backup og meta

ทุกเรื่องเกี่ยวกับ โรคข้อเสื่อม ที่ทุกคนควรรู้ เพื่อรับมือกับโรคนี้

ทุกเรื่องเกี่ยวกับ โรคข้อเสื่อม ที่ทุกคนควรรู้ เพื่อรับมือกับโรคนี้

ในปัจจุบันนี้ โรคข้อเสื่อม ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่คุณสามารถลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคได้ โดยการออกกำลังกาย และรักษาน้ำหนักร่างกายที่เหมาะสม ซึ่งยังสามารถช่วยชะลอการลุกลาม และบรรเทาอาการปวด อีกทั้งยังทำให้การทำงานของข้อต่อดีขึ้นได้อีกด้วย ซึ่งวันนี้ Hello คุณหมอ จะพาคุณไปรู้จักโรคข้อเสื่อมนี้ให้ดียิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กันค่ะ

สาเหตุ ที่อาจทำให้เกิด โรคข้อเสื่อม

โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)  เกิดจากการเสื่อมของกระดูกข้อต่อ ที่เกิดขึ้นเมื่อกระดูกอ่อนซึ่งทำหน้าที่ปกป้องที่ปลายกระดูก มีการเสื่อมลงตามเวลา และเป็นประเภทของข้อเสื่อมที่พบได้มากที่สุด ซึ่งส่งผลต่อผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก ข้อเสื่อมจะค่อยๆ มีอาการมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และสามารถส่งผลได้ทั้งกับข้อต่อที่มือ เข่า สะโพก และกระดูกสันหลัง กระดูกอ่อนที่แข็งแรงช่วยให้กระดูกสามารถเคลื่อนตัวได้อย่างสะดวก และรองรับแรงกระแทกในระหว่างการเคลื่อนไหว เมื่อกระดูกอ่อนเสียหาย กระดูกจะเริ่มเสียดสีกัน การเสียดสีกันนี้ทำให้เกิดอาการปวด บวม และข้อต่อเคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก

บางครั้งโรคข้อเสื่อมก็อาจเกิดได้จากการเสื่อมตามเวลาของกระดูกอ่อนในข้อต่อ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น โรคอ้วน และการบาดเจ็บ กระดูกอ่อนเป็นเนื้อเยื่อแข็งและผิวเรียบลื่น ที่ทำให้การเคลื่อนที่ของข้อต่อมีแรงเสียนทานน้อยมาก เมื่อเกิดข้อเสื่อมนั้น พื้นผิวที่เรียบลื่นของกระดูกอ่อนจะขรุขระ ในท้ายที่สุดแล้ว หากกระดูกอ่อนเสื่อมลงทั้งหมด คุณอาจเหลือเพียงกระดูกที่เสียดสีกันเท่านั้น ภาวะนี้เป็นสาเหตุของอาการปวด และอาการบวมขึ้นนั่นเอง

ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิด โรคข้อเสื่อม

มีปัจจัยหลายประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของข้อเสื่อมได้มี ดังนี้

  • ช่วงอายุที่มากขึ้น
  • น้ำหนักที่มากเกินไป สามารถทำให้มีแรงกดเพิ่มขึ้นบนข้อต่อ ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นในการเกิดข้อเสื่อม
  • การบาดเจ็บที่ข้อต่อ จากการออกกำลังกายและกีฬา ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงของข้อเสื่อมได้
  • อาชีพที่ทำให้มีแรงกดทับที่ข้อต่อ จากการทำกิจกรรมซ้ำ ๆ ตัวอย่างเช่น งานที่ต้องคุกเข่า นั่งยองๆ ยกของ ปีนบันได หรือเดิน เป็นเวลามากกว่าหนึ่งชั่วโมงต่อวัน ทั้งหมดนี้จะเพิ่มความเสี่ยงได้
  • ประวัติครอบครัวที่เป็นโรคข้อเสื่อม
  • กระดูกผิดรูป (Bone deformities) เมื่อกระดูกอ่อนผิดรูปหรือพิการ จะเพิ่มความเสี่ยงของข้อเสื่อมได้
  • โรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรครูมาติก โรคเกาต์ และข้ออักเสบรูมาตอยด์

อาการของ โรคข้อเสื่อม มีอะไรบ้าง

อาการต่างๆ ของข้อเสื่อมจะค่อยๆ มากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป สัญญาณเตือนและอาการบางประการของข้อเสื่อมอาจได้แก่

  • อาการปวดข้อต่อ ที่อาจมาจากการบาดเจ็บในระหว่าง หรือหลังจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ
  • อาการกดเจ็บข้อต่อ ซึ่งอาจรู้สึกกดเจ็บเมื่อคุณออกแรงกดเบาๆ
  • ปวดแน่นข้อต่อ อาจมีอาการปวดแน่นข้อต่อได้มากที่สุดเมื่อตื่นนอนในตอนเช้าหรือหลังจากช่วงเวลาพักผ่อน
  • สูญเสียความยืดหยุ่นของร่างกาย  ที่คุณอาจไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อต่อในการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ได้
  • รู้สึกมีการเสียดสี  คุณอาจได้ยินหรือรู้สึกถึงการเสียดสี เมื่อคุณใช้ข้อต่อ เป็นการเสียดสีกันของกระดูก
  • กระดูกแตก  เมื่อกระดูกอ่อนเสื่อมทั้งหมด กระดูกจะเริ่มเสียดสีกัน ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด กระดูกจะแตกละเอียด และทำให้เกิดเศษกระดูก เศษกระดูกเหล่านี้ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนเป็นก้อนแข็งๆ อาจเกิดขึ้นโดยรอบข้อต่อที่ได้รับผลกระทบ

หากคุณมีอาการปวดหรือข้อต่อติดขัด ที่มีอาการเป็นเวลามากกว่าสองสามสัปดาห์ แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ การจัดการแต่เนิ่นๆ สามารถช่วยชะลอการลุกลาม และป้องกันไม่ให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้นได้

อาการแทรกซ้อนจาก โรคข้อเสื่อม

ข้อเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพประเภทหนึ่ง ที่มีอาการมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อาการปวดและข้อติดอาจรุนแรงพอที่จะทำให้การทำกิจวัตรประจำวันเป็นเรื่องยาก ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถทำงานได้อีก เมื่ออาการปวดข้อต่อมีความรุนแรง แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อ

การวินิจฉัยโรคข้อเสื่อมทำได้อย่างไรบ้าง

ในระหว่างการตรวจร่างกาย แพทย์ที่ทำการรักษาจะตรวจข้อต่อที่มีอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการตรวจอาการกดเจ็บ อาการบวม หรือรอยแดง และตรวจขอบเขตการเคลื่อนที่ในข้อต่อ แพทย์ยังอาจแนะนำการตรวจโดยใช้ภาพถ่าย และการตรวจในห้องปฏิบัติการ

การตรวจโดยใช้ภาพถ่าย

สามารถถ่ายภาพของข้อต่อที่มีอาการได้ในระหว่างการตรวจ โดยใช้เครื่องมืออย่างเช่น

  • เอ็กซเรย์ (X-ray)
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI)

การตรวจในห้องปฏิบัติการ

การตรวจวิเคราะห์เลือดและน้ำไขข้อสามารถช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้

  • การตรวจเลือด
  • การตรวจวิเคราะห์น้ำไขข้อต่อ

โรคข้อเสื่อม สามารถรักษาได้อย่างไร

ข้อเสื่อมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาสามารถช่วยลดอาการปวดและรักษาการเคลื่อนไหวของข้อต่อได้

การใช้ยา

อาการต่างๆ ของข้อเสื่อมอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาบางชนิด ซึ่งได้แก่

  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs)) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) และยานาพรอกเซน (Naproxen) ยาเหล่านี้อาจแข็งที่กระเพาะอาหาร แนะนำให้รับประทานพร้อมอาหาร
  • ยากลุ่ม COX-II inhibitors เช่น ยาเซเลโคซิบ (Celecoxib) และยาเอโทไรโคซิบ (Etoricoxib)

การบำบัด

การออกกำลังกาย และการมีน้ำหนักร่างกายที่เหมาะสม เป็นวิธีที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุดในการรักษาข้อเสื่อม แพทย์ที่ทำการรักษายังอาจแนะนำ

  • กายภาพบำบัด
  • กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy)
  • การใช้เฝือก หรือเสริมแผ่นรองในรองเท้า
  • การเข้าคลาสสำหรับจัดการอาการปวดเรื้อรัง

การผ่าตัดหรือหัตถการอื่นๆ

หากการรักษาแบบประคับประคองไม่ได้ผล คุณอาจพิจารณาหัตถการต่างๆ เช่น

  • การฉีดยาคอร์ติโซน (Cortisone shots)
  • การฉีดสารหล่อลื่นข้อต่อ (Lubrication injections)
  • การปรับแนวกระดูกใหม่ (Realigning bones)
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อ (Joint replacement)

วิธีรับมือกับ อาการโรคข้อเสื่อม ด้วยตัวคุณเอง

ข้อเสื่อมสามารถจัดการได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ และการเยียวยาตนเองบางอย่าง ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับที่อาจช่วยได้

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ  การออกกำลังกายสามารถเพิ่มความทนทานและทำให้กล้ามเนื้อโดยรอบข้อต่อแข็งแรง ซึ่งทำให้ข้อต่อมีความคงที่มากขึ้น ให้ลองเดิน ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ
  • รักษาน้ำหนักให้เหมาะสม  ภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight) หรือโรคอ้วน เพิ่มแรงกดทับที่ข้อต่อที่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น เข่าและสะโพก
  • ใช้ความร้อนและความเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวด ทั้งความร้อนและความเย็นสามารถบรรเทาอาการปวดที่ข้อต่อได้ ความร้อนยังช่วยบรรเทาอาการฝืดแข็งของข้อต่อ และความเย็นสามารถบรรเทาอาการกระตุกและปวดกล้ามเนื้อได้
  • ทาครีมแก้ปวดที่วางจำหน่ายโดยทั่วไป  ครีมและเจลต่างๆ ที่วางจำหน่ายที่ร้านขายยาอาจบรรเทาอาการปวดจากข้อเสื่อมได้ชั่วคราว
  • ใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ไม้เท้า สามารถให้ทำกิจกรรมระหว่างวันได้ง่ายขึ้น โดยไม่มีแรงกดทับที่ข้อต่อที่มีอาการปวด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Osteoarthritis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/osteoarthritis/basics/lifestyle-home-remedies/con-20014749. Accessed September 6, 2016.

Osteoarthritis. http://www.niams.nih.gov/Health_Info/Osteoarthritis/default.asp. Accessed September 6, 2016.

Osteoarthritis. http://www.cdc.gov/arthritis/basics/osteoarthritis.htm. Accessed September 6, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/09/2020

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

8 อาหารต้านข้ออักเสบ ที่อาจช่วยคุณป้องกันโรคนี้ได้

อาหารสำหรับโรคข้ออักเสบ คุณควรกินอะไรที่จะช่วยบรรเทาอาการ?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 30/09/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา