backup og meta

เทคนิคการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงเร็วขึ้น

เทคนิคการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงเร็วขึ้น

หลังจากผ่านพ้นกระบวนการผ่าตัดมาแล้ว ผู้ป่วยหลายคนที่พักรักษาตัวก็อาจจะมีความสนใจและใคร่รู้ในเรื่องเกี่ยวกับ สิ่งที่ควรปฏิบัติ และเทคนิคในการดูแลตัวเอง เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังจากการผ่าตัด วันนี้ Hello คุณหมอ จะมานำเสนอ เทคนิคการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกาย ให้กลับมาแข็งแรงได้เร็วยิ่งขึ้น

เทคนิคการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด ที่คุณควรปฏิบัติ

ทำตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ

สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ควรทำหลังจากการผ่าตัด คือการทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด แม้ว่าในบางครั้ง คำแนะนำที่คุณได้รับ คุณอาจจะรู้สึกว่าไม่สำคัญ เช่น ห้ามอาบน้ำ หรือห้ามว่ายน้ำหลังจากการผ่าตัด เพราะคำแนะนำที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ก็มีเหตุผลสำคัญอยู่ทั้งสิ้น คำแนะนำเหล่านี้อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยให้แผลของคุณสามารถฟื้นฟูได้ดีขึ้น หรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับบาดแผลหลังการผ่าตัดได้

คอยสังเกตดูบริเวณแผลผ่าตัด

หลังจากการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยควรคอยเฝ้าสังเกตแผลผ่าตัดอยู่เป็นประจำ เพื่อดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไร หรือเกิดความผิดปกติ เช่น มีหนอง สีผิวเปลี่ยน หรือแผลปริหรือไม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนและการติดเชื้อหลังจากการผ่าตัดได้ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ดูแลให้ดี อาจทำให้อาการติดเชื้อลุกลาม แล้วเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

รับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์

การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จะเป็นวิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูตัวเองให้แข็งแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังการผ่าตัด ที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้โปรตีนและสารอาหารอื่นๆ ในปริมาณมาก เพื่อช่วยซ่อมแซมและฟื้นฟูบริเวณบาดแผลผ่าตัด

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดมามักจะมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนในช่วงพักฟื้นหลังการผ่าตัด เนื่องจากผลข้างเคียงของยาและการรักษา การดื่มน้ำและรับประทานอาหารบางอย่าง เช่น มะนาว หรือขิง จะสามารถช่วยลดอาการข้างเคียงเหล่านี้ได้เช่นกัน

ระมัดระวังเวลาไอและจาม

โดยปกตินั้น ในช่วงระหว่างการไอและการจามนั้นจะทำให้คุณต้องออกแรงเกร็งกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงในเวลาอันรวดเร็ว และหากไม่ระมัดระวังอาจทำให้แผลฉีกเปิด และมีเลือดไหล แถมยังทำให้แผลหายช้าขึ้นอีกด้วย

สิ่งที่ควรทำหากคุณจะจามหรือไอหลังจากการผ่าตัด คือการกดบริเวณแผลเอาไว้ โดยอาจใช้มือ หมอน หรือผ้าเท่าที่สะดวก มากดเอาไว้ในบริเวณแผลเมื่อต้องการจามหรือไอ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้แผลฉีก และพยายามอย่าไอหรือจามแรงเกินไป

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรกลั้นจามหรือกลั้นไออย่างเด็ดขาด เพราะการกลั้นจามนั้นอาจทำให้แรงดันลมตีกลับเข้าไปในร่างกาย และกลายเป็นอันตรายได้ ส่วนการไอหลังจากการผ่าตัดก็สามารถช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบได้นั่นเอง

หลีกเลี่ยงแสงแดด

แสงแดดนั้นอาจทำให้แผลจากการผ่าตัดมีสีที่คล้ำขึ้น และเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น หลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยจึงควรพยายามหลีกเลี่ยงแสงแดด เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และหากต้องออกไปข้างนอก ควรพยายามเลือกใส่เสื้อผ้าที่สามารถปกปิดบริเวณแผลผ่าตัดได้

กินยาแก้ปวดเมื่อเริ่มมีอาการปวด

ตามปกติแล้วหลังจากการผ่าตัด แพทย์มักจะสั่งยาแก้ปวดมาให้คุณกิน เพื่อช่วยจัดการกับอาการปวดหลังจากการผ่าตัดเสมอ พึงระลึกไว้เสมอว่า การใช้ยาแก้ปวดให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด คือการกินยาเมื่อเริ่มมีอาการปวด ไม่ใช่รอให้รู้สึกปวดมากแล้วจึงค่อยกินยา

เทคนิคเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดูแลตัวเองในช่วงหลังจากการผ่าตัดเท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือผู้ป่วยควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และไปตามนัดของแพทย์เพื่อดูอาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลผ่าตัดเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ ที่อาจนำอันตรายมาสู่ร่างกายได้

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Caring for Yourself After Surgery https://advancedtissue.com/2015/10/caring-for-yourself-after-surgery/

10 Ways To Improve Your Recovery After Surgery https://www.verywellhealth.com/post-surgery-recovery-tips-and-guide-3156833

6 Self-Care Tips After Surgery https://www.healthgrades.com/right-care/preparing-for-surgery/6-self-care-tips-after-surgery

How to Plan for Recovery at Home After Surgery https://www.webmd.com/healthy-aging/features/home-self-care#1

 

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/09/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

เซ็กส์หลังผ่าตัดมดลูก เตรียมความพร้อมอย่างไร

ลูกต้องเข้าผ่าตัด คุณพ่อคุณแม่เตรียมพร้อมอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/09/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา