backup og meta

ต่อมทอนซิลอักเสบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ต่อมทอนซิลอักเสบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ต่อมทอนซิลอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบริเวณต่อมทอนซิล หรือต่อมน้ำเหลืองในลำคอที่ทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรคก่อนเข้าสู่ร่างกาย ต่อมทอนซิลอักเสบพบได้ทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กอายุระหว่าง 5-15 ปี มักมีอาการเจ็บคอ มีไข้ กลืนน้ำลายลำบาก ทั้งนี้ เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอจะรักษาต่อมทอนซิลอักเสบโดยจ่ายยาฆ่าเชื้อให้ แต่ในรายที่รุนแรงหรือเป็นบ่อย หากการรับประทานยาฆ่าเชื้อไม่ได้ผลอาจจำเป็นต้องผ่าตัดต่อมทอนซิล

[embed-health-tool-bmi]

คำจำกัดความ

ต่อมทอนซิลอักเสบ คืออะไร

ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) เกิดจากการติดเชื้อบริเวณต่อมทอนซิล หรือต่อมน้ำเหลืองในลำคอ ซึ่งมีหน้าที่ดักจับเชื้อโรคต่าง ๆ ก่อนเข้าสู่ร่างกายทางจมูกหรือปาก ป้องกันเชื้อโรคดังกล่าวแพร่กระจายซึ่งทำให้เจ็บป่วยได้

ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นอาการป่วยที่พบได้ในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในเด็กอายุ 5-15 ปี อย่างไรก็ตาม อาจพบได้ไม่บ่อยนักในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี

ต่อมทอนซิลอักเสบ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน (Acute Tonsillitis) หมายถึง ต่อมทอนซิลอักเสบที่เกิดขึ้นทันทีจากการเผชิญสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อร่างกายอ่อนแอ ซึ่งมักแสดงอาการประมาณ 3-4 วัน แต่บางครั้งอาจมีอาการนานถึง 2 สัปดาห์
  2. ต่อมทอนซิลอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ (Recurrent Tonsillitis) หมายถึง ต่อมทอนซิลอักเสบที่เกิดขึ้นปีละหลายครั้ง หรือพอหายแล้วกลับเป็นซ้ำอีก เกิดขึ้นได้เมื่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือหากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นต่อมทอนซิลอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ สมาชิกคนอื่น ๆ มักเสี่ยงเป็นเช่นเดียวกัน
  3. ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง (Chronic Tonsillitis) หมายถึงการอักเสบของต่อมทอนซิลที่เป็นในระยะยาว รวมทั้งผู้ที่มีอาการต่อมทอนซิลโต หรือผู้ที่มีอาการเจ็บคอบ่อย ๆ รวมทั้งผู้ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ มักเสี่ยงเป็นต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง

อาการ

อาการของ ต่อมทอนซิลอักเสบ

เมื่อเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ อาการที่พบได้จะมีดังต่อไปนี้

  • เจ็บคอ คออักเสบ
  • กลืนน้ำลายหรือกลืนอาหารลำบาก
  • ปวดหัว ปวดหู
  • เป็นไข้ หนาวสั่น
  • ไม่อยากอาหาร
  • เสียงแหบ
  • คอแข็ง เคลื่อนไหวลำบาก
  • มีเมือกขาวหรือสีเหลืองบริเวณต่อมทอนซิล
  • ภายในคอบวม แดง

ทั้งนี้ เมื่อเด็กเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ อาจมีอาการป่วยที่ต่างจากผู้ใหญ่ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน น้ำลายไหลย้อย

สาเหตุ

สาเหตุของ ต่อมทอนซิลอักเสบ

ต่อมทอนซิลอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส โดยแบคทีเรียชนิดหลัก ๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการป่วยนี้ คือ สเตรปโตคอคคัส ไพโอจิเนส (Streptococcus Pyogenes)

ขณะเดียวกัน ไวรัสที่เป็นสาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบมีอยู่หลายชนิด ได้แก่

