backup og meta

วิธี ลดขยะอาหาร ในครัวเรือนง่ายๆ เพื่อช่วยคุณและช่วยโลก

วิธี ลดขยะอาหาร ในครัวเรือนง่ายๆ เพื่อช่วยคุณและช่วยโลก

เวลาที่เราซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหาร หรืออาหารปรุงสำเร็จมาแล้วกินไม่หมด อาหารเหล่านั้นก็จะกลายเป็นขยะอาหารที่ถูกทิ้งไปอย่างไร้ประโยชน์ ซึ่งนอกจากจะทำให้คุณสูญเงินโดยใช่เหตุแล้ว ขยะอาหารที่เราทิ้งยังทำให้เกิดแก๊สมีเทน (Methane) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่พบได้มากเป็นอันดับสองเลยทีเดียว นั่นแปลว่า ยิ่งมีขยะอาหารมากเท่าไหร่ อาจจะทำให้อุณหภูมิของโลกก็จะยิ่งเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นมากเท่านั้น วันนี้ เราเลยมีวิธี ลดขยะอาหาร ในครัวเรือน มาฝาก หากคุณทำได้ รับรองว่าจะเซฟเงินในการซื้ออาหารมาบริโภคได้อีกเยอะ แถมคุณและครอบครัวยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย

วิธี ลดขยะอาหาร ในครัวเรือน

เลือกซื้ออาหารอย่างชาญฉลาด

คนเรามักซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหาร หรืออาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมากเกินจำเป็น โดยเฉพาะเวลาที่เราหิว หรือเวลาที่มีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมมาล่อตาล่อใจ และบางห้างร้านก็มักมีโปรโมชั่นยิ่งซื้อเยอะยิ่งจ่ายถูก ทำให้คุณซื้ออาหารมาตุนไว้ และมักจะบริโภคไม่ทัน จนสุดท้ายก็กลายเป็นขยะอาหารที่ต้องทิ้งไป

ฉะนั้น หากคุณอยากลดขยะอาหาร เราแนะนำให้ไปซื้อวัตถุดิบประเภทของสด เช่น เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ เข้าบ้านอาทิตย์ละ 2 ครั้ง หากเป็นของที่เก็บได้นาน ก็อาจซื้ออาทิตย์ละ 1 ครั้ง และต้องบริโภคของที่ซื้อมาให้หมดก่อนจึงค่อยไปซื้อของใหม่ และต้องเลือกซื้อของตามลิสต์รายการของที่ต้องการด้วย จะได้ตัดปัญหาซื้ออาหารมาเกินจำเป็น

เก็บอาหารให้ถูกวิธี

การเก็บรักษาวัตถุดิบในการประกอบอาหาร รวมถึงอาหารสำเร็จรูปอย่างถูกวิธี จะช่วยลดปัญหาอาหารเน่าเสียจนต้องทิ้งเป็นขยะอาหาร ยกตัวอย่างเช่น มะเขือเทศ มันฝรั่ง กระเทียม แตงกวา คุณควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง ไม่ต้องแช่ตู้เย็น และหากเป็นอาหารที่สามารถปล่อยก๊าซเอทิลีน (ethylene gas) ได้มาก เช่น กล้วย มะเขือเทศ แคนตาลูป ต้นหอม ก็ควรแยกเก็บให้ห่างจากอาหารชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะอาหารที่ไวต่อก๊าซเอทิลีน เช่น มันฝรั่ง แอปเปิ้ล ผักใบเขียว เพราะก๊าซเอทิลีนจะทำให้อาหารสุกและและเน่าเสียเร็วขึ้น

นอกจากนี้ คุณต้องเก็บอาหารตาม “กฎ 2 ชั่วโมง” นั่นคือ ไม่วางอาหารที่เน่าเสียง่ายไว้ในอุณหภูมิห้องนานเกิน 2 ชั่วโมง และไม่เก็บอาหารไว้ในอุณหภูมิสูงเกิน 32 องศาเซลเซียสนานเกิน 1 ชั่วโมง ถ้ามีอาหารเหลือหรือกินไม่หมด ต้องเก็บเข้าตู้เย็นภายใน 2 ชั่วโมง

กินอาหารเหลือ อย่าเพิ่งทิ้ง

หากคุณกินอาหารไม่หมด อย่าเพิ่งเททิ้ง แต่ควรเก็บแช่ตู้เย็นไว้กินในมื้อต่อไป โดยเก็บใส่ภาชนะใสที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนกันอาหารอื่นๆ ในตู้เย็น แถมยังช่วยให้มองเห็นง่าย คุณจะได้ไม่ลืมกิน หรือทิ้งได้ทันทีหากลืมจนอาหารเน่าเสียแล้วจริงๆ หากคุณประสบปัญหาทำอาหารหรือซื้ออาหารมากินแล้วมีอาหารเหลือเป็นประจำ คุณอาจต้องซื้อวัตถุดิบหรืออาหารสำเร็จรูปในแต่ละครั้งให้น้อยลง และกินอาหารเหลือให้หมดก่อน จึงค่อยประกอบอาหารจานใหม่ วิธีนี้จะช่วยลดขยะอาหารได้เยอะเลยทีเดียว

เรียนรู้วิธีถนอมอาหาร

วิธีถนอมอาหาร เช่น การหมัก การดอง การแช่อิ่ม การตากแห้ง การแช่แข็ง จะช่วยยืดอายุของอาหารให้เก็บรักษาได้นานขึ้น ไม่บูดเน่าเสียง่าย โดยยังมีคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับตอนยังเป็นของสด

แถมวิธีเหล่านี้ยังสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่ออุณหภูมิของโลกน้อยมาก จึงช่วยลดขยะอาหาร ช่วยให้ประหยัดเงิน และช่วยลดโลกร้อนได้อย่างดีเลยทีเดียว แต่เมื่อคุณจะบริโภคอาหารที่ผ่านการถนอมอาหารบางวิธี เช่น การหมักดอง ซึ่งอาจมีรสเค็มจัด ก็ควรบริโภคในปริมาณที่พอดี จะได้ไม่เกิดปัญหาสุขภาพตามมา

ประโยชน์ของการ ลดขยะอาหาร

การลดขยะอาหารในครัวเรือนนั้นมีประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • ช่วยประหยัดเงินในการซื้ออาหารบริโรค
  • ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน
  • ช่วยอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากร เนื่องจากกระบวนการในอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่การผลิต (เช่น ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์) การแปรรูป การขนส่ง ไปจนถึงการขายอาหารนั้นก่อให้เกิดมลพิษหลากหลายรูปแบบ และต้องใช้พลังงานมหาศาล เมื่อคุณลดขยะอาหาร จึงเท่ากับได้ช่วยประหยัดพลังงาน และช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรต่างๆ ได้ด้วย

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด 

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Food Waste. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/sustainability/food-waste/. Accessed April 3, 2020

20 Easy Ways to Reduce Your Food Waste. https://www.healthline.com/nutrition/reduce-food-waste. Accessed April 3, 2020

Tips to Reduce Food Waste. https://www.fda.gov/food/consumers/tips-reduce-food-waste. Accessed April 3, 2020

Reducing Wasted Food At Home. https://www.epa.gov/recycle/reducing-wasted-food-home. Accessed April 3, 2020

How to Reduce Food Waste. https://www.thinkeatsave.org/top-tips-on-reducing-food-waste/. Accessed April 3, 2020

Food waste – a bigger issue that you’d think. https://daa.asn.au/smart-eating-for-you/smart-eating-fast-facts/food-and-food-products/food-waste-a-bigger-issue-that-youd-think/. Accessed April 3, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/05/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคไวรัสตับอักเสบบี คือโรคอะไร ใครควรได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

อาหารแดช หรือแดชไดเอท (DASH Diet) ช่วยลดความดัน และลดน้ำหนักได้ด้วย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 08/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา