backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

กลากที่หนังศีรษะ สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์ · แก้ไขล่าสุด 20/07/2022

กลากที่หนังศีรษะ สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

กลากที่หนังศีรษะ หรือชันนะตุ (Tinea Capitis) เป็นการติดเชื้อราที่รากผม เส้นผม และหนังศีรษะ ทำให้เกิดอาการคัน ผมร่วงเป็นหย่อม หนังศีรษะลอก สามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ผ่านการสัมผัสบริเวณที่ติดเชื้อหรือการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หวี ผ้าเช็ดผม โดยทั่วไป สามารถรักษากลากได้ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อราร่วมกับการดูแลรักษาความสะอาดร่างกายและของใช้โดยรอบ

คำจำกัดความ

กลากที่หนังศีรษะ คืออะไร

กลากที่หนังศีรษะ หรือเชื้อราบนหนังศีรษะ หรือที่เรียกว่า “ชันนะตุ” เป็นการติดเชื้อราที่รากผม เส้นผม และหนังศีรษะ โดยเชื้อราจะทำให้เกิดผื่นวงแหวนที่มีขอบชัดเจนที่หนังศีรษะ ตรงกลางผื่นจะเรียบ ส่วนตรงขอบผื่นจะนูน การติดเชื้อนี้ส่งผลต่อทั้งหนังศีรษะและเส้นผม มักทำให้เกิดอาการคัน ผมร่วงเป็นหย่อม หนังศีรษะลอกลักษณะคล้ายรังแค

กลากที่หนังศีรษะเป็นโรคติดเชื้อที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้จากการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น หวี ผ้าเช็ดตัว หมวก หมอน โรคนี้สามารถพบได้ทั่วไปในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุ 4-14 ปี

อาการ

อาการของ กลากที่หนังศีรษะ

อาการของกลากที่ศีรษะที่พบบ่อยที่สุด คือ มีผื่นคันบริเวณหนังศีรษะ ผมร่วงในบริเวณที่เป็นกลาก หนังศีรษะมีรอยแดง รอยด่าง หรือเป็นขุย และอาจสังเกตเห็นจุดดำบริเวณที่ผมร่วง หากปล่อยไว้ อาจทำให้กลากลุกลามเป็นวงกว้างได้

อาการอื่น ๆ ของโรคกลากมีดังนี้

  • ผมบาง
  • เจ็บหนังศีรษะ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • มีไข้ต่ำ
  • ในกรณีที่อาการรุนแรง อาจเกิดการบวมนูนที่เรียกว่า อาการหนังศีรษะเป็นก้อนนูน เป็นหนอง ซึ่งอาจทำให้เป็นรอยด่างบนศีรษะถาวรและเป็นแผลเป็นได้

    สาเหตุ

    สาเหตุของการเกิดกลากที่หนังศีรษะ

    กลากที่ศีรษะ เกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เจริญเติบโตในเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว เช่น เล็บมือ เส้นผม ผิวหนังชั้นนอก เชื้อรากลุ่มนี้ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิอุ่นและชื้นแฉะ จึงเจริญเติบโตได้ดีบริเวณผิวหนังที่เปียกชื้น หากอยู่ในบริเวณที่ประชากรหนาแน่น แออัด และมีระดับสุขอนามัยต่ำก็ส่งผลต่อให้โรคกลากแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น

    โรคกลากสามารถกระจายตัวได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก การติดโรคกลากอาจเกิดจากการสัมผัสผิวหนังของผู้ติดเชื้อ และการใช้อุปกรณ์ เช่น หวี ผ้าเช็ดผม ที่นอน ร่วมกับผู้เป็นโรคกลาก นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น แมว สุนัข ก็สามารถแพร่โรคกลากได้เช่นกัน ส่วนสัตว์ในฟาร์ม เช่น แพะ วัว ม้า หมู ก็เป็นพาหะของโรคได้ และมักไม่แสดงอาการของโรคด้วย

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกลากที่หนังศีรษะ

    • เด็กอายุระหว่าง 4-14 ปี มีแนวโน้มเป็นโรคกลากที่หนังศีรษะได้มากที่สุด
    • กลากบริเวณหนังศีรษะเกิดขึ้นบ่อยในแถบชุมชนเมืองที่มีระดับสุขอนามัยต่ำ ในกลุ่มประชากรที่อาศัยในชุมชนแอดอัด หรือในเขตสภาพอากาศร้อนชื้น
    • โรคอาจทวีความรุนแรงในกลุ่มผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคอ้วน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยเฉพาะระยะเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็ง

    การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยโรคกลากที่หนังศีรษะ

    คุณหมอมักตรวจวินิฉัยโรคกลากที่หนังศีรษะโดยใช้อุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า ไฟส่องตรวจเชื้อรา (Wood’s lamp) เพื่อส่องตรวจบริเวณหนังศีรษะและประเมินสัญญาณของการติดเชื้อรา

    คุณหมออาจเก็บตัวอย่างผิวหนังหรือเส้นผมไปส่งตรวจหาเชื้อราในห้องปฏิบัติการ โดยผู้ตรวจจะใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องตัวอย่างเส้นผมหรือผิวหนังว่ามีการติดเชื้อราหรือไม่ การตรวจหาเชื้อราจากตัวอย่างอาจใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์

    การรักษาโรคกลากที่หนังศีรษะ

    คุณหมอจะรักษากลากที่ศีรษะด้วยยาและแชมพู ดังต่อไปนี้

    ยาต้านเชื้อรา (Antifungal medication)

    เช่น ยากริซีโอฟูลวิน (griseofulvin) ยาเทอร์บินาฟีน ไฮโดรคลอไรด์ (terbinafine hydrochloride) โดยผู้ที่มีกลากที่หนังศีรษะต้องรับประทานยาติดต่อกัน 6 สัปดาห์ ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องร่วง ระคายเคืองกระเพาะอาหาร คุณหมอจึงอาจแนะนำรับประทานยาร่วมกับอาหารที่ไขมันสูง เช่น เนยถั่ว ไอศกรีม

    อาการข้างเคียงอื่น ๆ ของยากริซีโอฟูลวิน เช่น

    • ผิวหนังไวต่อแสงแดด
    • อาเจียน
    • อ่อนเพลีย
    • หน้ามืด
    • วิงเวียนศีรษะ
    • ปวดศีรษะ
    • มีผื่นคัน หรือลมพิษ

    อาการข้างเคียงอื่น ๆ ของยาเทอร์บินาฟีน ไฮโดรคลอไรด์ เช่น

    • ปวดท้อง
    • คันหนังศีรษะ
    • มีผื่นคัน หรือลมพิษ
    • สูญเสียการรับรสหรือการรับรสเปลี่ยนไป
    • ปวดศีรษะ
    • มีไข้
    • มีปัญหาเกี่ยวกับไต แต่พบได้ไม่บ่อยนัก

    แชมพูยา (Medicated shampoo)

    คุณหมออาจสั่งจ่ายแชมพูยาที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล (ketoconazole) หรือซีเลเนียมซัลไฟด์ (selenium sulfide) เพื่อป้องกันการแพระกระจายของเชื้อรา โดยทั่วไป ต้องใช้แชมพูยาดังกล่าว 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกัน 1 เดือน วิธีใช้แชมพูยา คือ ฟอกแชมพูยาทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วล้างออก อย่างไรก็ตาม แชมพูยาไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อราที่ทำให้เกิดกลาก จึงต้องใช้ร่วมกับยาสำหรับรับประทาน

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การดูแลตัวเองที่ช่วยจัดการโรคกลากที่หนังศีรษะ

    การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยจัดการกับกลากที่ศีรษะได้

    • สัตว์เลี้ยงและสมาชิกทุกคนในครอบครัวควรเข้ารับการตรวจและรักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนังหากจำเป็น เพื่อป้องกันการกลับมาติดเชื้อซ้ำ
    • สมาชิกภายในครอบครัวอาจเป็นพาหะของโรค คุณหมอจึงอาจแนะนำให้ใช้แชมพูยาเพื่อลดจำนวนสปอร์เชื้อราและป้องกันการกลับมาติดเชื้ออีก
    • ควรทำความสะอาดหวีด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือทางที่ดีควรใช้แปรงหวีผมอันใหม่ ไม่ควรใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว หวี หมวก ปลอกหมอน ผ่าห่ม ร่วมกัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์ · แก้ไขล่าสุด 20/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา