ปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ เนื่องจากสุขภาพร่างกายย่อมเสื่อมลงเมื่ออายุมากขึ้น และอาจทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนั้นการดูแลและ ป้องกันปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น
ปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ
ปัจจุบันผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พ.ศ. 2563 มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 12 ล้านคน หรือราว 18% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีก 20% ในปี พ.ศ. 2564
จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นตามมา และปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย ได้แก่ โรคสามัญทั่วไป เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคไต รวมถึงกลุ่มอาการที่เกี่ยวของกับความชราภาพของร่างกาย การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้แข็งแรงและมีสุขภาพดี ด้วยการมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงครอบครัวและสังคมที่เข้าใจและให้ความช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องสำคัญ
การดูแลและ ป้องกันปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ
ปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ อาจเกิดจากกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูงอายุเนื่องจากความเสื่อมของร่างกายเมื่อชราภาพ หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงจากโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งการดูแลและการป้องกันโรคที่ผู้สูงอายุกำลังเผชิญก็แตกต่างกันออกไป ดังนี้
ปัญหาความสมดุลของร่างกาย มึนงง และวิงเวียนศีรษะ
ปัญหาความสมดุลของร่างกาย อาการมึนงง และวิงเวียนศีรษะ อาจเกิดจาก โรคทางสมอง โรคข้อเสื่อม กล้ามเนื้ออ่อนแรง ความดันโลหิตต่ำ ยาบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม พื้นที่ลาดเอียงหรือแสงสว่างไม่เพียงพอ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ โลหิตจาง เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เกิดการหกล้มส่งผลทำให้กระดูกแตกหักได้ อย่างไรก็ตามสามารถดูแลและป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ ดังนี้
- จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดโปร่ง เช่น เพิ่มไฟให้สว่าง เก็บสิ่งกีดขวางทางเดิน ทำราวจับให้ผู้สูงอายุ
- ระมัดระวังเมื่อเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเมื่อลุกจากการนั่งหรือนอน
- ใช้ไม้เท้า เพื่อช่วยในการทรงตัว
- ออกกำลังกาย และขยับร่างกายเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและปรับความสมดุลของร่างกาย ทั้งยังช่วยเพิ่มความกระตือรือร้น ลดความเสี่ยงการหกล้ม
- หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ความดันโลหิตตกและง่วงซึม
- ตรวจมวลกระดูกเป็นประจำเพื่อประเมินความแข็งแรงของกระดูก และหากเป็นโรคกระดูกพรุนจะได้รักษาอย่างทันท่วงที
ปัญหาการนอนหลับ
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาการนอนหลับ อาจหลับยากขึ้นหรือตื่นกลางดึกบ่อย ๆ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงการหกล้ม และปัญหาทางอารมณ์ เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงควรดูแลและป้องกัน ดังนี้
- ปรับพฤติกรรมนอนให้เป็นเวลาเพื่อให้เกิดความเคยชิน และควรนอนในเวลา 3-4 ทุ่ม และตื่นตี 4-5
- ไม่ควรนอนกลางวันเป็นเวลานาน ๆ แต่หากเพลีย สามารถงีบได้แต่ไม่ควรงีบหลังบ่าย 3
- จัดบรรยากาศภายห้องนอนให้หลับสบายขึ้น เช่น ใช้ผ้าม่านปิดแสงจากภายนอก ปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะ สีสันของห้องไม่ฉูดฉาด
- หลังอาหารเย็นพยายามดื่มน้ำให้น้อยลง เพื่อลดการปัสสาวะตอนกลางคืน
- หากมีอาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรงควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และหากต้องใช้ยานอนหลับควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เสมอ
ปัญหาการขับถ่าย
ผู้สูงอายุหลายคนอาจมีปัญหาเรื่องการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม สามารถ ดูแลและป้องกัน ได้ดังนี้
- ฝึกขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานวันละ 50-100 ครั้ง
- ฝึกปัสสาวะเป็นเวลา และค่อย ๆ ปัสสาวะช้า ๆ เพื่อฝึกกระเพาะปัสสาวะให้สามารถกลั้นได้นานขึ้น
- ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
- ปรึกษาแพทย์หากมีอาการรุนแรงขึ้น และเพื่อตรวจหาโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ
ปัญหาการรับประทานอาหาร
ปัญหาการรับประทานอาหารในผู้สูงอายุอาจเกิดจาก ปัญหาการกลืน เบื่ออาหาร ปัญหาสุขภาพฟัน เป็นต้น ซึ่งมีวิธีการ ดูแลและป้องกัน ดังนี้
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เคี้ยวง่าย หลากหลาย และให้พลังงานสูง
- รับประทานอาหารร่วมกับครอบครัว หรือเพื่อนฝูง
- ตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ และปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำในการรับประทานอาหาร
ปัญหาการได้ยินและการมองเห็น
ความสามารถในการมองเห็นและการได้ยินในผู้สูงอายุมักลดลง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้ จึงควร ดูแลและป้องกัน ดังนี้
- ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หากพบปัญหาก็สามารถรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
- ตรวจสุขภาพการได้ยินเป็นประจำ หากพบปัญหาสามารถฟื้นฟูการได้ยินได้ด้วยเครื่องช่วยฟัง
- ลูกหลานควรดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดและเข้าใจ ให้ความช่วยเหลืออย่างใจเย็นเสมอ
ภาวะสมองเสื่อม
ผู้สูงอายุอาจมีอาการหลงลืมง่ายหรือคิดช้า มักเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ จึงควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุในเรื่องความจำและความคิดอยู่เสมอ เพื่อชะลอความรุนแรงของโรค อาจหากิจกรรมกระตุ้นสมองให้ผู้สูงอายุทำ เช่น ให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในครอบครัว ช่วยกันทำงานบ้าน อ่านหนังสือ ออกกำลังกายร่วมกัน
ภาวะกระดูกพรุน
ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนและผู้ชายที่มีอายุ 70 ปี ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่แสดงอาการ สามารถ ดูแลและป้องกัน ภาวะกระดูกพรุนได้ ดังนี้
- รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมอย่างน้อย 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
- ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก เช่น วิ่ง เดิน
- เข้าตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกและตรวจระดับวิตามินดีในเลือด โดยเฉพาะในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 55 ปี และผู้ชายที่อายุมากกว่า 70 ปี
- หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ควรเข้ารับการรักษาโดยทันทีเพื่อลดความเสี่ยงกระดูกแตกหัก
[embed-health-tool-bmi]