิธีการเยียวยาตัวเองแล้วสองสามวัน
  • อาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นพร้อมผื่น
  • อาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นจากโดนเห็บกัด
  • อาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นทันทีหลังเริ่มใช้ยาชนิดใหม่
  • เวียนศีรษะหรือมีปัญหากับการหายใจ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างรุนแรง
  • ไข้สูงและคอแข็ง

ถ้าคุณมีอาการปวดกล้ามเนื้อควบคู่กับอาการใดๆ ดังต่อไปนี้ ถือเป็นกรณีฉุกเฉิน ควรไปพบคุณหมอทันที

  • เริ่มเกิดอาการบวมน้ำอย่างฉับพลัน และ/หรือปริมาณปัสสาวะลดลง
  • กลืนลำบาก
  • อาเจียนและหรือมีไข้
  • หายใจไม่ทัน
  • ภาวะติดแข็งที่บริเวณคอ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ไม่สามารถขยับบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บของร่างกาย

เคล็ดลับในการจัดการอาการปวดกล้ามเนื้อ

ถ้าคุณเล่นกีฬาหรือทำงานหนักเป็นประจำ มีหลายวิธีในการป้องกันและควบคุมความเจ็บปวดกล้ามเนื้อ ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับที่คุณสามารถนำไปลองทำได้

  • ยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลังออกกำลังกายเสมอ
  • อย่าข้ามขั้นตอนการอบอุ่นร่างกายและผ่อนคลายกล้ามเนื้อในการออกกำลังกาย
  • ดื่มน้ำมากๆ ก่อน ในระหว่าง และหลังจากการออกกำลังกาย
  • ถ้าคุณทำงานท่าเดียวเกือบทั้งวัน เช่น การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ควรยืดกล้ามเนื้อในทุกๆ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
  • การออกกำลังกายตามปกติสามารถช่วยฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อได้ หลังจากหายเจ็บ โดยคุณสามารถเริ่มจากการออกกำลังกายง่ายๆ เช่น การเดิน ขี่จักรยาน และว่ายน้ำ
  • พบนักกายภาพบำบัดซึ่งสามารถสอนให้คุณเหยียดกล้ามเนื้อ การฝึกกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน และการเต้นแอโรบิก ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นเสมอ และไม่เจ็บกล้ามเนื้อ
  • เริ่มต้นช้าๆ และเพิ่มระดับการออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมการเต้นแอโรบิกที่มีแรงกระแทกสูง หรือการยกเวทเมื่อยังมีอาการบาดเจ็บหรือรู้สึกเจ็บอยู่
  • อย่าลืมนอนหลับให้เพียงพอ และพยายามลดความเครียดลง การเล่นโยคะและการนั่งสมาธิเป็นวิธีที่ดีเยี่ยมที่จะช่วยให้คุณนอนหลับและผ่อนคลาย

อาการปวดกล้ามเนื้อโดยทั่วไปไม่ใช่อาการรุนแรง แต่สามารถจัดการและป้องกันได้อย่างง่ายดาย อย่าลืมใช้วิธีป้องกันเมื่อคุณต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้งานร่างกายหนัก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Muscle aches. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/003178.htm. Accessed September 7, 2016.

Muscle pain. http://www.mayoclinic.org/symptoms/muscle-pain/basics/definition/sym-20050866. Accessed September 7, 2016.

Muscle Aches. http://www.healthline.com/health/muscle-aches. Accessed September 7, 2016.

How to Manage Sore Muscles and Joint Pain. http://www.webmd.com/fitness-exercise/art-sore-muscles-joint-pain. Accessed September 7, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/01/2021

เขียนโดย พิมพร เส็นติระ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีสร้างกล้ามเนื้อสำหรับคนกินมัง สายวีแกน ไร้เนื้อสัตว์ก็มีกล้ามได้

อาหารทำลายกระดูก ที่คุณควรระวัง หากอยากให้กระดูกแข็งแรง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พิมพร เส็นติระ · แก้ไขล่าสุด 31/01/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา