การฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปีมีความสำคัญในการช่วยป้องกันโรคที่สามารถแพร่ระบาดได้ง่าย และลดความรุนแรงของโรค ซึ่งนอกจากจะช่วยปกป้องตัวเองแล้วยังสามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในสังคมได้อีกด้วย บทความนี้จะมาแนะนำ เช็กลิสต์ วัคซีนที่ควรฉีด เป็นประจำในแต่ละปี รวมไปถึงวัคซีนกระตุ้นที่ควรได้รับ
[embed-health-tool-vaccination-tool]
วัคซีนที่ควรฉีด เป็นประจำทุกปี มีอะไรบ้าง
1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไวรัสทุกปี วัคซีนจึงได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่คาดว่าจะระบาดในปีนั้น ๆ ดังนั้น จึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ คือช่วงก่อนฤดูฝนและฤดูหนาว
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและลดความรุนแรงของอาการ อีกทั้งยังช่วยลดการแพร่ระบาดในชุมชนได้อีกด้วย
กลุ่มเป้าหมายที่ควรฉีด
- เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป
- ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป)
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน หรือโรคปอด
- หญิงตั้งครรภ์
- บุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่อยู่ในสถานพยาบาล
2. วัคซีนโควิด-19 (COVID-19 Vaccine)
แม้ว่าในปัจจุบัน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 อาจจะลดลงไปมากกว่าแต่ก่อน แต่ก็อาจยังคงมีการระบาดในบางพื้นที่ ดังนั้น จึงควรเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster) ตามคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อกำหนดเวลาการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม
กลุ่มเป้าหมายที่ควรฉีด
- ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบโดส
- ผู้สูงอายุ
- ผู้มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง
- บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า
3. วัคซีนป้องกันโรคไอกรน บาดทะยัก และคอตีบ (Tdap/Td Vaccine)
โรคบาดทะยักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium tetani ที่พบในดินและอุจจาระสัตว์ ซึ่งเชื้ออาจเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล ผู้ใหญ่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน บาดทะยัก และคอตีบ (Tdap) 1 ครั้ง และฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักกระตุ้น ทุก ๆ 10 ปี หรือฉีดซ้ำทันทีเมื่อมีบาดแผลเสี่ยงติดเชื้อ
กลุ่มเป้าหมายที่ควรฉีด
- ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป
- ผู้ที่มีบาดแผลเปิดหรือบาดแผลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- หญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน บาดทะยัก และคอตีบ (Tdap) เพื่อป้องกันโรคไอกรนในทารก
4. วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม (Pneumococcal Vaccine)
โรคปอดบวมเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างจึงฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดบวมและภาวะแทรกซ้อน โดยควรปรึกษาคุณหมอเพื่อกำหนดเวลาการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม
กลุ่มเป้าหมายที่ควรฉีด
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
- ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป)
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคปอด
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
5. วัคซีนป้องกันโรค RSV (Respiratory Syncytial Virus Vaccine)
การฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ RSV ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจรุนแรง โดยควรฉีดในช่วงฤดูการระบาดของ RSV ในแต่ละปี
กลุ่มเป้าหมายที่ควรฉีด
- ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์
วัคซีนที่ฉีดเป็นประจำอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและคำแนะนำจากหน่วยงานสาธารณสุข ควรปรึกษาคุณหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับแผนการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมกับตนเอง