backup og meta

สารต้านอนุมูลอิสระ สารอาหารจำเป็นที่ร่างกายขาดไม่ได้

สารต้านอนุมูลอิสระ สารอาหารจำเป็นที่ร่างกายขาดไม่ได้

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำว่า “สารต้านอนุมูลอิสระ” แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วสารต้านอนุมูลอิสระที่พูดถึงนั้น คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร ถ้าอยากรู้ล่ะก็ ต้องไม่พลาดบทความนี้ของ Hello คุณหมอ 

สารต้านอนุมูลอิสระ คืออะไร

ร่างกายของคนเรานั้นต้องพบเจอกับแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ควันพิษ ฝุ่นละออง หรือสารเคมีต่าง ๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าในชีวิตประจำวันมากมาย รวมถึงอนุมูลอิสระ (Free Radicle) ซึ่งเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ ที่สามารถพบได้จากหลากหลายที่มา ไม่ว่าจะเป็นควันจากท่อไอเสียรถ ก๊าซต่าง ๆ แสงแดด หรือแม้แต่อาหารการกินที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน ก็มีส่วนเพิ่มอนุมูลอิสระด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อโมเลกุลนี้เข้าสู่ร่างกาย ก็จะไปคุกคามระบบภูมิคุ้มกัน หรือทำร้ายเซลล์ในร่างกาย และเมื่อเซลล์ในร่างกายถูกทำร้ายจากอนุมูลอิสระ ก็จะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด หรือโรคมะเร็ง

ดังนั้นแล้ว เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับสารเคมีที่จะไปต้านทานกับสารอนุมูลอิสระเพื่อไม่ให้สุขภาพย่ำแย่ สารเคมีดังกล่าวรู้จักกันในชื่อ สารต้านอนุมูลอิสระ หรือ สารแอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidants) ที่จะเข้าไปปกป้องเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายให้รอดพ้นจากการถูกทำร้ายโดยอนุมูลอิสระ เพื่อที่จะได้มีสุขภาพที่แข็งแรง

ประโยชน์ของสารต้านอนุมูลอิสระ

หน้าที่สำคัญของสารต้านอนุมูลอิสระ นั่นก็คือ การช่วยปกป้องเซลล์ของร่างกายไม่ให้ถูกทำลายโดย อนุมูลอิสระ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคที่มีสาเหตุมาจากการถูกอนุมูลอิสระทำร้ายเซลล์ นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยชะลอความแก่ ลดริ้วรอย ความเหี่ยวย่นของผิวหนัง ช่วยให้ดูอ่อนกว่าวัยได้อีกด้วย

สารต้านอนุมูลอิสระ หาได้จากที่ไหน

สารแอนตี้ออกซิแดนท์ หรือ สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants)  มีลักษณะที่หลากหลาย ได้แก่

วิตามินอี (Vitamin E)

สารแอนตี้ออกซิแดนท์ ที่เป็นวิตามินอี จะถูกพบในไขมัน เนื่องจากสามารถละลายในไขมันได้ มีหน้าที่ในการต่อสู้กับอนุมูลอิสระ และมีส่วนช่วยในการลดระดับของคอเลสเตอรอลที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด โดยสารต้านอนุมูลอิสระประเภทนี้สามารถพบได้ในธัญพืช ผักใบเขียว ถั่วต่าง ๆ น้ำมันที่ได้จากพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดทานตะวัน หรือน้ำมันคาโนลา

วิตามินซี (Vitamin C)

วิตามินซี หรือกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid) เป็นสารที่สามารถละลายในน้ำได้ มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคปอด ปัญหาในระบบย่อยอาหาร รวมถึงมะเร็งที่ช่องท้อง หรือกระเพาะอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระประเภทนี้ สามารถพบได้ในผักใบเขียวและผลไม้ต่าง ๆ 

เบตาแคโรทีน (Beta-Carotene)

เบตาแคโรทีน เป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) มีประโยชน์ในการช่วยบำรุงสายตา และชะลอความแก่ สามารถพบได้ในผักและผลไม้ที่มีสีส้ม สีเหลือง สีแดง รวมถึงผักใบเขียวและผลไม้ชนิดอื่น ๆ ด้วย

ไลโคปีน (Lycopene)

ไลโคปีน เป็นสารอีกหนึ่งชนิดที่จัดอยู่ในกลุ่มของแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) มีหน้าที่หลักในการช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม ซึ่งสารดังกล่าวพบได้มากในมะเขือเทศ

ซีลีเนียม (Selenium)

ธาตุซีลีเนียม เป็นแร่ธาตุที่มีประโยชน์กับการทำงานของต่อมไทรอยด์ และมีส่วนในการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่  และมะเร็งต่อมลูกหมาก อย่างไรก็ตาม หากร่างกายได้รับปริมาณของซีลีเนียมมากจนเกินไป ก็อาจจะส่งผลให้ต่อสุขภาพ เช่น ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ ผมร่วง เล็บหลุด หรือแม้แต่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับหรือตับแข็ง สารแอนตี้ออกซิแดนท์ ประเภทนี้สามารถพบได้ในธัญพืช หัวหอม กระเทียม ถั่วต่าง ๆ โดยเฉพาะถั่วเหลือง อาหารทะเล เนื้อสัตว์ต่าง ๆ และตับ

ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)

สารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มของฟลาโวนอยด์นั้นมีมากกว่า 4,000 ชนิด ซึ่งการที่ร่างกายได้รับ สารแอนตี้ออกซิแดนท์ ประเภทฟลาโวนอยด์ จะช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไขข้อ ต้อกระจก โรคหลอดเลือดสมอง การสูญเสียความจำ และยังช่วยลดการอักเสบและการติดเชื้อของร่างกายได้อีกด้วย สารต้านอนุมูลอิสระประเภทนี้สามารถพบได้จากหลายที่มา สามารถพบได้ในผักและผลไม้ทุกชนิด รวมทั้งช็อกโกแลตและไวน์แดงด้วย 

โอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 (Omega-3 and Omega-6 Fatty Acids)

สารอาหารประเภทโอเมก้า เป็นสารที่จำเป็นต่อร่างกาย และร่างกายจำเป็นที่จะต้องได้รับสารเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ โอเมก้า 3 สามารถป้องกันโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขข้ออักเสบ ต้อกระจก และโรคมะเร็ง ขณะที่โอเมก้า 6 มีส่วนในการบรรเทาอาการของโรคสะเก็ดเงิน และโรคกระดูกพรุน อย่างไรก็ตาม แม้โอเมก้าจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ร่างกายไม่สามารถที่จะผลิตสารเหล่านี้ได้เอง จำเป็นต้องรับสารเหล่านี้จากการรับประทานอาหารประเภทปลา เช่น แซลมอน ปลาทูน่า หรือปลาซาร์ดีน และจากถั่วชนิดต่าง ๆ น้ำมันที่ได้จากพืช และเนื้อสัตว์ปีก เช่น เนื้อไก่

มีแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระประเภทแบบอื่นอีกหรือไม่

สารแอนตี้ออกซิแดนท์ สามารถพบได้ในอาหารแทบจะทุกชนิดที่เรารับประทานกันในแต่ละวัน และยังสามารถพบได้ในอาหารเสริมต่าง ๆ เช่น วิตามินบำรุง หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ร่างกายจะได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น แต่ความเสี่ยงและข้อควรระวังของระดับสารต้านอนุมูลอิสระที่ไม่ได้มาจากอาหารนั้น หากรับประทานเข้าไปในร่างกายมากจนเกินความจำเป็น อาจเป็นโทษต่อร่างกายมากกว่าที่จะได้รับประโยชน์ เนื่องจากการได้รับสารแอนตี้ออกซิแดนท์ จากผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ค่อนข้างที่จะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับจากอาหารเสริมอื่น ๆ 

การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และให้คุณค่าทางสารอาหารประเภทสารต้านอนุมูลอิสระ ก็จะช่วยให้ร่างกายสมบูรณ์และแข็งแรง ทั้งยังห่างไกลจากโรคร้าย และสามารถฟื้นตัวจากการอักเสบหรือการเจ็บป่วยได้เร็วขึ้นอีกด้วย

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Antioxidants: What You Need to Know. https://familydoctor.org/antioxidants-what-you-need-to-know/. Accessed February 13, 2020 

Antioxidants. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/antioxidants/. Accessed February 13, 2020 

All About Antioxidants. https://www.webmd.com/food-recipes/ss/slideshow-all-about-antioxidants. Accessed February 13, 2020 

Antioxidants. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/nutrition-and-healthy-eating/multimedia/antioxidants/sls-20076428?s=1. Accessed February 13, 2020 

How can antioxidants benefit our health?. https://www.medicalnewstoday.com/articles/301506#:~:text=Antioxidants%20are%20substances%20that%20can,can%20be%20natural%20or%20artificial. Accessed July 21, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/08/2021

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผงถ่านกัมมันต์ ล้างสารพิษและชะลอวัยได้จริงหรือ?

สารกันบูด ภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่ในอาหาร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 10/08/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา