backup og meta

อาหารคีโต เป็นอย่างไร และเหมาะกับใครบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/04/2023

    อาหารคีโต เป็นอย่างไร และเหมาะกับใครบ้าง

    อาหารคีโต เป็นการควบคุมสัดส่วนการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตโดยเฉพาะแป้ง น้ำตาล และเพิ่มการรับประทานไขมันกับโปรตีนให้มากขึ้น ซึ่งอาจมีประโยชน์กับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก หรือผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางประการ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคลมบ้าหมู โรคอัลไซเมอร์ อย่างไรก็ตาม อาหารคีโตอาจไม่เหมาะกับบางคนจึงควรศึกษาข้อควรระวังก่อนเริ่มรับประทาน

    อาหารคีโต คืออะไร

    อาหารคีโต คือ การรับประทานอาหารที่ลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตอย่างแป้งและน้ำตาลลง และเพิ่มการรับประทานโปรตีนกับไขมันมากขึ้น จนทำให้เกิดภาวะคีโตซิส (Ketosis) ที่ร่างกายจะรู้สึกถึงการอดอาหารและเริ่มกระบวนการเผาผลาญโปรตีนและไขมันที่สะสมในร่างกายเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน

    การวางแผนรับประทานอาหารคีโตจึงอาจสามารถแบ่งสัดส่วนได้เป็น อาหารที่มีไขมันประมาณ 60% โปรตีนประมาณ 30% และคาร์โบไฮเดรตประมาณ 10% โดยอาจเลือกอาหารคีโตได้ ดังนี้

  • โปรตีนจากสัตว์ เช่น เนื้อแดง เนื้อหมู ไก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล ไข่
  • นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นม เนย ชีส โยเกิร์ต
  • ผักและพืชต่าง ๆ ที่มีแป้งน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว อัลมอนด์ วอลนัท เมล็ดฟักทอง เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย ผักใบเขียว มะเขือเทศ หัวหอม พริก ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
  • ไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันอะโวคาโด น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา น้ำมันคาโนล่า
  • เครื่องดื่มที่ไม่ผสมน้ำตาล เช่น ชา กาแฟดำ โซดา
  • ผู้ที่ควรรับประทานอาหารคีโต

    อาหารคีโตเป็นอาหารที่เน้นการรับประทานโปรตีนกับไขมัน และลดปริมาณการรับประทานคาร์โบไฮเดรต จึงอาจช่วยในการลดน้ำหนัก ลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดการหลั่งอินซูลิน อาหารคีโตจึงอาจเหมาะกับบางคนโดยเฉพาะผู้ที่มีสภาวะทางสุขภาพ ดังนี้

    • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินและต้องการลดน้ำหนัก
    • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน
    • ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
    • เด็กที่มีอาการชักซึ่งเกิดจากโรคลมบ้าหมู

    ยังไม่มีหลักฐานที่บอกได้ชัดเจนว่าอาหารคีโตช่วยบรรเทาอาการชักจากโรคลมบ้าหมูได้อย่างไร แต่อาจเป็นเพราะการหลั่งสารคีโตน (Ketone) ที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายรู้สึกถึงการอดอาหาร จึงไปสลายไขมันที่สะสมในร่างกายออก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญที่อาจมีส่วนช่วยป้องกันอาการชักในผู้ป่วยโรคลมบ้าหมูได้

    นอกจากนี้ ประโยชน์ของอาหารคีโตที่กล่าวมาข้างต้นอาจส่งผลดีต่อร่างกายในการช่วยป้องกันการเกิดโรคบางชนิด เช่น อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง อาจช่วยป้องกันการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์

    ผู้ที่ไม่ควรรับประทาน อาหารคีโต

    ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางประการอาจต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารคีโต ดังนี้

  • ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากการรับประทานอาหารคีโตอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงไปอีก
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องรักษาด้วยอินซูลิน และผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เนื่องจากอาจเสี่ยงทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป และอาจเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดเป็นกรดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน (Diabetic Ketoacidosis หรือ DKA) ซึ่งเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกิดขึ้นร่วมกับเลือดเป็นกรดจากการคั่งของสารคีโตน
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต เนื่องจากปริมาณโปรตีนในร่างกายที่มากขึ้นจนทำให้เลือดเป็นกรด ซึ่งอาจทำให้ไตทำงานหนักขึ้นเพื่อขับกรดออกจากร่างกาย จนทำให้ไตอ่อนแอของผู้ป่วยเสื่อมสภาพเร็วยิ่งขึ้น และอาจทำให้ไตวายได้
  • ผู้ที่พยายามตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมการกินผิดปกติ เนื่องจากการรับประทานอาหารคีโตอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
  • ข้อควรระวังในการบริโภคอาหารคีโต

    การรับประทานอาหารคีโตอาจก่อให้เกิดผลเสียในระยะสั้น ที่อาจเกิดจากการสูญเสียน้ำในร่างกายเนื่องจากการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ดังนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • ท้องผูก ท้องอืด และอาหารไม่ย่อย
  • วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว หงุดหงิดง่าย
  • มีกลิ่นปาก
  • นอนไม่ค่อยหลับ
  • น้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตน้อยลง
  • โรคนิ่วในไต เพราะการรับประทานคาร์โบไฮเดรตต่ำจนอาจทำให้กรดในร่างกายสูงขึ้น
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา