หายใจไม่สะดวก เป็นปัญหาการหายใจที่มักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อและสารก่อภูมิแพ้ ส่งผลให้เยื่อจมูกเกิดการอักเสบ บวม และมีน้ำมูกมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจไม่สะดวก นอกจากนี้ อาการหายใจไม่สะดวกยังอาจเกิดจากความผิดปกติของกายภาพ และความรู้สึกที่ผู้ป่วยคิดว่าอากาศเข้าและออกทางจมูกได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น หากพบว่าอาการหายใจไม่สะดวกมีอาการแย่ลงหรือเกิดขึ้นเป็นเวลานานจึงควรเข้าพบคุณหมอ
[embed-health-tool-heart-rate]
หายใจไม่สะดวก เกิดจากอะไร
อาการหายใจไม่สะดวก อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่อาจพบได้บ่อย คือ เกิดจากการติดเชื้อหรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น เป็นหวัด ไซนัสอักเสบ โรคภูมิแพ้ ละอองเกสรดอกได้ มลพิษ ฝุ่น ซึ่งการติดเชื้อและสารก่อภูมิแพ้อาจทำให้เกิดการอักเสบภายในจมูก ส่งผลให้เยื่อบุจมูกบวมและมีน้ำมูกเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่สะดวกที่อาจเกิดขึ้นเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
ในบางกรณี ปัญหาการหายใจอาจเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง เช่น ไซนัสอักเสบเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก คันตา น้ำตาไหล แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หายใจมีเสียงหวีด หายใจตื้น
โดยอาการหายใจไม่สะดวกอาจแบ่งออกได้เป็น 3 สาเหตุ ดังนี้
- อากาศที่ผ่านเข้าและออกจากจมูกน้อยลง เกิดจากเยื่อบุจมูกบวม และปริมาณน้ำมูกที่มากขึ้น เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคจมูกอักเสบไม่ใช่ภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ โรคริดสีดวงจมูก
- อากาศที่ผ่านเข้าและออกจากจมูกน้อยลง เกิดจากความผิดปกติของกายวิภาพ เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด ผนังกั้นช่องจมูกทะลุ รูหลังโพรงจมูกตัน
- ความรู้สึกของผู้ป่วยที่คิดว่ามีอากาศที่ผ่านเข้าและออกจากจมูกน้อยลง เช่น โรคจมูกอักเสบเหี่ยวฝ่อ ผู้ป่วยหลังผ่าตัดจมูก
ควรเข้าพบคุณหมอเมื่อไหร่
หากอาการหายใจไม่สะดวกแย่ลงและมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วยควรเข้าพบคุณหมอ
- หายใจไม่สะดวกร่วมกับอาการบวมที่หน้าผาก ตา จมูกหรือแก้ม
- เจ็บคอรุนแรง มีจุดสีขาวหรือเหลืองที่ต่อมทอนซิล หรือส่วนอื่น ๆ ของลำคอ
- น้ำมูกมีกลิ่นเหม็น และมีสีขาวหรือสีเหลือง
- ไอนานกว่า 10 วัน หรือมีเสมหะสีเหลือง เขียว หรือเทา
- มีน้ำมูกหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
- อาการหายใจไม่สะดวกเกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์
- มีไข้
วิธีบรรเทาอาการหายใจไม่สะดวก
วิธีบรรเทาอาการเยื่อจมูกอักเสบ บวม และมีน้ำมูกมากจนทำให้หายใจไม่สะดวกอาจทำได้ ดังนี้
- ดื่มน้ำอุณหภูมิห้องให้มากขึ้น อย่างน้อย 2-3 ลิตร/วัน เพื่อช่วยขับเชื้อโรคออกจากร่างกาย และช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดเช็ดหน้าหลาย ๆ ครั้งต่อวัน
- สูดไอน้ำ 2-4 ครั้ง/วัน เพื่อช่วยให้เนื้อเยื่อภายในจมูกชุ่มชื้นมากขึ้น เช่น การนั่งในห้องน้ำแล้วเปิดฝักบัวไว้ ใช้เครื่องทำความชื้นหรือเครื่องไอระเหย แต่ไม่ควรสูดดมไอน้ำร้อน เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อภายในจมูกเกิดความระคายเคืองได้
- ล้างจมูก เพื่อช่วยขจัดเสมหะและน้ำมูกออกจากจมูก โดยการใช้หลอดฉีดยาดูดน้ำเกลือประมาณ 240 มิลลิลิตร จากนั้นฉีดเข้าจมูกแต่ละข้างประมาณ 3-4 ครั้ง/วัน
- ควรนอนยกศีรษะขึ้นโดยตั้งหมอนให้สูงเล็กน้อย จะช่วยให้หายใจสะดวกมากขึ้น
- ใช้ยาช่วยลดอาการคัดจมูก ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด และยาลดไข้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการไม่สบายที่เกิดขึ้น