backup og meta

ธาราบำบัด อีกหนึ่งวิธีการทำกายภาพบำบัดโดยใช้น้ำ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ธาราบำบัด อีกหนึ่งวิธีการทำกายภาพบำบัดโดยใช้น้ำ

    หากคุณเคยประสบปัญหาเกี่ยวกับข้อ กระดูก หรือกล้ามเนื้อต่างๆ แล้วจำเป็นต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัด อาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับวิธีการทำ ธาราบำบัด โดยใช้น้ำเข้ามาเป็นส่วนประกอบ หลักการใช้น้ำเพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายนั้นเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะกับผู้ที่จำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อช่วยพยุงตัว บทความนี้จะมานำเสนอข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการทำธาราบำบัด

    ธาราบำบัด คืออะไร

    ธาราบำบัด (Hydrotherapy) หรือวารีบำบัด เป็นหนึ่งในศาตร์การรักษา ที่ใช้น้ำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการรักษา โดยอาศัยหลักการและคุณสมบัติหลักๆ คือ

    • ความหนาแน่นของน้ำ ใช้เพื่อช่วยพยุงร่างกายของผู้ป่วย ทำให้ไม่ต้องรับภาวะจากแรงกระแทกของน้ำหนักตัว จึงมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อ เข่า และกล้ามเนื้ออื่นๆ การแช่ตัวในน้ำจะทำให้ร่างกายต้องออกแรงมากขึ้นในการขยับตัวแต่ละครั้ง เพื่อต้านกับแรงต้านของน้ำ
    • การไหลเวียนของน้ำ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต และการทำงานของกล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้นสัมผัสของร่างกาย และช่วยขับเหงื่อ
    • อุณหภูมิของน้ำ น้ำที่ใช้จะอยู่ในอุณหภูมิประมาณ 34-36 องศาเซลเซียส ความร้อนจากน้ำจะถูกส่งผ่านทางประสาทการรับรู้ไปยังสมอง และช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และส่งผลกระทบต่อการปลดปล่อยฮอร์โมนความเครียด ทั้งยังช่วยเพิ่มการทำงานของระบบย่อยอาหาร ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และช่วยลดความไวในการรับรู้ความปวด ความร้อนจะช่วยผ่อนคลายและทำให้ร่างกายสงบ และลดการทำงานของระบบอวัยวะภายใน

    ธาราบำบัดนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งแบบแช่ตัวลงไปในน้ำทั้งตัว หรือจุ่มเพียงแค่เฉพาะส่วนเท่านั้น และใช้อ่างน้ำชนิดพิเศษที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและทิศทางการไหลเวียนของน้ำได้ นักกายภาพบำบัดจะเลือกรูปแบบของการทำธาราบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ที่ตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ การบำบัดผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม จนไม่สามารถออกกำลังกายด้วยรูปแบบปกติ ธาราบำบัดจะช่วยให้ผู้ที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ สามารถออกกำลังกาย และฟื้นฟูสภาพร่างกายได้อย่างเหมาะสม

    ประโยชน์ของธาราบำบัด

    คุณสมบัติการลอยตัวของน้ำจะช่วยพยุงตัวของผู้ป่วย ทำให้ช่วยลดแรงกระแทกจากน้ำหนักตัวและแรงโน้มถ่วงของโลก โดยเฉพาะในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อม คนกลุ่มนี้อาจจะเคลื่อนไหวลำบากหากอยู่บนบก การแช่ตัวอยู่ในน้ำจะช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวร่างกาย และออกกำลังกายได้มากขึ้น

    มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Clinical Rehabilitation เมื่อปี 2018 ที่ทำการศึกษาประสิทธิภาพของการกำลังกายในน้ำสัปดาห์ละครั้งสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม พบว่า ผู้ป่วยที่ทำการออกกำลังกายทางน้ำ จะมีการฟื้นฟูร่างกายจากอาการปวดของข้อเสื่อม นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นที่พบว่า การทำธาราบำบัดในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหว ช่วยลดอาการปวด และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

    ธาราบำบัดเป็นวิธีการทำกายภาพบำบัดที่มีประสิทธิภาพสำหรับการรักษาอาการปวดระยะยาว ช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น ส่งออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ดีขึ้น และยังช่วยเพิ่มระบบการเผาผลาญและระบบย่อยอาหารของร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิตคุ้มกัน ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับโรคต่างๆ ได้ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

    ข้อควรระวังเกี่ยวกับการทำธาราบำบัด

    แม้ว่าการทำธาราบำบัดนั้นอาจจะให้ประโยชน์มากมาย แต่ก็ไม่ได้เหมาะสมสำหรับทุกคนเสมอไป โดยเฉพาะหากคุณมีสภาวะบางอย่าง ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ควรทำธาราบำบัดมีดังต่อไปนี้

    • โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือความดันโลหิตสูง เนื่องจากธาราบำบัดนั้นจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด จึงอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ และเพิ่มแรงดันภายในหลอดเลือดได้
    • เป็นไข้
    • มีอาการอักเสบ
    • มีแผลติดเชื้อ หรือมีอาการติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือมีแผลเปิด
    • ท้องเสีย ท้องไส้ปั่นป่วน หรือผู้ที่ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้
    • ผู้ป่วยโรคไต โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำการฟอกไต
    • ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
    • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหอบหืด หรือโรคลมชัก ที่ไม่สามารถควบคุมได้
    • ผู้ที่มีภาวะแพ้คลอรีน

    คุณควรปรึกษาแพทย์และนักกายภาพบำบัดเสมอก่อนที่จะเริ่มทำธาราบำบัด ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะช่วยหารูปแบบการทำธาราบำบัดที่เหมาะสมกับสภาวะของคุณ เพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา