กระดูกหัก คือ ภาวะความเสียหายของกระดูกที่สามารถพบได้บ่อย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากแรงกระแทกรุนแรง เช่น กระดูกหักจากอุบัติเหตุ รวมไปถึงความเครียดสะสมในกระดูกที่มาจากการออกกำลังกายหนักเกินไป ซึ่งพบได้ทั่วไปในนักกีฬา ภาวะกระดูกหักนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก และผู้สูงอายุที่กระดูกเริ่มเปราะบาง
คำจำกัดความ
กระดูกหัก คืออะไร
อาการกระดูกหัก (Bone Fracture) คือ ภาวะที่กระดูกมีความเสียหาย โดยภาวะกระดูกหักมี 4 ประเภทหลัก ได้แก่
- กระดูกหักแบบเคลื่อนจากกัน
- กระดูกหักแบบไม่เคลื่อนที่
- กระดูกหักแบบแผลปิด
- กระดูกหักแบบแผลเปิด
ภาวะกระดูกหักแบบเคลื่อนจากกัน คือ การที่กระดูกแยกเป็นสองชิ้นหรือมากกว่านั้น จากนั้นชิ้นส่วนเคลื่อนจนปลายที่หักไม่ตรงกัน ส่วนภาวะกระดูกหักแบบไม่เคลื่อนที่ คือ การที่กระดูกหักแบบทั้งแยกชิ้นและเป็นทางยาวแต่ไม่ได้เคลื่อนที่จากกันและยังอยู่ในตำแหน่งเดิม
ภาวะกระดูกหักแบบแผลปิดเกิดขึ้นเมื่อกระดูกหักแต่ไม่เกิดรอยหรือแผลเปิดที่ผิวหนัง ส่วนภาวะกระดูกหักแบบแผลเปิด คือ ภาวะที่กระดูกหักแล้วแทงออกมานอกผิว จากนั้นกระดูกอาจขยับกลับเข้าไปในแผลและอาจมองไม่เห็นที่นอกผิว โดยอาการนี้เป็นข้อแตกต่างระหว่างภาวะกระดูกหักแบบแผลปิดและแผลเปิดที่สำคัญ หากมีภาวะกระดูกหักแบบแผลเปิดอาจเสี่ยงติดเชื้อในกระดูกได้
อาการกระดูกมีหักหลายประเภท ที่พบได้ทั่วไป เช่น
- ปุ่มกระดูกแตก กล้ามเนื้อหรือเอ็นยึดของกระดูกแตกหัก
- กระดูกหักแตกย่อย กระดูกแตกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ หลายชิ้น
- กระดูกยุบตัว มักเกิดที่กระดูกฟองน้ำบริเวณกระดูกสันหลัง เช่น พื้นที่ส่วนหน้าของกระดูกบริเวณกระดูกสันหลังอาจยุบตัวเนื่องจากกระดูกพรุน
- กระดูกข้อต่อเคลื่อน ข้อต่อเกิดการเคลื่อนที่และมีส่วนหนึ่งของกระดูกที่แตกหัก
- กระดูกเดาะ ส่วนด้านหนึ่งของกระดูกแตกหักแต่ไม่ได้แตกทั้งหมดเพราะส่วนที่เหลือยังดัดได้ เกิดได้ทั่วไปในเด็กที่กระดูกยังอ่อนและยืดหยุ่นง่าย
- กระดูกแตกรอยยาวคล้ายเส้นผม เป็นการแตกหักรอยยาวของกระดูก การแตกหักประเภทนี้มักยากที่จะตรวจพบ
- กระดูกหักยุบเข้าหากัน เมื่อกระดูกแตกหัก ด้านหนึ่งของกระดูกเข้าหาอีกด้านหนึ่ง
- กระดูกหักตามยาว รอยแตกหักของกระดูกเป็นไปตามทางยาว
- กระดูกหักแนวเฉียง รอยแตกหักที่เฉียงไปตามยาวของกระดูก
- กระดูกหักตามขวาง รอยแตกขวางทางยาวของกระดูก
- กระดูกหักจากพยาธิสภาพ เมื่อโรคประจำตัวหรืออาการเฉพาะทำให้กระดูกอ่อนแอ ส่งผลให้กระดูกแตกหัก
- กระดูกหักเป็นเกลียว การแตกหักที่มีชิ้นส่วนกระดูกอย่างน้อยหนึ่งส่วนบิดเป็นเกลียว
- กระดูกหักล้า มักพบทั่วไปในนักกีฬา กระดูกหักเนื่องจากกระดูกล้าและเคล็ดสะสม
- กระดูกเสียหายจากแรงอัด กระดูกถูกแรงอัดแต่ไม่ได้แตกหักออกจากกัน พบได้ทั่วไปในเด็ก มีอาการปวดแต่กระดูกยังมั่นคง
กระดูกหัก พบได้บ่อยแค่ไหน
กระดูกหักพบได้ทั่วไปในคนทุกเพศทุกวัย สามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์
อาการ
อาการของกระดูกหัก
อาการทั่วไป ได้แก่
- บริเวณที่บาดเจ็บบวมหรืออ่อนนุ่ม
- อาการช้ำ
- แขนหรือขาพิการ
- ความเจ็บปวดในบริเวณที่บาดเจ็บแย่ลงเมื่อเคลื่อนไหวหรือมีความกดทับมาก
- ใช้งานบริเวณที่บาดเจ็บไม่สะดวก
- สำหรับภาวะกระดูกหักแบบแผลเปิด อาจมีกระดูกยื่นออกมานอกผิว
สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจจะมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
กระดูกหัก ถือเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วน หากเกิดอาการนี้ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
สาเหตุ
สาเหตุของ กระดูกหัก
- อาการบาดเจ็บ การหกล้ม อุบัติเหตุจากยานพาหนะ หรือการชนกระแทกในการเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล สามารถส่งผลให้กระดูกแตกหักได้
- กระดูกพรุน ทำให้กระดูกอ่อนแอ เปราะบาง และแตกหักง่าย
- ใช้งานมากเกินไป การเคลื่อนไหวซ้ำๆ หรือออกกำลังกายหนักมากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนเพลียและเกิดแรงกระทำต่อกระดูกมากขึ้น ส่งผลให้กระดูกมีความเครียด จนเกิดภาวะกระดูกหักล้า (Stress Fracture) ซึ่งพบได้ทั่วไปในนักกีฬา
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกหัก
ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ขึ้นอยู่กับช่วงวัย ภาวะกระดูกหักพบได้บ่อยในวัยเด็ก แต่จะซับซ้อนน้อยกว่าภาวะกระดูกหักในผู้ใหญ่ สำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะวัยชรา กระดูกจะเริ่มเปราะบางมากขึ้น และเสี่ยงกระดูกหักจากการหกล้มได้ง่ายกว่าในวัยเด็ก
การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยภาวะกระดูกหัก
วิธีการวินิจฉัยอาการกระดูกแตกหักที่นิยมใช้ ได้แก่ การเอ็กซเรย์ ที่ช่วยให้มองเห็นรูปร่างของกระดูกได้อย่างชัดเจน และช่วยให้รู้ได้ว่ากระดูกนั้นบุบสลายหรือแตกหักหรือไม่ อีกทั้งยังสามารถแสดงให้เห็นประเภทของการแตกหักและตำแหน่งของกระดูกที่แตกหักได้อีก
แต่บางครั้ง การเอ็กซเรย์ก็ไม่สามารถแสดงให้เห็นภาวะกระดูกหักได้ โดยเฉพาะ ภาวะข้อมือหัก ภาวะแตกหักล้า ภาวะสะโพกหัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ สำหรับภาวะเหล่านี้ แพทย์อาจทำการทดสอบระเภทอื่นแทน เช่น การใช้ computed tomography scan (CT scan) หรือซีทีสแกน การใช้ magnetic resonance imaging (MRI) หรือการทำเอ็มอาร์ไอ ในการสแกนกระดูก
ในบางกรณี แพทย์อาจให้เข้าเฝือกในบริเวณข้อมือที่แตกหักก่อน เพื่อให้บริเวณนั้นขยับไม่ได้ จากนั้นจึงค่อยทำการเอ็กซเรย์ซ้ำใน 10-14 วันต่อมา บางครั้ง แม้จะวินิจฉัยอาการแตกหักแล้ว ก็อาจยังต้องทำการทดสอบอื่นเพิ่มเติม เช่น การทำซีทีสแกน (CT scan) การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) การตรวจเอ็กซเรย์หลอดเลือด (angiogram)
สำหรับภาวะกะโหลกแตกหัก แพทย์อาจไม่ทำการเอ็กซเรย์แต่ทำซีทีสแกนแทน เนื่องจากสามารถวินิจฉัยอาการแตกหักและอาการบาดเจ็บอื่นๆ เช่น อาการเลือดออกในสมอง ที่อาจเกิดภายในกะโหลกได้
การรักษาภาวะกระดูกหัก
การรักษามีข้อสำคัญ คือ ส่วนที่แตกหักควรเคลื่อนกลับไปในตำแหน่งเดิมและควรป้องกันให้ไม่ขยับไปไหนจนกว่าจะได้รับการรักษา
กระดูกหักรักษาโดย “ประสาน” กระดูกส่วนที่แตกหักเข้ากับกระดูกใหม่ที่สร้างขึ้นบริเวณรอบๆ ส่วนแตกหัก
ภาวะกระดูกหักในบางกรณีอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยต้องประเมินจากความรุนแรงของกระดูกที่แตกหักว่าเป็นแบบแผลปิดหรือแผลเปิด รวมถึงกระดูกเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
การรักษาภาวะกระดูกหักที่นิยมใช้ มีดังนี้
- ใส่เฝือกตรึง ใช้พลาสเตอร์หรือไฟเบอร์กลาสตรึงกระดูกส่วนที่แตกหัก เช่น ขา เอาไว้ ถือเป็นการรักษาภาวะกระดูกแตกหักทั่วไป เนื่องจากภาวะกระดูกแตกหักส่วนใหญ่มักรักษาได้เมื่อขยับกระดูกให้เข้าที่และตรึงไว้ด้วยเฝือกเพื่อให้ส่วนที่แตกหักอยู่ในจุดที่เหมาะสมในการรักษา
- กายอุปกรณ์เสริม อุปกรณ์เสริมทำให้จำกัดหรือ “ควบคุม” การเคลื่อนไหวของข้อต่อ การรักษาวิธีนี้อาจใช้ได้ในบางกรณีเท่านั้น
- การดึง นิยมใช้เพื่อให้กระดูกตรงหรือให้กระดูกมั่นคง
- การตรึงกระดูกด้วยโลหะภายนอกร่างกาย โดยใช้หมุดโลหะหรือสลักเกลียวยึดที่ด้านบนหรือด้านล่างกระดูกส่วนที่หัก หมุดหรือสลักเกลียวที่ยึดตรึงไว้จะเชื่อมกับโลหะภายนอกผิวหนัง อุปกรณ์นี้จะเป็นกรอบที่มั่นคงยึดกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในระหว่างรักษา ในกรณีที่ผิวหนังหรือเนื้ออ่อนรอบๆ ส่วนแตกหักนั้นถูกทำลายมาก จะใช้โลหะภายนอกร่างกายนานจนกว่าจะทำการผ่าตัดศัลยกรรมได้
- การดึงให้เข้าที่โดยการผ่าตัดและการตรึงภายใน การรักษาวิธีนี้จะเริ่มจากการปรับกระดูกส่วนที่แตกหักให้กลับเข้ารูป ก่อนจะยึดตรึงกระดูกส่วนที่แตกเข้ากับกระดูกส่วนอื่นโดยใช้สลักเกลียว หรือใช้แผ่นโลหะแปะที่พื้นผิวกระดูกด้านนอกให้กระดูกประสานกัน ในบางกรณี อาจต้องสอดท่อเข้าไปที่ไขกระดูกซึ่งอยู่กลางกระดูกแต่ละชิ้น เพื่อยึดตรึงกระดูกเข้าด้วยกัน
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองที่จะช่วยจัดการกระดูกหัก
รูปแบบการใช้ชีวิตและการเยียวยาตัวเองต่อไปนี้ อาจช่วยรับมือกับภาวะกระดูกหักได้
- เมื่อถอดอุปกรณ์ยึดตรึงหรือเฝือกเพื่อรักษาภาวะกระดูกหักออกแล้ว ควรเคลื่อนไหวร่างกายในบริเวณที่กระดูกหักอย่างช้าๆ โดยอาจต้องใช้เวลาราว 4-6 สัปดาห์ กว่ากระดูกจะกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
- ปรึกษาแพทย์ก่อนทำกิจกรรมใดๆ เพื่อให้แพทย์แนะนำว่า กิจกรรมแบบไหน หรือความหนักระดับใดที่ปลอดภัยพอ ด้วยการประเมินจากอาการแตกหักและสุขภาพโดยรวมของคุณ โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสม และช่วยให้กระดูกฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วและแข็งแรงที่สุด ได้แก่ การออกกำลังกายในสระน้ำ เช่น เดินในน้ำ
- การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อุดมไปด้วยแคลเซียม และวิตามินดี จะช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น
หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณได้ดีขึ้น
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด