เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ โรคภัยก็เริ่มคืบคลานเข้ามา หันซ้าย หันขวาทีก็ลั่นกร๊อบแกร๊บ โดยเฉพาะวัยทำงานที่นั่งทำงานในห้องแอร์เย็นเฉียบ นั่งทำงานอยู่กับที่ไม่ค่อยได้ขยับร่างกายยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรค ข้อไหล่ติด โรคนี้มีอาการและส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย Hello คุณหมอ นำสาระเรื่องนี้มาฝากกัน
ภาวะ ข้อไหล่ติด คืออะไร
ภาวะข้อไหล่ติด เป็นภาวะที่ข้อไหล่เคลื่อนที่ได้น้อย เมื่อยกแขนขึ้นจะเกิดอาการปวด ไม่ว่าจะยกมือถูหลังก็มีอาการปวด นี่อาจเป็นสัญญาที่บ่งบอกว่าอาจมี ภาวะข้อไหล่ติด โดยปกติแล้วเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ ไหล่ที่เรียกว่า เยื่อหุ้มข้อไหล่จะมีการยืดหยุ่น ทำให้ไหล่เคลื่อนไหวได้ง่ายและคล่องตัว แต่เมื่อเนื้อเยื่อหุ้มไหล่เกิดการยึดติด ไม่ยืดหดตามการเคลื่อนไหวของไหล่ ยกไหล่ขึ้นได้ไม่เต็มที่และมีอาการปวดเมื่อยกแขน โดยมากภาวะข้อไหล่ติดมักเกิดกับคนที่มีอายุช่วง 40-60 ปีและเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวาน ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจมีโอกาสเกิดภาวะโรคข้อไหล่ติดมากกว่าคนทั่วไป
สาเหตุของข้อไหล่ติด
ข้อไหล่ติดไม่ได้มีสาเหตุอย่างแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่ในปัจจุบันมีทฤษฎีเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ปกติระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะมีหน้าที่ในการป้องกันอันตรายให้กับอวัยวะอื่นๆ จากสิ่งแปลกปลอม เชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย แต่หากระบบภูมิคุ้มกันไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง นอกจากจะไม่ป้องกันแล้วยังโจมตีและทำลายเนื้อเยื่ออีกด้วย หากเนื้อเยื่อถูกทำลายก็จะเกิดการอักเสบ หากการอักเสบมีความรุนแรงขึ้นก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อหุ้มบริเวณไหล่เกิดการหดรัด แข็งตัวจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนปกติ
นอกจากนี้ภาวะไหล่ติดก็ยังเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่นๆ ได้อีก เช่น กล้ามเนื้อฉีกขาด กล้ามเนื้ออักเสบ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ กระดูกบริเวณไหล่หัก กระดูกบริเวรไหล่เคลื่อน การเสื่อมของไหล่ โรคข้ออักเสบ
อาการและระยะต่างๆ ของโรค
อาการของโรคข้อไหล่ติดแบ่งออกได้ 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ระยะปวด
- ในระยะแรกนี้ผู้ป่วยยังเคลื่อนไหวไหล่ได้แต่จะมีอาการปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหวไหล่ และมักจะมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นในเวลากลางคืน และข้อไหล่จะติดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้เวลา 2-9 เดือน
ระยะที่ 2 ระยะติด
- หากยังไม่มีการรักษาตั้งแต่ระยะแรก เมื่อมาถึงระยะนี้อาการปวดที่ไหล่ก็จะค่อยๆ เบาลง แต่การเคลื่อนไหวไหล่ก็ลดลงตามไปด้วย ในระยะนี้ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวไหล่ได้ตามปกติ บางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อการใชีชีวิตประจำ ไม่ว่าจะเป็นการหวีผม ถูหลัง หากพยายามฝืนดัดข้อไหล่แรงๆ อาจเกิดการอักเสบและมีอาการปวดขึ้นมาบ้าง
ระยะที่ 3 ระยะคลายตัว
- ในระยะนี้อาการปวดของผู้ป่วยจะค่อยๆ ลดลงส่วนการเคลื่อนไหวของไหล่ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ จนสามารถเคลื่อนไหวไหล่ได้อย่างคล่องตัวและดีขึ้นเรื่อยๆ
การรักษาโรค ข้อไหล่ติด
โดยปกติแล้วโรคข้อไหล่ติดจะหายได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่จะเป็นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นมากกว่า อย่างในระยะแรกที่จะมีอาการปวดเป็นอย่างมากก็รักษาด้วยการใช้ยาต้านการปวดและการอักเสบ เพื่อลดอาการปวดและอักเสบบริเวณไหล่อาจจะทำควบคู่กับการออกกำลังกาย เมื่อเข้าสู่ระยะข้อไหล่ติด ปัญหาที่เจอในระยะนี้คือเคลื่อนไหวได้น้อยลง การรักษาในระยะนี้ก็จะเน้นการยืดดัดกล้ามเนื้อเพื่อให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
แต่หากออกกำลังกายด้วยการยืดดัดกล้ามเนื้อแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นอาจจะต้องปรึกษานักกายภาพบำบัด เพื่อทำการกายภาพบำบัดให้อาการดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องยืดดัดกล้ามเนื้อด้วยตัวเองทุกวันเพื่อเป็นการช่วยให้หายเร็วขึ้น ในระยะสุดท้ายคือระยะคลายตัว ในระยะนี้อาการเริ่มดีขึ้น ก็ควรออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณไหล่เพื่อให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้น หากอาการยังไม่ดีขึ้นแพทย์อาจจะแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด เช่น การดมยาสลบเพื่อดึงข้อไหล่ หรือผ่าตัดพังผืด เนื้อเยื่อที่ติดอยู่บริเวณไหล่