  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus)
  • ไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus)
  • ไวรัสอะดีโน (Adenovirus)
  • พาราอินฟูเอนซา ไวรัส (Parainfluenza Virus)

เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

ผู้ที่เป็นต่อมทอนซิลอักเสบควรไปพบคุณหมอ หากพบว่าตัวเองมีอาการต่อไปนี้

  • ไข้สูงเกิน 39.5 องศาเซลเซียส
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • คอแข็ง
  • อาการเจ็บคอไม่ดีขึ้นหลังผ่านไปแล้ว 2 วัน
  • มีอาการแทรกซ้อน เช่น คอบวม หายใจลำบาก หูติดเชื้อ มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยต่อมทอนซิลอักเสบ

คุณหมอมักวินิจฉัยทอนซิลอักเสบได้จากการตรวจดูอาการ โดยเฉพาะในบริเวณช่องปาก หลังช่องคอ และลำคอ รวมถึงตรวจวัดไข้ เพื่อดูว่ามีสัญญาณของการติดเชื้อหรือไม่ เช่น อาการอักเสบ อาการบวมแดง มีไข้สูง

นอกจากนี้ ขั้นตอนการตรวจโรคอื่น ๆ อาจมีดังนี้

  • สวอบ (Swab) หรือการใช้ไม้ป้ายเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากในลำคอ เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อกลุ่มสเตรปโตคอคคัสในห้องปฏิบัติการ
  • ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดหรือตรวจ CBC (Complete Blood Count) ซึ่งเป็นการตรวจหาปริมาณและลักษณะของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด เพื่อระบุว่าต่อมทอนซิลอักเสบนั้นเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย

การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ

การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบขึ้นอยู่กับลักษณะอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ต่อมทอนซิลอักเสบที่อาการไม่รุนแรง หรือเกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักหายเองได้โดยการดูแลตนเองในเบื้องต้น เช่น จิบน้ำอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ อมยาอมแก้เจ็บคอ
  • ต่อมทอนซิลอักเสบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คุณหมอจะจ่ายยาต้านแบคทีเรียอย่างเพนิซิลลิน (Penicillin) ให้รับประทานเป็นเวลาประมาณ 10 วัน แต่หากผู้ป่วยแพ้เพนิซิลลิน คุณหมอจะจ่ายยาชนิดอื่นให้รับประทาน เช่น คลินดาไมซิน (Clindamycin) เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
  • ต่อมทอนซิลอักเสบบ่อยครั้งหรือประมาณ 7 ครั้งใน 1 ปี หรือเป็นต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านเชื้อ รวมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเลือดไหลจากต่อมทอนซิล ต่อมทอนซิลบวมหรือโตผิดปกติ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นจากการติดเชื้อในลำคอ คุณหมออาจรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิล ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงและใช้เวลาพักฟื้นราว 7-10 วัน

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน ต่อมทอนซิลอักเสบ

ต่อมทอนซิลอักเสบอาจป้องกันได้ ด้วยการรักษาสุขอนามัยตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า มือ จมูกโดยไม่จำเป็น
  • หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ ขวดน้ำ หรือช้อนส้อมร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ เป็นไข้ หรือเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ
  • เปลี่ยนแปรงสีฟันเป็นประจำ อย่างน้อยทุก ๆ 3 เดือน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tonsillitis. https://www.nhs.uk/conditions/tonsillitis/. Accessed September 27, 2022

Tonsillitis. https://www.webmd.com/oral-health/tonsillitis-symptoms-causes-and-treatments. Accessed September 27, 2022

Tonsillitis. https://kidshealth.org/en/parents/tonsillitis.html. Accessed September 27, 2022

Tonsillitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tonsillitis/symptoms-causes/syc-20378479. Accessed September 27, 2022

Tonsillitis. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/tonsillitis. Accessed September 27, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/10/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

นวัตกรรม การผ่าตัดต่อมทอนซิลโต อุดกั้นทางเดินหายใจในเด็ก

ฝีรอบต่อมทอนซิล (Peritonsillar Abcess)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 11/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา