ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) เป็นภาวะที่ร่างกายมีการหยุดหายใจในขณะที่กำลังหลับ โดยเราจะหายใจและหยุดหายใจสลับกันเป็นระยะๆ และวนซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นตลอดทั้งคืน ซึ่งเป็นภาวะที่ร้ายแรง ส่งผลต่างๆ กับร่างกายและสมองของเรา หากคุณมีอาการกรนดัง และตื่นมาพร้อมกับความรู้สึกเหนื่อย เพลีย แม้จะนอนเต็มอิ่มทั้งคืน อาจจะเสี่ยงมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ วันนี้ Hello คุณหมอจะพาไปทำความรู้จักกับภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ ว่ามีสาเหตุมาจากไหน และควรรับมืออย่างไร
อาการของภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นภาวะที่สมองและส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ออกซิเจนน้อยลง ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้อย่างเต็มที่ อาจมีอาการง่วงในตอนกลางวัน รู้สึกไม่สดชื่นในตอนเช้าสัญญาณที่พบบ่อยๆ ในภาวะนี้ก็คือ
- กรนเสียงดัง
- มีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ
- หายใจเฮือกใหญ่ เป็นระยะ
- ตื่นขึ้นอย่างกะทันหันและหายใจไม่ทั่วท้อง
- รู้สึกเจ็บคอ หรือปากแห้งเมื่อตื่นนอน
- ปวดหัวในตอนเช้า
- รู้สึกเหนื่อยเป็นพิเศษในระหว่างวัน
- อารมณ์ฉุนเฉียวหรือโกรธง่าย
- นอนไม่หลับ
ประเภทของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive sleep apnea) ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อบริเวณด้านหลังลำคอที่เคยตึงหย่อนตัวลง ทำให้ระบบทางเดินหายใจแคบลง หรืออาจจะปิดขณะหายใจเข้า จึงไม่สามารถรับอากาศได้อย่างเพียงพอ หายใจลำบากขึ้น ส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดไม่เพียงพอขณะนอนหลับ คนที่น้ำหนักเกินมักจะมีปัจจัยเสี่ยงในภาวะนี้ เพราะไขมันรอบทางเดินหายใจ อาจจะทำให้หายใจได้ลำบาก นอกจากนี้คนที่ต่อมทอนซิล (Tonsil)หรือ ต่อมอดีนอยด์ (Adenoid) โตก็มีส่วน นอกจากนี้การสูบบุหรี่ก็มีผลด้วย
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากความผิดปกติของการสั่งการของสมอง (Central sleep apnea) เกิดจากความผิดพลาดที่สมองไม่ส่งสัญญาณเพื่อสั่งการหายใจในขณะที่หลับ ซึ่งทำให้คุณหายใจได้น้อยลง
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดผสม (Complex sleep apnea syndrome) เป็นภาวะที่เกิดทั้งชนิดที่อุดตันและความผิดปกติของการสั่งการของสมอง
หยุดหายใจขณะหลับทำให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง
- รู้สึกเมื่อยล้าในเวลากลางวัน การที่เราต้องตื่นนอนซ้ำๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ร่างกายจึงไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดอาการง่วง เมื่อยล้าในเวลากลางวัน บางครั้งอาจทำให้รู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียวด้วย หากเป็นมากๆ เราอาจจะไม่มีสติในการทำอะไรเลย บางครั้งอาจจะหลับไปขณะทำงาน ดูโทรทัศน์ หรือขับรถ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุด้วย
- มีผลต่ออารมณ์ คุณอาจรู้สึกว่าอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย หงุดหงิด ซึมเศร้า หากภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับเกิดกับเด็กหรือวัยรุ่นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมที่ทำ และมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรม
- ระบบไหลเวียนเลือดและหลอดเลือดหัวใจ การหยุดหายใจขณะหลับมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาโรคอ้วน และความดันโลหิตสูง ซึ่งการลดลงอย่างรวดเร็วของระดับออกซิเจนในเลือดที่เกิดขึ้นขณะหยุดหายใจตอนนอนหลับช่วยเพิ่มความดันโลหิต ซึ่งจะเพิ่มความเครียดของระบบหัวใจ และอาจมีจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ เช่นภาวะหัวใจห้องบนผิดผิดปกติ เป็นเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง และภาวะหัวใจล้มเหลว
- การเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดตันอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวายเรื้อรัง หลอดเลือดในสมอง และหัวใจเต้นผิดปกติ หากคุณเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว การขาดออกซิเจนขณะหลับอีกอาจทำให้คุณมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้
- โรคเบาหวานประเภทที่ 2 การที่ร่างกายหยุดหายใจขณะหลับจะมีแนวโน้มที่จะต้านทานอินซูลินซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน เมื่อเซลล์ของคุณไม่ใช้อินซูลินเท่าที่ควรระดับน้ำตาลในเลือดของคุณเพิ่มขึ้น และพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- Metabolic syndrome ความผิดปกตินี้ยังรวมถึงความดันโลหิตสูง ระดับคอเรสเตอรอลที่ผิดปกติ น้ำตาลในเลือดสูง และรอบเอวที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
- ปัญหาเกี่ยวกับตับ คนที่หยุดหายใจขณะนอนหลับอาจมีปัญหาเกี่ยวกับตับ อาจจะมีความผิดปกติและเกิดเป็นแผลซึ่งเป็นภาวะไขมันพอกตับ ที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ และเอนไซม์ตับสูงกว่าระดับปกติ
- ระบบทางเดินหายใจ เมื่อร่างกายขาดออกซิเจนในขณะนอนหลับอาจทำให้อาการหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแย่ลง (COPD) ซึ่งอาจทำให้หายใจไม่ออกหรือมีปัญหาในการออกกำลังกายมากกว่าปกติ
- การหยุดหายใจขณะหลับช่วยลดความต้องการในการมีเซ็กส์ได้ ในผู้ชายอาจส่งผลต่อการหย่อนสมรรถภาพทางเพศและส่งผลต่อความสามารถในการมีลูกได้
รักษาได้อย่างไรบ้าง
เมื่อมีสัญญาณเตือนมากมายว่าคุณเสี่ยงเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับให้ปรึกษาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญ คุณจะได้คำแนะนำและวิธีการรักษา หรือบางครั้งอาจจะต้องตรวจสุขภาพการนอนซึ่งจะช่วยวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ การทดสอบนี้จะตรวจสอบสิ่งต่างๆ เช่นคลื่นสมอง การเคลื่อนไหวของดวงตา การหายใจและระดับออกซิเจนในเลือด นอกจากนี้ยังมีการวัดการนอนกรนและการอ้าปากค้างตลอดจนการหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วย หรืออาจจะได้รับคำแนะนำเรื่องการรักษาโดยอาจะเริ่มจากการลดน้ำหนัก หรือบำบัดด้วยท่าทาง ผู้ป่วยบางคนเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับเมื่อนอนหงาย อาจจะใช้การเปลี่ยนไปนอนในตำแหน่งอื่นๆ หรือใช้เครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินหายใจ (Positive Airway Pressure) ซึ่งมี 2 แบบคือ Continuous Positive Airway Pressure (CPAP) และ Bilevel Positive Airway Pressure (BiPAP หรือ BPAP)
- CPAP เป็นการรักษาขั้นแรกของการรักษา OSA โดยจะสวมหน้ากากในเวลากลางคืน โดย CPAP จะช่วยการเป่าความดันลมผ่านทางจมูกหรือปาก ผ่านบริเวณลำคอ และโคนลิ้น ซึ่งเป็นส่วนทางเดินหายใจส่วนต้น เพื่อให้เปิดขยายตัวตลอดเวลาโดยไม่ให้มีการอุดกั้นขณะที่นอนหลับ ซึ้งจะทำให้ผู้ที่ใช้เครื่องสามารถหายใจรับอากาศอย่างเพียงพอและนอนหลับราบรื่นตลอดทั้งคืน โดยลมที่เป่าด้วยความดันนี้เป็นเพียงอากาศปกติ ไม่ใช่การให้ออกซิเจนตามโรงพยาบาล
- BiPAP หรือ BPAP หากใช้หน้ากากแบบ CPAP ไม่ได้ผลก็จะเปลี่ยนมาใช้แบบ BPAP ซึ่งเป็นเครื่องให้ความดันบวกคงที่ โดย BPAP เครื่องจะอัดก๊าซหรือลมด้วยความดันสูงในช่วงที่ผู้ป่วยหายใจเข้า และผ่อนความดันลงในช่วงหายใจออก ทำให้มีการขยายตัวของปอดเหมือนกับการใช้เครื่องช่วยหายใจแบบดั้งเดิม แต่ผู้ป่วยจะได้รับขึ้นกับความแตกต่างของระดับความดันทั้งสองระดับ compliance ของปอดและความต้านทานของทางเดินหายใจ
- การใช้ยาแก้คัดจมูก (Nasal Decongestants) ที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดในเยื่อจมูก/เยื่อเมือกบุโพรงจมูกหดตัวจึงช่วยลดอาการบวมของเยื่อจมูกที่ช่วยบรรเทาอาการกรนของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้
- ศัลยกรรม Uvulopalatopharyngoplasty (UPPP) เกี่ยวข้องกับการกำจัดเนื้อเยื่อเสริมออกจากด้านหลังลำคอ UPPP เป็นชนิดที่พบมากที่สุดสำหรับการผ่าตัดสำหรับ OSA และช่วยบรรเทาอาการกรน อย่างไรก็ตามการผ่าตัดนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถขจัดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับโดยสิ้นเชิงและอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้
- ท่อหลอดลม (Tracheostomy) อาจทำเป็นขั้นตอนสุดท้ายได้ Tracheostomy punctures เป็นการเปิดในหลอดลมที่ข้ามสิ่งกีดขวางในลำคอเพื่อให้อากาศสามารถผ่านเข้าสู่หลอดลมและปอดโดยไม่ต้องผ่านช่องจมูกและลำคอส่วนบน
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]