backup og meta

วิธีเพิ่ม สารโดพามีน “ฮอร์โมนความสุข” แบบเป็นธรรมชาติ

วิธีเพิ่ม สารโดพามีน “ฮอร์โมนความสุข” แบบเป็นธรรมชาติ

สารโดพามีน หรือโดปามีน (Dopamine) ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและสมองหลายส่วน เช่น ความจำ การเคลื่อนไหว รวมไปถึงระบบรางวัลของสมอง ที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุข พึงพอใจ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ฮอร์โมนความสุข” หากร่างกายหลั่งโดพามีนน้อยเกินไป อาจส่งผลให้ซึมเศร้า เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะ Hello คุณหมอ มีวิธีเพิ่มโดพามีนแบบง่ายๆ และเป็นธรรมชาติมาฝากแล้ว

วิธีเพิ่มสารโดพามีนแบบเป็นธรรมชาติ

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การเล่นโยคะสัปดาห์ละ 6 วันๆ ละ 1 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือนสามารถช่วยเพิ่มการหลั่งสารโดพามีนได้จริง การออกกำลังกายเป็นประจำไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มระดับโดพามีน แต่ยังช่วยให้อารมณ์และสุขภาพโดยรวมดีขึ้นด้วย

ฟังเพลงบรรเลง เพิ่ม สารโดพามีน

การศึกษาภาพสมองหลายชิ้นพบว่า การฟังเพลงช่วยเพิ่มกิจกรรมในสมองส่วนที่ทำให้เรารู้สึกพอใจและรู้สึกดี ซึ่งในบริเวณนั้นมีตัวรับโดพามีน (dopamine receptor) อยู่มากมาย ทั้งยังมีผลการวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่า อาสาสมัครที่ฟังเพลงบรรเลง ช่วยให้ผ่อนคลาย มีระดับโดพามีนในสมองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9 เลยทีเดียว

กินโปรตีนให้เยอะขึ้น

กรดอะมิโนชนิด ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) และไทโรซีน (Tyrosine) มีหน้าที่สำคัญในการสร้างโดพามีน พบได้มากในอาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อไก่ ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วเหลือง การกินอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนจึงอาจช่วยเพิ่มการหลั่งสารโดพามีนได้

กินถั่วเวลเวท

ถั่วเวลเวท (Velvet bean) หรือหมามุ่ยอินเดีย (Mucuna prurien) อุดมไปด้วย L-dopa ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของโดพามีน จากการศึกษาวิจัยพบว่า การกินถั่วเวลเวทเป็นประจำช่วยเพิ่มโดพามีนได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งมีปัญหาด้านการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเพราะระดับโดพามีนต่ำ

นอนหลับให้เพียงพอ

เมื่อสมองหลั่งสารโดพามีน จะทำให้เรารู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า จากการศึกษาวิจัยในสัตว์พบว่า สมองจะหลั่งโดพามีนมากที่สุดในช่วงเช้าตอนที่เราตื่นนอน และจะค่อยๆ ลดลงจนต่ำที่สุดในช่วงเข้านอน การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเป็นประจำทุกวันจึงอาจช่วยเพิ่มระดับโดพามีน รวมถึงช่วยให้คุณรู้สึกตื่นตัวและทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

รับแสงแดดให้เพียงพอ

หากเราเอาแต่หลบแดดอยู่ในร่ม จนไม่โดดแดดเลย หรือโดนแดดน้อยมากติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจทำให้สารสื่อประสาทในสมองลดลง ซึ่งโดพามีนก็ถือเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญตัวหนึ่งเช่นกัน แต่ก่อนออกแดดก็อย่าลืมทาครีมกันแดดให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันผิวไหม้และปัญหาผิวหนังอื่นๆ ที่จะตามมา

ลดน้ำตาลและคาเฟอีน

แม้น้ำตาลและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม จะช่วยเพิ่มพลังงานและกระตุ้นให้คุณตื่นตัวได้แทบจะทันทีหลังจากกินเข้าไป แต่หลังจากที่น้ำตาล หรือคาเฟอีนหมดฤทธิ์ กลับยิ่งทำให้ระดับโดพามีนในร่างกายของคุณลดลง ฉะนั้น หากคุณไม่อยากให้ร่างกายขาดโดพามีน ควรงดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือคาเฟอีน หากงดไม่ได้ก็ควรลดปริมาณต่อวันลงให้เหลือน้อยที่สุด ใครติดกาแฟก็ลองดื่มกาแฟดีแคฟ หรือกาแฟไม่มีคาเฟอีนแทน

พยายามอย่าเครียด

ความเครียดถือเป็นอีกตัวการสำคัญที่ทำให้ร่างกายหลั่งสารโดพามีนลดลง เมื่อไหร่ที่รู้สึกเครียด วิตกกังวล คุณควรรีบหากิจกรรมผ่อนคลายความเครียดทันที จะดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยว หรือกินแก้เครียดก็ได้ เพียงแต่ต้องกินอย่างพอดี เพราะถ้ากินมากไปอาจเครียดหนักกว่าเดิม จำไว้ว่าอย่าปล่อยให้ตัวเองเครียดนาน จนเรื้อรังและสะสม เพราะไม่ใช่แค่ระดับโดพามีนจะต่ำลง แต่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงก็อาจตามมาด้วย

ลองฝึกสมาธิ

การฝึกสมาธิ ช่วยให้สมองและจิตใจโล่ง ปลอดโปร่ง สุขภาพกายใจดีขึ้น งานวิจัยพบว่าในผู้ที่ฝึกสมาธิเป็นประจำพบว่า หลังจากนั่งสมาธิเป็นเวลา 1 ชั่วโมง สมองมีการหลั่งโดพามีนเพิ่มขึ้นถึง 64% เมื่อเทียบกับตอนที่นั่งอยู่เฉยๆ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

10 Best Ways to Increase Dopamine Levels Naturally. https://www.healthline.com/nutrition/how-to-increase-dopamine#section11. Accessed April 2, 2019

8 Ways to Treat Dopamine Deficiency. https://universityhealthnews.com/daily/depression/8-natural-dopamine-boosters-to-overcome-depression/ .Accessed April 2, 2019

4 Natural Ways to Boost Dopamine Levels. https://www.neurocorecenters.com/blog/4-natural-ways-to-boost-dopamine-levels. Accessed April 2, 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/06/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง

คอร์ติซอล ฮอร์โมนความเครียด ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ทำให้เครียด!

ความสุข ที่ใครๆ ก็อยากมี คุณรู้จักมันดีแล้วหรือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 24/06/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา