backup og meta

กินแก้เครียด เครียดแล้วต้องกิน รีบแก้ไขก่อนจะสายเกินไป!

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 25/06/2020

    กินแก้เครียด เครียดแล้วต้องกิน รีบแก้ไขก่อนจะสายเกินไป!

    อากาศร้อน ฝนตก รถติด ผลการเรียนไม่ดี โดนเจ้านายบ่น แต่ละวันมีสารพันปัญหากระทบจิตใจ ทำให้เราเครียดจนแทบทนไม่ไหว และคงไม่มีใครอยากให้ความเครียดอยู่กับเราตลอดไป แต่ละคนจึงต้องสรรหากิจกรรมแก้เครียด เช่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ เล่นเกม ฟังเพลง ท่องเที่ยว และที่ขาดไม่ได้คงเป็น “การกิน” ที่ถือเป็นวิธีแก้เครียดที่ใครหลายคนโปรดปราน แต่ใครที่ชอบ กินแก้เครียด ก็ต้องระวังเอาไว้ให้ดี เพราะหากเครียดเมื่อไหร่เป็นต้องกิน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณได้

    กินแก้เครียด… ทำไมเครียดแล้วต้องกิน

    เมื่อคนเราเครียด ร่างกายจะหลั่งคอร์ติซอล หรือที่เรียกกันว่าฮอร์โมนความเครียดออกมาเพื่อรับมือกับความเครียด แต่หากมีคอร์ติซอลมากเกินไป อาจทำให้มีปัญหาในการนอน วิตกกังวล รวมไปถึงทำให้อยากอาหารมากกว่าปกติได้ด้วย เมื่อเราหายเครียดคอร์ติซอลในร่างกายก็จะลดลงสู่ระดับปกติ แต่หากเรามีความเครียดสะสม เกรลิน (ghrelin) ซึ่งเป็นเปปไทด์ฮอร์โมนที่สร้างจากกระเพาะอาหารและรู้จักกันในชื่อของ “ฮอร์โมนความหิว” จะถูกหลั่งออกมามากขึ้น ทำให้เรารู้สึกอยากอาหารมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารที่มีรสชาติ หวาน เค็ม หรืออาหารไขมันสูง เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด เค้ก เป็นต้น

    ความเครียดนี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการกินแล้ว ยังสร้างปัญหาให้กับระบบเมตาบอลิซึม ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยลงอีกด้วย โดยผลการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำการศึกษากับกลุ่มอาสาสมัครหญิงระบุว่า หลังจากกินอาหารไขมันสูงไปแล้ว 7 ชั่วโมง อาสาสมัครกลุ่มที่มีอาการเครียดจากงานหรือปัญหาครอบครัวสามารถเผาผลาญพลังงานได้น้อยกว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ไม่เครียดถึง 104 กิโลแคลอรีเลยทีเดียว

    หิวจริงหรือกินเพราะเครียด สังเกตได้อย่างไร

    สัญญาณของอาการกินแก้เครียด สังเกตได้ง่ายๆ ดังนี้

    • กินโดยไม่รู้ตัว
    • กินเพราะไม่มีอะไรทำ
    • รู้สึกผิดหรือละอายใจทุกครั้งหลังกินเสร็จ
    • กินคนเดียว หรือกินอาหารในที่แปลกๆ เป็นประจำ เช่น จอดรถหน้าบ้านแล้วกินอาหารในรถ
    • พอมีเรื่องให้เครียด เช่น ทะเลาะกับแฟน ก็ต้องกิน แม้จะไม่หิวเลยก็ตาม
    • เวลาเครียด คุณจะรู้อยากกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น อยากกินช็อกโกแลตทุกครั้งที่เครียด
    • พอเห็นโฆษณาอาหารทางทีวีหรืออินเตอร์เน็ต ก็อยากออกจากบ้านไปกินอาหารนั้นทันที
    • เวลาที่คุณเครียด รู้สึกเบื่อๆ หรือแก้ปัญหาไม่ตก คุณมักจะกิน เพราะการกินทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น

    หากคุณมีพฤติกรรมข้างต้น แถมชอบกินอาหารในปริมาณมากๆ หรือมักจะกินจนแทบจะอาเจียน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าการกินแก้เครียดของคุณกำลังทำให้คุณเป็นโรคกินไม่หยุด ซึ่งถือเป็นปัญหาการกินร้ายแรงที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

    เครียดแล้วกิน พฤติกรรมนี้แก้ไขได้

    การยอมรับและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนอกจากจะช่วยควบคุมการกินแก้เครียดของคุณได้แล้ว ยังช่วยเปลี่ยนความเครียดของคุณเป็นพลังด้านบวกได้อีกด้วย หากคุณประสบกับปัญหากินแก้เครียดและอยากหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้

    • ค้นหาต้นตอความเครียด

    แต่ละคนมีต้นตอความเครียดที่นำไปสู่ปัญหากินแก้เครียดไม่เหมือนกัน บางคนกินเพราะเครียดเครื่องความรัก บางคนกินเพราะเครียดเรื่องงาน บางคนกินเพราะเครียดเรื่องครอบครัว เป็นต้น หากคุณหาต้นตอความเครียดของตัวเองเจอ ก็จะช่วยให้จัดการกับความเครียดได้ง่ายขึ้น โดยอาจจะบันทึกการกินอาหาร ที่ระบุว่าแต่ละวันคุณกินอาหารอะไร และมีความรู้สึกอย่างไรตอนกินอาหารนั้นๆ ก็อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยหาต้นตอความเครียดของคุณได้

  • หาวิธีคลายเครียดใหม่

  • เมื่อคุณพบต้นตอของความเครียด ซึ่งเป็นตัวการทำให้คุณกินเยอะกว่าเดิมแล้ว ก็ควรจัดระบบในการดูแลตัวเองเสียใหม่ เพื่อให้สุขภาพของคุณดียิ่งขึ้น และป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องกิน เมื่อต้องเผชิญกับความเครียด เช่น หากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานตึงเครียดมาก ลองชวนเพื่อนร่วมงานไปเดินเล่นหลังกินอาหารกลางวัน เพราะนอกจากจะช่วยจำกัดความเครียดได้แล้ว ยังช่วยเผาผลาญไขมันได้อีกด้วย หรือหากใครเครียดเพราะปัญหาที่บ้าน ลองปลีกตัวไปหามุมเงียบนั่งสมาธิ หรือสูดหายใจเข้าลึกๆ เพื่อให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายขึ้นก็ได้

    • ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน

    การออกกำลังกายถือเป็นวิธีคลายเครียดที่ได้ผลดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายแบบความเข้มข้นต่ำที่มุ่งเน้นด้านการหายใจ เช่น โยคะ พิลาทิส รวมไปถึงการเดินเล่นในสวนสาธารณะ ก็สามารถช่วยลดคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนเครียดได้ดีเช่นกัน

    • ลองจดบันทึก

    มีการศึกษาวิจัยที่พบว่า ประโยชน์สุขภาพอย่างหนึ่งของการจดบันทึกก็คือ ช่วยคลายเครียดได้เป็นอย่างดี ดังนั้น หากใครที่เครียดแล้วต้องคว้าอาหารที่ไม่มีประโยชน์เข้าปาก จนน้ำหนักตัวขึ้น หรือมีปัญหาสุขภาพ ลองเปลี่ยนมาคลายเครียดด้วยการคว้าปากกาจดบันทึกลงบนสมุด หรือในโทรศัพท์มือถือแทนดูก็ได้

    • ขอความช่วยเหลือ

    หากคุณลองทำวิธีข้างต้นแล้วยังหยุดกินแก้เครียดไม่ได้ ควรขอความช่วยเหลือหรือพูดคุยกับคนรอบข้าง เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง หรืออาจปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรับมือกับการกินแก้เครียด รวมไปถึงวิธีจัดการกับความเครียดที่คุณเผชิญอยู่

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 25/06/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา