backup og meta

โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder)

โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder)

โรควิตกกังวลทั่วไป มีลักษณะเป็นความวิตกและความกังวลที่มากเกินไป และเพิ่มมากขึ้นโดยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน โดยไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจน

คำจำกัดความ

โรควิตกกังวลทั่วไป คืออะไร

โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized anxiety disorder หรือ GAD) มีลักษณะเป็นความวิตกและความกังวลที่มากเกินไป และเพิ่มมากขึ้นโดยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน โดยไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจน ผู้ที่มีอาการของโรควิตกกังวลทั่วไป มีแนวโน้มที่จะคิดในแง่ร้ายอยู่เสมอ และไม่สามารถหยุดวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพ เงิน ครอบครัว งาน หรือการเรียนได้ ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปนั้น ความกังวลมักเป็นเรื่องเกินจริง หรือไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นั้นๆ ชีวิตประจำวันกลายเป็นความกังวล ความกลัว และความหวาดวิตกอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดแล้ว ความกังวลก็เข้าครอบงำความคิดของผู้ป่วยมากเสียจนมีผลต่อการทำหน้าที่ประจำวัน ซึ่งได้แก่ การทำงาน การเรียน กิจกรรมทางสังคม และความสัมพันธ์ต่างๆ

พบได้บ่อยเพียงใด

โรควิตกกังวลทั่วไปเป็นโรควิตกกังวลที่พบได้มากที่สุดในผู้สูงอายุ ถึงแม้ว่าโรควิตกกังวลต่างๆ ในประชากรกลุ่มนี้ มักสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ เช่น การล้มหรืออาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน ผู้หญิงมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของโรควิตกกังวลทั่วไป

อาการทั่วไปของโรควิตกกังวลทั่วไป ได้แก่

  • ความกังวลและความตึงเครียดที่มากเกินไปและต่อเนื่อง
  • การมองปัญหาต่างๆ ที่ไม่เป็นความจริง
  • ความกระสับกระส่ายหรือความรู้สึก “กังวล’
  • ความรู้สึกหงุดหงิด
  • กล้ามเนื้อตึง
  • ปวดศีรษะ
  • มีเหงื่อออก
  • สมาธิสั้น
  • คลื่นไส้
  • จำเป็นต้องเข้าห้องน้ำบ่อย
  • รู้สึกเหนื่อย
  • มีปัญหาในการล้มหรือนอนหลับ
  • ตัวสั่น
  • ตื่นตระหนกได้ง่าย

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปมักเป็นโรควิตกกังวลอื่นๆ เช่น โรคแพนิคหรือโรคตื่นตระหนก (panic disorder) หรือโรคหวาดกลัว (phobias) โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder) โรคซึมเศร้า (clinical depression) หรือปัญหาอื่นๆ จากการใช้ยาเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการบางประการที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบหมอเมื่อใด

คุณควรไปพบหมอหากคุณมีอาการใดๆ ดังต่อไปนี้

  • คุณรู้สึกว่ากำลังกังวลมากเกินไป และความกังวลกำลังส่งผลต่อการทำงาน ความสัมพันธ์ หรือด้านอื่นๆ ของชีวิต
  • คุณรู้สึกซึมเศร้า มีปัญหาในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด หรือมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตอื่นๆ ร่วมกับความวิตกกังวล
  • คุณมีความคิดหรือพฤติกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการทำร้ายตนเอง ให้เข้ารับการรักษาฉุกเฉินทันที

ความกังวลอาจไม่หายไปได้เอง และอาจมีอาการแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป ให้พยายามเข้ารับการรักษาก่อนความวิตกกังวลมีความรุนแรง อาจเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าที่จะเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ

สาเหตุ

สาเหตุของโรควิตกกังวลทั่วไป

เช่นเดียวกับภาวะทางสุขภาพจิตหลายประการ สาเหตุที่แท้จริงของโรควิตกกังวลทั่วไปไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่ชัด แต่โรคนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมรวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโรควิตกกังวลทั่วไป

มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการสำหรับโรควิตกกังวลทั่วไป เช่น

  • ผู้ที่มีความหวาดกลัวหรือมีความคิดในแง่ลบหรือผู้ที่หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตราย อาจมีโอกาสที่จะเป็นโรควิตกกังวลทั่วไปได้มากกว่าผู้อื่น
  • โรควิตกกังวลอาจมีการถ่ายทอดในครอบครัว
  • เพศหญิง ผู้หญิงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวลทั่วไปค่อนข้างมากกว่าผู้ชาย

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรควิตกกังวลทั่วไป

เพื่อช่วยวินิจฉัยโรควิตกกังวลทั่วไป ผู้ดูแลสุขภาพของคุณอาจดำเนินการดังต่อไปนี้

  • ตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณเตือนว่า ความกังวลอาจเกี่ยวข้องกับโรคประจำตัว
  • ตรวจเลือดหรือปัสสาวะ หรือการตรวจอื่นๆ หากสงสัยว่าเป็นโรคหนึ่ง
  • สอบถามโดยละเอียดเกี่ยวกับอาการและประวัติสุขภาพ
  • ใช้แบบสอบถามทางจิตวิทยาเพื่อช่วยในการวินิจฉัย

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ระบุไว้ใน คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) ซึ่งเผยแพร่โดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) เพื่อวินิจฉัยภาวะทางจิต เอกสารคู่มือดังกล่าวยังมีการใช้โดยบริษัทประกันภัยเพื่อเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย

หลักเกณฑ์ DSM สำหรับโรควิตกกังวลทั่วไป ได้แก่

  • ความวิตกและความกังวลที่มากเกินไปเกี่ยวกับเหตุการณ์และกิจกรรมต่างๆ ในวันส่วนใหญ่ของสัปดาห์เป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือน
  • มีปัญหาในการควบคุมความรู้สึกกังวล
  • มีอาการอย่างน้อยสามประการดังต่อไปนี้ในผู้ใหญ่และมีอาการหนึ่งประการดังต่อไปนี้ในเด็ก ได้แก่ กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย สมาธิสั้น หงุดหงิด กล้ามเนื้อตึง หรือมีปัญหาในการนอน
  • ความวิตกหรือกังวลที่ทำให้เกิดความซึมเศร้าเป้นอย่างมากและส่งผลต่อชีวิตประจำวัน
  • ความวิตกกังวลที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะทางสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น โรคแพนิคกำเริบ (panic attacks) หรือภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง (post-traumatic stress disorder: PTSD) การใช้สารเสพติด หรือภาวะทางสุขภาพ

โรควิตกกังวลทั่วไปมักเกิดขึ้นร่วมกับความผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพจิตอื่นๆ ซึ่งสามารถส่งผลให้การวินิจฉัยและการรักษามีความท้าทายมากขึ้น ความผิดปกติบางประการที่มักเกิดขึ้นร่วมกับโรควิตกกังวลทั่วไป ได้แก่

  • ความกลัว
  • โรคแพนิคหรือโรคตื่นตระหนก (Panic disorder)
  • โรคซึมเศร้า (Depression)
  • การใช้สารเสพติด
  • ภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD)

การรักษาโรควิตกกังวลทั่วไป

วิธีการรักษาหลักสองประการสำหรับโรควิตกกังวลทั่วไป ได้แก่ การบำบัดทางจิต (psychotherapy) และการใช้ยา คุณอาจได้รับผลการรักษาได้มากที่สุดจากการใช้วิธีการรักษาร่วมกันทั้งสองประการ อาจต้องใช้การทดลองรักษาและมีความผิดพลาดเพื่อให้ได้วิธีการรักษาที่ได้ผลมากที่สุด

การบำบัดทางจิต (Psychotherapy)

ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการบำบัดด้วยการพูดคุย (talk therapy) หรือการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา (psychological counseling) การบำบัดทางจิตเป็นการเข้ารับการรักษากับนักบำบัด เพื่อลดอาการวิตกกังวลต่างๆ สามารถเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลสำหรับโรควิตกกังวลทั่วไป

การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy) เป็นการบำบัดทางจิตรูปแบบหนึ่งที่ได้ผลมากที่สุด สำหรับการรักษาโรควิตกกังวลทั่วไป โดยทั่วไปแล้ว ซึ่งเป็นการรักษาในระยะสั้น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมมุ่งเน้นการสอนทักษะเฉพาะเพื่อให้ค่อยๆ กลับไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่คุณได้หลีกเลี่ยงเนื่องจากความวิตกกังวล ด้วยกระบวนการดังกล่าวนี้ อาการต่างๆ จะดีขึ้นเมื่อการบำบัดในระยะแรกได้ผล

การใช้ยา

มีการใช้ยาหลายประเภทเพื่อรักษาโรควิตกกังวลทั่วไป ซึ่งรวมทั้งยาที่กล่าวถึงข้างล่างนี้ ให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์ ความเสี่ยง และอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

  • ยาต้านอาการซึมเศร้า (Antidepressants) ซึ่งได้แก่ ยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) และยากลุ่ม serotonin norepinephrine reuptake inhibitor (SNRI) เป็นยากลุ่มแรกที่ใช้ในการรักษา ตัวอย่างยาต้านอาการซึมเศร้าที่ใช้รักษาโรควิตกกังวล ได้แก่ ยาเอสไซทาโลแพรม (escitalopram) (Lexapro) ยาดูโลเซทีน (duloxetine) อย่างซิมบัลตา (Cymbalta) ยาเวนลาแฟ็กซีน (venlafaxine)อย่างเอฟเฟ็คซอร์ เอ็กซ์อาร์ (Effexor XR) และยาพาร็อกเซทีน (paroxetine) อย่างแพกซิล (Paxil) และเพเซวา (Pexeva) นอกจากนี้ แพทย์ที่ทำการรักษายังอาจแนะนำยาต้านอาการซึมเศร้าชนิดอื่นๆ อีกด้วย
  • ยาต้านความกังวล (anti-anxiety medication) ที่เรียกว่ายาบิวสไปโรน (buspirone) อาจใช้รักษาตามอาการ เช่นเดียวกับยาต้านอาการซึมเศร้าโดยส่วนใหญ่ ยาต้านความกังวลอาจใช้เวลาถึงหลายสัปดาห์เพื่อให้ได้ผลการรักษาอย่างเต็มที่
  • ในสถานการณ์ที่จำกัด แพทย์ที่ทำการรักษาอาจสั่งยาระงับประสาท (sedatives) หนึ่งชนิดเหล่านี้เพื่อบรรเทาอาการกังวลต่างๆ ตัวอย่างยาดังกล่าว ได้แก่ ยาอัลพราโซแลม (alprazolam) (Niravam, Xanax) ยาคลอร์ไดอาเซพ็อกไซด์ (chlordiazepoxide) อย่างลิเบรียม (Librium) ยาไดอาเซแพม (diazepam) อย่างแวเลียม (Valium) และยาลอราเซแพม (lorazepam) อย่างอะติแวน (Ativan) ยากลุ่มเบนโซไดอาเซพีน (Benzodiazepines) มักใช้สำหรับการบรรเทาความกังวลเฉียบพลันในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากยาดังกล่าวอาจทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ยาดังกล่าวจึงไม่เป็นตัวเลือกที่ดีหากคุณมีปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติด

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการปฏิบัติตนขั้นพื้นฐาน

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยจัดการโรควิตกกังวลทั่วไป

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยจัดการโรควิตกกังวลทั่วไปได้

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ให้คิดหากิจวัตรขึ้นใหม่เพื่อให้ออกกำลังกายได้ในวันส่วนใหญ่ของสัปดาห์ การออกกำลังกายเป็นสิ่งช่วยลดความเครียดที่ได้ผลมาก อาจช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้นและทำให้มีสุขภาพดี ให้เริ่มต้นอย่างช้าๆ และค่อยๆ เพิ่มจำนวนและความรุนแรงของกิจกรรมการออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาระงับประสาท (sedatives) อื่นๆ สารเหล่านี้ทำให้ความกังวลมีอาการแย่ลงได้
  • เลิกสูบบุหรี่และลดหรือเลิกดื่มกาแฟ ทั้งนิโคตินและคาเฟอีนสามารถทำให้ความกังวลมีอาการแย่ลงได้
  • ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เทคนิคที่มองเห็นได้ การทำสมาธิ และโยคะเป็นตัวอย่างของเทคนิคการผ่อนคลายที่สามารถบรรเทาความกังวลได้
  • ให้ความสำคัญกับการนอน ทำสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อให้มั่นใจว่าคุณนอนหลับอย่างเพียงพอเพื่อให้รู้สึกพักผ่อนเต็มที่ หากคุณนอนหลับไม่สนิท ให้ไปพบหมอ
  • รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การรับประทานที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น การให้ความสำคัญกับผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด และปลา อาจสัมพันธ์กับความกังวลที่ลดลง แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Generalized anxiety disorder. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/generalized-anxiety-disorder/basics/lifestyle-home-remedies/con-20024562. Accessed July 14, 2017.

Generalized Anxiety Disorder. http://www.webmd.com/anxiety-panic/guide/generalized-anxiety-disorder#1. Accessed July 14, 2017.

Facts & Statistics. https://www.adaa.org/about-adaa/press-room/facts-statistics. Accessed July 14, 2017.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรควิตกกังวล ผู้ป่วยมีทางทางเลือกการรักษาอย่างไรบ้าง

ภาวะวิตกกังวล หลังการสูญเสีย อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจมากกว่าที่คิด


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา