backup og meta

ปวดเต้านม (Mastodynia)

คำจำกัดความอาการสาเหตุปัจจัยเสี่ยงการวินิจฉัยและการรักษาโรคการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

คำจำกัดความ

อาการปวดเต้านมคืออะไร

คำว่า Mastodynia เป็นภาษากรีกหมายถึงอาการเจ็บปวดเต้านม สามารถสื่อถึงอาการกดเจ็บที่เต้านมได้เช่นกัน อาการปวดเต้านมเป็นอาการที่เด่นชัด ที่สุดที่จะบ่งชี้ถึงการเป็นโรคนี้ ระดับของความปวดมีตั้งแต่ปวดเบาๆ ไปจนถึงปวดรุนแรง ขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุ อาการปวดเต้านมอาจจะอยู่นาน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

อาการปวดเต้านมพบได้บ่อยได้แค่ไหน

อาการปวดเต้านมพบมากในผู้หญิง แต่ผู้ชายก็อาจมีโอกาสเป็นได้เช่นกัน โอกาสที่ผู้ชายจะเป็นโรคนี้นั้นหายากมากๆ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดปรึกษาแพทย์

อาการ

อาการปวดเต้านมเป็นอย่างไร

อาการปวดเต้านมนั้นสามารถแบ่งได้เป็น อาการที่สัมพันธ์กับประจำเดือน (cyclical) หรือ อาการที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน (non-cyclical)

อาการของโรคที่สัมพันธ์กับประจำเดือนมีดังนี้

  • อาการปวดจะมาเป็นประจำ เช่นเดียวกับประจำเดือน
  • เต้านมอาจจะกดเจ็บ
  • ผู้ป่วijยอธิบายความรู้สึกปวดว่า หนักและปวดตื้อๆ บางคนบอกว่ามีรู้สึกเจ็บและรู้สึกหนักๆ ในขณะที่บางคนก็ว่ารู้สึกเหมือนกับ ถูกแทงหรือปวดแสบปวดร้อน
  • เต้านมอาจจะมีอาการบวมขึ้น
  • อาจมีก้อนหลายๆ ก้อนที่เต้านม (ไม่ใช่ก้อนแข็งๆ ก้อนเดียว)
  • สามารถเกิดได้ที่เต้านมทั้งสองข้าง โดยเฉพาะบริเวณด้านนอกส่วนบน
  • อาการปวดสามารถลามไปตรวบริเวณใต้วงแขนได้
  • อาการปวดจะเป็นหนักขึ้นเมื่อเริ่มมีประจำเดือน ในบางกรณีอาจมีอาการปวด ตั้งแต่ประมาณสองสัปดาห์ก่อนการมีประจำเดือน
  • มักมีอาการในกลุ่มผู้หญิงที่อายุน้อย สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน อาจจะมีอาการปวดแบบเดียวกัน หากว่ามีการใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อการบำบัด (Hormone replacement therapy)

อาการของโรคที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือนมีดังนี้

  • อาการปวดจะเกิดที่เต้านมแค่ข้างเดียวเท่านั้น และมักจะเป็นแค่จุดเล็กๆ บนเต้านม แต่อาจจะมีการลุกลามไปจนทั่วหน้าอก
  • พบมากในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
  • อาการปวดจะไม่เป็นๆ หายๆ เหมือนประจำเดือน
  • อาการปวดอาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นนานๆ ครั้ง
  • อาการเต้านมอักเสบ – หากอาการปวดนั้นเกิดขึ้นการอักเสบที่เต้านม อาจทำให้มีไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย (malaise) เต้านมบางส่วนอาจจะมีอาการบวมและกดเจ็บ บริเวณที่ปวดอาจจะรู้สึกอุ่นๆ และบางครั้งอาจจะมีรอยปื้นแดง ความรู้สึกปวดมักจะเป็นอาการปวดแสบปวดร้อน สำหรับผู้ที่ให้นมบุตร จะยิ่งรู้สึกปวดหนักขึ้นขณะกำลังให้นม
  • อาการปวดภายนอก – อาการปวดที่รูสึกเหมือนมาจากหน้าอกแต่เกิดขึ้นที่บริเวณอื่นนั้น บางครั้งจะเรียกว่าอาการปวดต่างที่ อาจเกิดขึ้นที่บริเวณกล้ามเนื้อทรวงอก เช่น อาการอักเสบของกระดูกอ่อนในกรงซี่โครง (costochondritis)

อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาหมอของคุณ

ควรไปพบหมอเมื่อไร

ถ้าคุณมีอาการใดๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษากับคุณหมอ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับหมอเพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของอาการปวดเต้านม

อาการปวดเต้านมนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุหลักบางประการ เนื่องจากโรคนี้จะพบมากในผู้หญิง การมีประจำเดือนจึงอาจจะเป็นสาเหตุได้ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อย การให้นมบุตรก็อาจกระตุ้นให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน การเกิดก้อนเนื้อชนิดไฟโบรซีสติค (Fibrocystic changes) อาจทำให้เต้านมเกิดอาการกดเจ็บ

ผู้หญิงที่มีอาการเต้านมอักเสบ ก็มักจะบ่นเรื่องอาการปวด และกดเจ็บที่เต้านม กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome) ก็อาจเป็นสาเหตุได้ เนื่องจากโรคนี้มีอาการปวดที่หน้าอกเช่นกัน นอกจากนี้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอออล์ในปริมาณมาก ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดเบาๆ ที่เต้านมได้อีกด้วย

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดเต้านม

โปรดปรึกษากับคุณหมอเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการปวดเต้านม

สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในวัยก่อนหมดประจำเดือน คุณหมอจะตรวจว่าเป็นอาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือนหรือไม่

คุณหมออาจจะถามดังนี้

  • บริโภคคาเฟอีนมากแค่ไหน
  • รู้สึกปวดบริเวณไหนของเต้านม
  • เต้านมปวดทั้งสองข้างหรือไม่
  • สูบบุหรี่หรือไม่
  • รับประทานยาหรือยาคุมกำเนิดอยู่หรือเปล่า
  • ตั้งครรภ์อยู่หรือไม่
  • มีอาการอย่างอื่น เช่น มีสารคัดหลั่งผิดปกติจากหัวนม (nipple discharge) หรือมีก้อนอะไรที่หน้าอกหรือไม่

คุณหมอจะฟังเสียงปอดและหัวใจ และตรวจสอบบริเวณหน้าอกและท้องเพื่อหาโอกาสในการเกิดอาการและโรคอื่นๆ

คุณหมออาจจะทำการการตรวจเต้านม เพื่อหาว่ามีก้อนเนื้อหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงบริเวณหัวนม หรือมีสารคัดหลั่งผิดปกติจากหัวนมหรือไม่ นอกจากนี้อาจจะต้องตรวจต่อมน้ำเหลือง บริเวณใต้คอหรือรักแร้ เพื่อดูว่ามีอาการบวมหรือกดเจ็บหรือไม่

หากพบก้อนเนื้อ หรือส่วนที่นูนขึ้นมาผิดปกติที่เต้านม หรือมีส่วนไหนของเต้านมที่ปวดเป็นพิเศษ คุณหมออาจจะมีการตรวจเพิ่มเติมดังนี้

  • การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) – การตรวจเอ็กซเรย์บริเวณเต้านม
  • การตรวจอัลตราซาวนด์ – ใช้คลื่นเสียงเพื่อฉายภาพของเต้านม การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ มักจะพบสิ่งที่การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมจะไม่สามารถตรวจหาได้
  • การตัดชิ้นเนื้อเต้านมไปตรวจ (Breast biopsy) – หากตรวจพบอาการที่น่าสงสัยใดๆ คุณหมอจะทำการตัดชิ้นเนื้อตัวอย่าง เพื่อส่งไปตรวจในห้องแล็บ

ผู้ป่วยอาจต้องต้องทำแบบทดสอบระดับความปวดที่เต้านม ซึ่งสามารถช่วยการวินิจฉัยโรค และช่วยการตัดสินใจของหมอได้

วิธีรักษาอาการ ปวดเต้านม

ในกรณีส่วนใหญ่ สามารถรักษาอาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือน ได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และสวมบราที่พอดีตัว อาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือน มักจะไม่สามารถคาดเดาได้ และอาจจะเป็นๆ หายๆ

ส่วนอาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์ประจำเดือนไม่ใช่อาการร้ายแรง และคนไข้ส่วนใหญ่มักจะยอมรับที่จะใช้ชีวิตร่วมกับมัน และผู้หญิงที่มีอาการปวดเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน อาจจำเป็นต้องรับการรักษาที่ต้นเหตุ เช่น คนที่ติดเชื้อเต้านมอักเสบจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาอาการดังนี้

  • ใช้ยาทาเฉพาะที่แก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs) เช่น เจลไอบูโพรเฟน หรือเจลไดโคลฟีแนค นวดบริเวณที่ปวดโดยตรง อย่านวดยานี้บริเวณที่มีผิวหนังถลอก
  • กาแฟ คาเฟอีน และอาการปวดเต้านม – งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Nurse Practitioner พบว่า “การจำกัดสารคาเฟอีน คือวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับอาการปวดเต้านมชนิดไฟโบรซีสติค (fibrocystic disease)’
  • การสูบบุหรี่และอาการปวดเต้านม – หน่วยงานสาธารณสุข โรงพยาบาล และกลุ่มที่ให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพทั้งหลาย แนะนำผู้หญิงที่มีอาการปวดเต้านมว่า ให้หยุดสูบบุหรี่ เนื่องจากมีข้อโต้แย้งกันว่า สารนิโคตินนั้นอาจจะส่งผลให้เส้นเลือดตีบตัน และการสูบบุหรี่นั้นจะทำให้เกิดการอักเสบ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Climacteric (Journal of the International Mrnopause Society) พบว่า “การสูบบุหรี่ลดโอกาสการเกิดอาการกดเจ็บที่เต้านม ในผู้หญิงที่รับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจนผสมร่วมกับโปรเจสเตอโรน (estrogen-progestogen therapy)’

ยาตามใบสั่งยาสำหรับอาการปวดเต้านม

หากมีอาการปวดเต้านมอย่างรุนแรง และการรักษาที่กล่าวมาด้านบนนั้นไม่สามารถรักษาได้ คุณหมออาจจะสั่งยาให้รับประทาน โดยยาดังต่อไปนี้อาจจะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเต้านมได้

  • ดานาซอล (Danazol)สามารถรักษาอาการปวดเต้านมชนิดไฟโบรซีสติค (fibrocystic breast disease) อาการที่ทำให้เกิดก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร้งในเต้านม
  • โบรโมคริปทีน (Bromocriptine) – สามารถรักษาอาการปวดเต้านมบางอาการ
  • ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) – เป็นยาที่อนุมัติใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม นอกจากนี้แพทย์ยังอาจสั่งยาทาม็อกซิเฟนเพื่อใช้รักษาอาการที่ไม่ได้ระบุอยู่ในฉลาก เพื่อรักษาอาการปวดเต้านมได้อีกด้วย
  • โกเซอรีลิน (Goserelin)สามารถใช้เพื่อการรักษาโรคมะเร็งเต้านม นอกจากนี้แพทย์ยังอาจสั่งยานี้เพื่อใช้รักษาอาการที่ไม่ได้ระบุอยู่ในฉลาก เช่น การรักษาอาการปวดเต้านมได้อีกด้วย
  • โทเรมิฟีน (Toremifene)อีกหนึ่งยารักษาโรคมะเร็งเต้านม ใช้รักษาอาการที่ไม่ได้ระบุอยู่ในฉลาก เช่น การรักษาอาการปวดเต้านมได้อีกด้วย

หากคุณกำลังรับประทานยาคุมกำเนิดอยู่ คุณหมออาจจะสั่งให้มีการควบคุมหรือเปลี่ยนไปใช้ยาคุมกำเนิดตัวอื่นแทน และคุณหมออาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนขนาดยาที่ใช้ในฮอร์โมนทดแทนเพื่อการบำบัด (Hormone replacement therapy)

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองที่จะช่วยรักษาอาการ ปวดเต้านม

ลักษณะไลฟ์สไตล์และการเยียวยาด้วยตนเองต่อไปนี้ อาจจะช่วยรักษาอาการของคุณได้

  • สวมใส่บราที่พอดีตัวในเวลากลางวัน
  • ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะไว้วางใจในน้ํามันอีฟนิ่งพริมโรส (Evening Primrose Oil) แต่งานวิจัยของวารสารสูตินรีเวชอเมริกาพบว่า น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสนั้นไม่มีประโยชน์ในการรักษาอาการปวดเต้านม ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ที่มีอาการของลมบ้าหมู ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส
  • รับประทานยาสามัญเช่น ยาจำพวกอะเซตามีโนเฟน (พาราเซตามอล หรือ ไทลินอล) หรือยาไอบูโพรเฟน เพื่อลดอาการปวด
  • ใช้ซัพพอร์ตบราแบบนุ่มๆ เวลานอนหลับ
  • ใช้สปอร์ตบาร์ที่ดีมีคุณภาพเวลาออกกำลังกาย

หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นถึงทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What is Mastodynia – Definition, Symptoms, Causes, Treatment. http://www.healthcaretip.com/2017/02/What-is-Mastodynia-Definition-Symptoms-Causes-Treatment.html. Accessed May 7, 2018.

What are the causes of breast pain? https://www.medicalnewstoday.com/articles/263566.php. Accessed May 7, 2018.

Breast Pain: Types, Causes, and Treatments – Healthline. https://www.healthline.com/health/breast-pain. Accessed May 7, 2018.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Chayawee Limthavornrak


บทความที่เกี่ยวข้อง

An interview with Dr Joseph Saba, Chief Executive Officer at Axios

อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เป็นมะเร็งเต้านม ควรกินอะไรเพิ่มดี


ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง โดย ทีม Hello คุณหมอ · เขียน โดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไข 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา